รฟท.เปิดเวทีรับฟังความห็นภาคเอกชนเดินหน้ารถไฟสายสีแดงส่วนต่อขยาย

นายสุชีพ สุขสว่าง รองผู้ว่าการ กลุ่มธุรกิจการเดินรถ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เป็นประธานในพิธีเปิดการสัมมนาปฐมนิเทศ โครงการศึกษา ทบทวน และวิเคราะห์ความเหมาะสมของโครงการ จัดทำเอกสารประกวดราคาและการดำเนินงาน ตามพ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 ของโครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ผ่านระบบออนไลน์ เพื่อนำเสนอความเป็นมาและวัตถุประสงค์ ตลอดจนขอบเขตการศึกษาของโครงการ และรับฟังความคิดเห็นของภาคธุรกิจ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และนำไปประกอบการศึกษาและจัดทำโครงการ เพื่อความเหมาะสม ครบถ้วน มีประสิทธิภาพ และสร้างประโยชน์แก่ประเทศชาติ และประชาชนได้อย่างแท้จริง โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งจากภาครัฐ และภาคเอกชน เข้าร่วมการสัมมนา

โครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) และสายสีแดงส่วนต่อขยาย ได้ดำเนินการตามแผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล (M-MAP) มีบทบาทในการขนส่งผู้โดยสารที่พักอาศัยในพื้นที่ชานเมืองเข้าสู่กรุงเทพฯ เชื่อมโยงการเดินทางกับโครงข่ายรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน รถไฟทางไกล และรถไฟความเร็วสูงในอนาคต

ดังนั้น เพื่อผลักดันให้การพัฒนารถไฟชานเมือง (สายสีแดง) เป็นไปอย่างต่อเนื่องตามแผนงานการต่อขยายเส้นทางต่าง ๆ รทฟ.จึงได้ว่าจ้างที่ปรึกษาเพื่อดำเนินโครงการโครงการศึกษา ทบทวน และวิเคราะห์ความเหมาะสมของโครงการ จัดทำเอกสารประกวดราคา และการดำเนินงาน ตาม พ.ร.บ.การร่วมลงทุน ระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 ของโครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) เพื่อเดินหน้าการพัฒนาโครงข่ายระบบรางช่วยให้การเดินทางของประชาชนเป็นไปอย่างสะดวก รวดเร็ว และเกิดประสิทธิภาพสูงสุด

สำหรับการสัมมนาครั้งนี้ ที่ปรึกษาฯ ได้นำเสนอขอบเขตการดำเนินงานโครงการ ประกอบด้วยการบริหารการเดินรถและซ่อมบำรุง รวมถึงการบริหารสถานีในโครงข่ายรถไฟชานเมืองสายสีแดงตลอดแนวเส้นทาง และแผนงานการขยายเส้นทาง โดยเปิดโอกาสให้เอกชนเข้าร่วมลงทุนกับรัฐ (PPP) โดยในการศึกษานี้ จะครอบคลุมโครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดง โดยแบ่งเป็น 3 ส่วน ได้แก่

ส่วนที่ 1 ส่วนที่ก่อสร้างแล้วเสร็จ ช่วงบางซื่อ-รังสิต-ตลิ่งชัน

ส่วนที่ 2 คือส่วนต่อขยาย ช่วงรังสิต-มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา ช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช และช่วงบางซื่อ-พญาไท-มักกะสัน-หัวหมาก-หัวลำโพง

และส่วนที่ 3 การให้บริการโครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) เต็มรูปแบบ เพื่อเดินหน้าพัฒนาโครงการอย่างต่อเนื่อง จัดช่วงการเดินรถให้เต็มประสิทธิภาพ สร้างความคุ้มค่าให้โครงการ

โครงการจะดำเนินการศึกษาเพื่อจัดทำแผนการเดินรถเบื้องต้นให้สามารถตอบสนองความต้องการในการเดินทางได้เพียงพอ และสอดคล้องกับระบบการเดินรถเดิมที่มีอยู่ โดยพิจารณาการจัดช่วงการเดินรถ (Time Slot) เพื่อไม่ให้เกิดการซ้ำซ้อน โดยแบ่งรูปแบบการเดินรถเป็น 3 ระยะ คือ

ระยะที่ 1 ช่วงบางซื่อ-รังสิต และช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน รูปแบบการเดินรถร่วมกับการเดินรถของ รฟท. ในส่วนของรถไฟทางไกล

ระยะที่ 2 ในระยะการเปิดส่วนต่อขยายช่วงต่าง ๆ ทั้งช่วงรังสิต-มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา ช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช และช่วงบางซื่อ-พญาไท-มักกะสัน-หัวหมาก-หัวลำโพง และการปรับรูปแบบการเดินรถในพื้นที่กรุงเทพฯ ของ รฟท. ให้สอดคล้องและเชื่อมโยงกันได้อย่างสะดวก

ระยะที่ 3 เมื่อโครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ส่วนต่อขยาย ดำเนินการแล้วเสร็จ การเดินรถจะเป็นการให้บริการเต็มรูปแบบ โดยมีสถานีศูนย์กลางร่วมกับ รฟท. ที่สถานีกลางบางซื่อ ซึ่งโครงการจะมารับช่วงต่อการให้บริการรถไฟชานเมืองจาก รฟท. เป็นรูปแบบรถไฟฟ้าทั้งหมด เปิดโอกาสให้เอกชนร่วมลงทุน พร้อมผลตอบแทนอย่างเหมาะสม โครงการฯ ได้วิเคราะห์และศึกษารูปแบบการร่วมลงทุนและเอกชนที่เหมาะสม เพื่อเปิดโอกาสให้เอกชนเข้าร่วมดำเนินงานร่วมให้ความคิดเห็น โดยมีรูปแบบต่าง ๆ โดยคำนึงถึงสัดส่วนการลงทุนรูปแบบต่าง ๆ ให้เหมาะสม

ทั้งนี้ แผนการดำเนินงานศึกษาการร่วมลงทุนฯ โครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) จะใช้เวลาดำเนินการศึกษาทั้งหมด 12 เดือน (ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2564 – พฤษภาคม 2565) จากนั้นจะเริ่มกระบวนการสรรหาเอกชนร่วมลงทุนโดยจะใช้เวลาประมาณ 14 เดือน (ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2565 – กรกฎาคม 2566) ซึ่งโครงการดังกล่าว จัดเป็นการลงทุนเพื่อวางรากฐานความมั่นคงด้านโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมของไทยในระยะยาว และส่งเสริมให้การพัฒนาเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (30 ก.ย. 64)

Tags: , , ,