ฟรานเซส ฮอเกน อดีตผู้จัดการฝ่ายผลิตภัณฑ์ของเฟซบุ๊ก ได้ออกมาเปิดโปงพฤติกรรมของโซเชียลมีเดียยักษ์ใหญ่อย่างเฟซบุ๊กต่อสมาชิกวุฒิสภาสหรัฐวานนี้ โดยกล่าวว่า สภาคองเกรสต้องเข้าแทรกแซงการทำธุรกิจของเฟซบุ๊กเพื่อจัดการกับวิกฤตนี้
ฮอเกนเปิดเผยว่า เธอคือผู้ปล่อยเอกสารข้อมูลภายในของเฟซบุ๊กให้กับเดอะ วอลล์ สตรีท เจอร์นัล โดยฮอแกนให้สัมภาษณ์กับรายการ “60 นาที” ทางช่องซีบีเอสเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาจนเป็นข่าวใหญ่ โดยระบุว่า ปัญหาที่เธอพบจากการทำงานให้เฟซบุ๊กนั้นเลวร้ายกว่าบริษัทอื่นที่เธอร่วมงานด้วย ซึ่งรวมถึง กูเกิล, เยลป์ (Yelp) และพินเทอเรส (Pinterest) โดยเธอได้คัดลอกเอกสารงานวิจัยภายในหลายหมื่นหน้าของบริษัท ก่อนที่จะลาออกจากเฟซบุ๊กในเดือนพฤษภาคม
ฮอเกน เปิดเผยกับฝ่ายนิติบัญญัติของสหรัฐว่า เฟซบุ๊กมุ่งสร้างกำไรมากกว่าที่จะสนใจความปลอดภัยของผู้ใช้งาน เนื่องจากอัลกอริทึมของเฟซบุ๊กมักจะแสดงโพสต์ที่มียอดการกดไลก์กดแชร์สูง ซึ่งในบางกรณีก็เป็นโพสต์ที่อาจเป็นอันตรายกับผู้ใช้งานได้
“เฟซบุ๊กมุ่งเน้นแต่ประโยชน์ของตนเอง ผลลัพธ์ที่ได้คือระบบที่สร้างการแบ่งแยก ความคลั่งไคล้ และการแบ่งขั้วที่ทวีความรุนแรง รวมถึงการบ่อนทำลายสังคมทั่วโลก”
เธอกล่าวว่า อัลกอริธึมของเฟซบุ๊กสามารถนำผู้ใช้งานรุ่นเยาว์ไปพบกับคอนเทนต์ได้หลากหลายรูปแบบ ตั้งแต่สูตรอาหารเพื่อสุขภาพที่ไม่เป็นอันตราย ไปจนถึงคอนเทนต์ที่ส่งเสริมโรคคลั่งผอม (Anorexia) โดยเธอเสนอวิธีแก้ปัญหาให้เฟซบุ๊กเปลี่ยนอัลกอริทึม เพื่อหยุดมุ่งเน้นไปที่การส่งโพสต์ที่ยอดมีการกดไลก์สูง ๆ ไปยังฟีดของผู้ใช้งาน และเปลี่ยนเป็นการสร้างฟีดเพื่อแสดงโพสต์ของผู้ใช้งานตามลำดับเวลา ซึ่งเธอมองว่าจะช่วยให้เฟซบุ๊กนำเสนอเนื้อหาที่ปลอดภัยยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ แม้ฮอเกนจะกล่าวว่า เฟซบุ๊กไม่ได้จงใจสร้างผลิตภัณฑ์ที่เป็นอันตราย แต่ในที่สุดแล้วนายมาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก ซีอีโอของเฟซบุ๊กจะต้องรับผิดชอบต่อผลกระทบที่ตามมา
อนึ่ง ฮอเกนกล่าวว่า จุดเปลี่ยนที่ทำให้เธอเชื่อว่าจำเป็นต้องนำข้อมูลออกมาเปิดโปง คือตอนที่บริษัทยุบทีมความซื่อสัตย์ของพลเมือง (Civic Integrity) ซึ่งเธอเป็นสมาชิกอยู่ด้วยหลังการเลือกตั้งในสหรัฐปี 2563 โดยเฟซบุ๊กกล่าวว่า บริษัทจะรวมความรับผิดชอบเหล่านั้นเข้ากับส่วนอื่น ๆ ของธุรกิจ แต่ฮอเกนกล่าวว่า ภายใน 6 เดือนของการปรับโครงสร้างองค์กรนั้น 75% ของทีมงานทั้ง 7 คนก็ไม่ได้รับความสนใจจากบริษัท
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (06 ต.ค. 64)
Tags: Facebook, ฟรานเซส ฮอเกน, มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก, อัลกอริธึม, เฟซบุ๊ก, โซเชียลมีเดีย