นายทองชัย ชวลิตพิเชฐ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า ในรอบ 6 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2564 สศอ. มีผลการดำเนินงานที่สำคัญตามกรอบนโยบายในแต่ละด้านทั้งในระดับมหภาคและรายสาขา โดยด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมศักยภาพ (S-Curve) ยานยนต์สมัยใหม่ สศอ. ได้ออกประกาศกำหนดกระบวนการผลิตที่เป็นสาระสำคัญของในเขตปลอดอากรหรือเขตประกอบเสรี ฉบับที่ 2 เพื่อบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งเสริมให้เกิดการลงทุนที่ใช้เทคโนโลยีเข้มข้นในการผลิตสินค้าเพื่อการส่งออกหรือขายในประเทศ และฉบับที่ 4 เพื่อส่งเสริมให้เกิดการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศ ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ ตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และแผนพัฒนาอุตสาหกรรมอนาคตของกระทรวงอุตสาหกรรม
ในส่วนของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ ได้จัดทำแผนปฏิบัติการพัฒนาอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2564 – 2570) เพื่อสร้างและพัฒนา Eco System ให้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตอุปกรณ์และระบบอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะในอาเซียน ซึ่งคาดว่าจะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ภายในปีนี้
รวมถึงอุตสาหกรรมการเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ สศอ. ได้เสนอแนวทางการขับเคลื่อนการเพิ่มมูลค่าและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มทั้งระบบใน 5 มาตรการ 6 ผลิตภัณฑ์ ซึ่งจะเป็นการพัฒนาอุตสาหกรรมโอเลโอเคมีคัลของประเทศตลอดห่วงโซ่อุปทาน โดยจะยกระดับอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มให้มีมูลค่าเพิ่มและเป็นอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สอดรับกับการพัฒนาภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy) รวมไปถึงการเพิ่มศักยภาพอุตสาหกรรมการแปรรูปสับปะรดให้มีคุณภาพได้มาตรฐาน สนับสนุนการวิจัยนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาเพิ่มมูลค่าสับปะรดทั้งระบบ เพื่อเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกรและผู้ประกอบการตลอดห่วงโซ่อุปทาน
สำหรับอุตสาหกรรมอนาคต (News S-Curve) สศอ. ได้ดำเนินการขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ คืบหน้าตามลำดับ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินมาตรการต่าง ๆ ตาม Roadmap ที่จะให้ประเทศไทยมีเทคโนโลยีเป็นของตนเอง เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน เป็นผู้นำในการผลิตและการใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติในภูมิภาคอาเซียน
ในส่วนของอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ สศอ. ได้จัดทำมาตรการกระตุ้นการใช้พลาสติกที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพ โดยการออกใบรับรองผลิตภัณฑ์พลาสติกที่ย่อยสลายได้ให้กับผู้ผลิตผลิตภัณฑ์พลาสติกที่จำหน่ายในระหว่างปี 2562 – 2564 จำนวน 11 ผลิตภัณฑ์ และออกใบรับรองให้กับผู้ประกอบการไปแล้วจำนวน 42 ใบรับรอง
พร้อมทั้งเร่งดำเนินการยกระดับศักยภาพอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร โดยพัฒนาผู้ประกอบการในการผลิตเครื่องมืออุปกรณ์ทางการแพทย์และต้นแบบวัสดุเชิงเทคนิค ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการพัฒนาวัสดุ อุปกรณ์ และเครื่องมือแพทย์ต้นแบบ 12 ผลิตภัณฑ์ นอกจากนี้ยังอยู่ระหว่างการจัดทำแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2564 – 2570) เพื่อยกระดับคุณภาพและมาตรฐานสู่ระดับสากล สร้างความมั่นคงให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตที่สำคัญต่อไป
สำหรับอุตสาหกรรมเครื่องจักรกลและเครื่องจักรกลการเกษตร สศอ. อยู่ระหว่างจัดทำแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมเครื่องจักรกลไทย ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2565 – 2570) เพื่อยกระดับผู้ประกอบการให้มีศักยภาพในการผลิตที่สูงขึ้น เพิ่มความสะดวกให้แก่เกษตรกรผู้ใช้งาน รวมถึงลดการนำเข้าจากต่างประเทศ โดยทั้ง 2 แผนปฏิบัติการอยู่ระหว่างนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายในปี 2564
