นายพิศักดิ์ จิตวิริยะวศิน รองปลัดกระทรวงคมนาคมและโฆษกกระทรวงคมนาคม เปิดเผยสถานการณ์และการดำเนินงานเกี่ยวกับอุทกภัยในภาคคมนาคมว่า มีโครงข่ายคมนาคมที่ได้รับผลกระทบ 15 จังหวัด ส่งผลกระทบต่อถนนทั้งกรมทางหลวง (ทล.) และกรมทางหลวงชนบท (ทช.) รวม 115 แห่ง โดยมีเส้นทางที่สัญจรไม่ได้ทั้งหมด 54 แห่ง แบ่งเป็นถนน 50 แห่ง และระบบราง 4 แห่ง
ในส่วนกรมทางหลวง (ทล.) พบว่า มีสถานการณ์น้ำท่วม ดินสไลด์ และสะพานชำรุดทั้งหมด 13 จังหวัด 35 สายทาง 54 แห่ง โดยยังไม่สามารถสัญจรได้ 11 แห่ง เช่น ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.ขอนแก่น ทล.2065 ให้เปลี่ยนไปใช้ ทล.2233 เป็นทางเลี่ยงแทน ส่วนของภาคกลาง เช่น ในจ.กำแพงเพชร, จ.สุพรรณบุรี, จ.อ่างทอง, จ.อยุธยา และจ.นนทบุรี เป็นจังหวัดที่ยังประสบปัญหา เนื่องจากบริเวณจุดกลับรถใต้สะพานมีน้ำท่วมขัง อย่างไรก็ดีทางหลวงเส้นหลักยังสามารถสัญจรได้ตามปกติ
“จะเห็นได้ว่ามวลน้ำเริ่มเข้ามาในส่วนของภาคกลาง ในเขตปริมณฑลแล้ว ดังนั้นขอให้ประชาชนมีความระมัดระวังการสัญจรบนท้องถนนในสถานการณ์อุทกภัยเป็นพิเศษ”
นายพิศักดิ์ กล่าว
กรมทางหลวงชนบท (ทช.) พบว่า ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมทั้งหมด 54 สายทาง 55 แห่ง สัญจรผ่านไม่ได้ 28 สายทาง 28 แห่ง เนื่องจากมีน้ำท่วมสูงเกิน 40 เซนติเมตร ส่งผลให้รถไม่สามารถสัญจรได้ โดยมีโครงสร้างชำรุดถูกกัดเซาะ 3 แห่ง คอสะพานขาด สะพานทรุด 4 แห่ง ซึ่งกรมทางหลวงชนบทอยู่ระหว่างการเร่งดำเนินการให้ความช่วยเหลือให้แล้วเสร็จโดยเร็วที่สุด
ด้านบริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) ไม่สามารถเดินรถได้ 2 สายทาง เนื่องจากมีปริมาณน้ำท่วมสูง จึงได้ปรับแผนการเดินรถดังนี้ 1. อ.ไพศาลี จ.นครสวรรค์ ประสบปัญหาน้ำท่วม ส่งผลให้ต้องมีการปรับเปลี่ยนเส้นทางคือ เส้นทางสาย 41 กรุงเทพฯ- ทุ่งช้าง, สาย 957 กรุงเทพฯ-แม่สาย และสาย 962 กรุงเทพฯ-เชียงของ 2. บริเวณ ถ.มิตรภาพ อ.เนินสูง ประสบปัญหาน้ำท่วม ส่งผลกระทบต่อการเดินรถเส้นทางสาย 94 กรุงเทพฯ-อุบลราชธานี แต่เนื่องจากในช่วงน้ำท่วมจะไม่มีการหยุดรับส่งในเส้นทางนี้อยู่แล้วจึงไม่ส่งผลกระทบมากนัก
อย่างไรก็ดีบขส. ได้สั่งการให้สถานีต่างๆ ติดตามสถานการณ์น้ำท่วมอย่างใกล้ชิด ในกรณีที่พบเส้นทางที่ไม่สามารถสัญจรได้จะมีการประสานงานเพื่อหาเส้นทางอื่นต่อไป ทั้งนี้เส้นทางการเดินรถในช่วงน้ำท่วมอาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา
ขณะที่การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ได้รับผลกระทบไม่สามารถสัญจรผ่านได้ 4 แห่ง แบ่งเป็น 2 สายทาง ได้แก่ 1. จ.ชัยภูมิ ระหว่างสถานีบำเหน็จณรงค์-จตุรัส และ จ.นครราชสีมา ระหว่างสถานีบ้านเหลื่อม-หนองพลวง และ 2. จ.สระบุรี สถานีบ้านหนองโดก อย่างไรก็ดีการรถไฟฯ ได้วางแผนเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน โดยการปรับแผนการเดินรถ ลดระยะทางวิ่งจำนวน 9 ขบวนในเส้นทางสายเหนือแล้ว
อย่างไรก็ดี กระทรวงคมนาคมอยู่ระหว่างการติดตั้งอุปกรณ์ป้องกันน้ำท่วม และให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ประสบอุทกภัยในทุกพื้นที่ รวมทั้งจัดหาเส้นทางลัดเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชน ทั้งนี้หลังจากน้ำลดจะเร่งดำเนินการสำรวจเส้นทาง และทำการซ่อมแซมชั่วคราว เพื่อให้ประชาชนสามารถกลับมาสัญจรตามเส้นทางปกติได้เร็วที่สุด
นอกจากนี้ ทางกรมเจ้าท่า ได้มีการจัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยจำนวนรวม 55 ศูนย์ รวมถึงจัดสรรเจ้าหน้าที่ออกช่วยเหลือประชาชนจำนวน 300 นาย จัดเตรียมเรือรวม 64 ลำ และรถช่วยลำเลียงอีก 73 คัน นอกจากนี้ยังจัดสรรถุงยังชีพ อาหาร และเครื่องดื่มให้ประชาชนในพื้นที่ประสบภัย ในขณะเดียวกันกรมเจ้าท่าอยู่ระหว่างขุดลอกร่องน้ำ เพื่อลดสิ่งกีดขวางเพิ่มพื้นที่ให้ลำน้ำ
ทั้งนี้กรมเจ้าท่าได้มีการประกาศให้เรือที่สัญจรในแม่น้ำเจ้าพระยา ในช่วงน้ำท่วมลดความเร็วลง เพื่อไม่ให้เกิดคลื่นที่สร้างความเสียหายแก่บ้านเรือน และทรัพย์สินของประชาชน โดยประกาศมีผลบังคับใช้ในจ.อ่างทอง, จ.พระนครศรีอยุธยา, จ.ปทุมธานี, จ.สมุทรปราการ, จ.นนทบุรี และจ.กรุงเทพฯ ทั้งนี้หากฝ่าฝืนระวางโทษปรับตั้งแต่ 500-5,000 บาท และยึดใบประกาศนียบัตรของผู้คุมเรือจำนวนไม่เกิน 6 เดือน
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (04 ต.ค. 64)
Tags: กรมทางหลวง, กระทรวงคมนาคม, การรถไฟแห่งประเทศไทย, ทช., น้ำท่วม, บขส., พิศักดิ์ จิตวิริยะวศิน, รถไฟ, อุทกภัย