นายทองชัย กล่าวต่อว่า เพื่อให้การพัฒนาอุตสาหกรรมเกิดการเชื่อมโยงขับเคลื่อนอย่างเป็นระบบ สศอ. ในฐานะหน่วยงานเจ้าภาพจัดทำแผนงานบูรณาการพัฒนาอุตสาหกรรมและบริการแห่งอนาคตร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาอย่างต่อเนื่อง โดยมีเป้าหมายเพื่อให้อัตราการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น 3.8% และผลิตภาพการผลิตของภาคอุตสาหกรรมเติบโตเพิ่มขึ้น 1% โดยในปีงบประมาณ 2565 ได้จัดส่งคำของบประมาณให้สำนักงบประมาณพิจารณาในกรอบวงเงิน 873.0646 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะเข้าสู่วาระการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2565 ในปลายเดือนพฤษภาคม 2564 นี้
นอกจากนี้ จากการที่รัฐบาลได้ประกาศให้เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy: BCG Model) เป็นวาระแห่งชาติ โดยมีเป้าหมายให้การพัฒนาประเทศเติบโตอย่างยั่งยืน สศอ. ได้รับมอบหมายให้จัดทำแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมไทยตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ในอุตสาหกรรมเหล็ก และอุตสาหกรรมยางรถยนต์ และเข้าร่วมในการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจตามแผน BCG Model ทั้งในระดับประเทศและกระทรวงอุตสาหกรรม รวมทั้งได้จัดทำแผนขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนนำร่องในสาขาผลิตภัณฑ์เป้าหมายที่มีศักยภาพในพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน เพื่อสร้างให้เกิดการผลิตรูปแบบใหม่ที่คำนึงถึงการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและครบวงจร ตั้งแต่การผลิต การบริโภค การจัดการของเสียจนถึงการนำวัสดุกลับมาใช้ใหม่ ส่งเสริมรูปแบบธุรกิจสู่โมเดลธุรกิจหมุนเวียนและการสร้าง Circular Startup ต่อไป
สำหรับภารกิจในด้านการให้บริการข้อมูล การชี้นำและเตือนภัยเศรษฐกิจอุตสาหกรรม สศอ. ได้จัดทำดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (Purchasing Managers Index: PMI) ที่เป็นดัชนีที่มีการใช้กันอย่างแพร่หลายกว่า 40 ประเทศทั่วโลก เพื่อติดตามและวิเคราะห์ความเคลื่อนไหวของภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรม และบอกทิศทางของเศรษฐกิจได้เป็นอย่างดี รวมถึงสามารถเผยแพร่ดัชนี PMI ได้รวดเร็วและทันเหตุการณ์ ซึ่งข้อมูลเหล่านี้หน่วยงานทั้งภาครัฐ เอกชนและผู้ประกอบการสามารถนำไปใช้วางแผนดำเนินธุรกิจ และคาดการณ์ตัวแปรชี้นำที่สะท้อนวัฏจักรทางเศรษฐกิจได้
ส่วนด้านการพัฒนาและยกระดับการให้บริการตามนโยบายรัฐบาลดิจิทัล สศอ. ได้ร่วมกับหน่วยงานในสังกัดกระทรวงอุตสาหกรรม จัดทำระบบการปรับปรุงแบบแจ้งข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการแจ้งข้อมูลการประกอบกิจการโรงงานให้เป็นแบบฟอร์มเดียว หรือ Single Form ซึ่งล่าสุดได้ดำเนินการจัดอบรมถ่ายทอดความรู้การแจ้งข้อมูล Single Form ให้แก่เจ้าหน้าที่กระทรวงอุตสาหกรรม เจ้าหน้าที่อุตสาหกรรมจังหวัด และผู้ประกอบการในจังหวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศแล้ว 22 ครั้ง ทั้งในรูปแบบการลงพื้นที่ (Face-to-Face) และการอบรมออนไลน์ (Teleconference)
ส่วนด้านการต่างประเทศ สศอ. ได้มีการลงนามความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ด้านการค้าสินค้าเพื่อเพิ่มโอกาสของสินค้าไทยเข้าสู่ตลาด เช่น สินค้าประมง แป้งมันสำปะหลัง สับปะรด น้ำมะพร้าว กระดาษ ส่วนประกอบอุปกรณ์ไฟฟ้า พลาสติกและเคมีภัณฑ์ชิ้นส่วนยานยนต์ และรถจักรยาน ซึ่งใช้เกณฑ์การผลิตจากถิ่นกำเนิดสินค้าเดียวกันจะทำให้สร้างเครือข่ายการลงทุนในภูมิภาคเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจขนาดใหญ่ของโลกได้
นายทองชัย กล่าวอีกว่า สศอ. ได้รับมอบหมายให้เป็นหน่วยงานหลักเตรียมจัดกิจกรรมและการประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (Asia-Pacific Economic Cooperation: APEC) ปี 2565 ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดประชุม โดยเตรียมเสนอประเด็นการพัฒนาตาม BCG Economy Model และสุขภาวะ (Well-being) และเพื่อรองรับการฟื้นตัวจากสถานการณ์โควิด-19 ยังมีแผนนำเสนอการประชุมหารือกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์และด้านอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ภายใต้คณะทำงานด้านการค้าและการลงทุน ซึ่งได้จัดทำคำของบประมาณปี 2565 เพื่อการนี้ด้วยแล้ว
“สศอ. ได้ให้ความสำคัญกับการสร้างความเข้มแข็งและพัฒนาเศรษฐกิจอุตสาหกรรมของประเทศไทย ตามแนวทางของรัฐบาล 4.0 โดยในช่วงครึ่งปีหลังจะเร่งรัด กำกับ ติดตามการดำเนินงานตามที่ได้กล่าวข้างต้นให้เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนด”
ผู้อำนวยการ สศอ.ระบุ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (26 พ.ค. 64)
Tags: ทองชัย ชวลิตพิเชฐ, สศอ., สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม, อุตสาหกรรม