นายชาย เอี่ยมศิริ ประธานเจ้าหน้าที่สายการเงินและการบัญชี บมจ.การบินไทย (THAI) เปิดเผยว่า การบินไทยเตรียมเปิดขายตั๋วโดยสารสำหรับเส้นทางระหว่างประเทศในวันที่ 1 ต.ค.นี้ โดยจะเปิดทำการบินเที่ยวบินปกติบางจุดบินในประเทศแถบยุโรป เช่น อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมัน และญี่ปุ่นบางเมือง รวมถึงออสเตรเลีย ซึ่งเป็นตลาดหลัก หลังจากประชาชนในประเทศเหล่านี้ได้รับวัคซีนในสัดส่วนราว 70% ส่วนจีนคาดว่าจะเปิดทำการบินได้ในปี 65
“ยุโรป ญี่ปุ่น จีน เป็นตลาดหลักของเรา ออสเตรเลียเป็นตลาดรอง พวกนี้เป็นประเทศที่มีการติดเชื้อโควิดมากแต่ก็มีการฉีดวัคซีนกระจายสูงมาก ก.ค.-ส.ค.มีความพร้อมฉีดวัคซีน 75% แล้วเตรียมเปิดประเทศ เรามีความพร้อมในไตรมาส 4 หรือ ตุลาคม บินไปเข้ายุโรป ญี่ปุ่น ส่วนจีนคาดว่าเป็นปีหน้า trend ปีนี้ดีกว่าปีก่อน”
นายชาย กล่าว
นอกจากนี้ บริษัทยังมีรายได้เพิ่มขึ้นจากบริการขนส่งสินค้าทางอากาศ (คาร์โก้) ที่สามารถสร้างรายได้สูงกว่ารายได้จากผู้โดยสารในช่วงที่ยังทำการบินไม่ได้ และหน่วยธุรกิจครัวการบิน บริการภาคพื้น ที่สนับสนุนเข้ามา รวมถึงการขายสินทรัพย์ที่เห็นว่าบริษัทไม่ได้ใช้ในอนาคตอีก และขายเงินลงทุนใน บมจ.บริการเชื้อเพลิงการบินกรุงเทพ (BAFS) และ บมจ.สายการบินนกแอร์(NOK)
ขณะเดียวกัน บริษัทก็ดำเนินการลดต้นทุนต่อเนื่อง โดยวางเป้าลดต้นทุนจำนวน 5.3 หมื่นล้านบาทภายในปี 65 จากปัจจุบันทำได้ตามแผนแล้ว 4.42 หมื่นล้านบาท โดยได้ดำเนินการปรับลดค่าใช้จ่ายที่มีกว่า 600 โครงการ หลักๆ เป็นการลดค่าใช้จ่ายพนักงาน ซึ่งได้ลดจำนวนพนักงานจาก 29,500 คนในปี 62 มาเหลืออยู่ที่ 15,300 คนในปัจจุบัน หรือลดลง 48% ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนในระยะยาวด้วย เพราะสามารถลดค่าใช้จ่ายมากว่า 50%
รวมทั้งบริษัทได้ปรับลดจำนวนฝูงบินที่มี 100 ลำ ซึ่งบริษัทวิเคราะห์ว่าควรมีจำนวนเครื่องบินอยู่เท่าใดจึงจะเหมาะสม เพื่อควบคุมต้นทุนการดำเนินงาน โดยคงจำนวนเครื่องบินไว้ 58 ลำ ส่วนอีก 42 ลำอยู่ระหว่างการขาย คาดว่าภายในปีนี้น่าจะขายได้ทั้งหมด ทั้งนี้มีการปรับลดแบบเครื่องบินจาก 12 แบบเหลือ 5 แบบ , ปรับลดแบบเครื่องยนต์จาก 9 แบบเหลือ 4 แบบ และปรับลด pilot pool จาก 5 pool เหลือ 3 pool โดยเครื่องบินที่เป็นแบบเช่าจะคืนให้แก่ผู้ให้เช่า ส่วนเครื่องบินที่บริษัทเป็นเจ้าของก็รอขายออกไป รวมถึงการปรับการเช่าในช่วงปี 63-65 ที่จะจ่ายค่าเช่าตามชั่วโมงการบินหลัง traffic มีไม่มาก ฉะนั้นการปรับลดดังกล่าวจะทำให้ต้นทุนคงที่ ต้นทุนผันแปร สามารถลดลงได้อย่างมีนัยสำคัญ จะทำให้ผลประกอบการดีขึ้น
ส่วนเครื่องบินแอร์บัส เอ 380 ซึ่งบริษัทมีอยู่ 6 ลำเป็นเจ้าของ 2 ลำซึ่งรอขาย และคืนให้ผู้เช่า 4 ลำอยู่ระหว่างส่งมอบ ปัจจุบันแทบทุกสายการบินไม่ใช้เครื่องบินรุ่นนี้และรอขายเช่นก้น เนื่อ่งจากเครื่องบินแอร์บัส เอ 380 เป็นเครื่องบินลำตัวกว้าง และมีขนาดกว่า 500 ที่นั่ง แต่หลังจากเกิดการระบาดโควิด-19 พฤติกรรมผู้โดยสารจะเปลี่ยนไป การเดินทางคงไม่มากเหมือนในอดีต และก็เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่บริษัทต้องลดขนาดองค์กร (downside)
นายชาย ยังกล่าวว่า ตามแผนฟื้นฟูกิจการที่ศาลล้มละลายกลางได้มีคำสั่งเห็นชอบแผนเมื่อวันที่ 15 มิ.ย.64 บริษัทได้ดำเนินการลดทุนจดทะเบียนในส่วนที่ยังไม่ได้จำหน่ายออก มาเป็นทุนจดทะเบียน 21,827.7 ล้านบาท เมื่อ 18 ส.ค.64
และต้องการเงินทุนใหม่เข้ามา 5 หมื่นล้านบาทภายใน 2 ปี (ปี 64-65) มาจากสินเชื่อใหม่จากสถาบันการเงิน หรือบุคคลทั่วไป และจากภาครัฐให้การสนับสนุนซึ่งไม่ใช่เป็นการค้ำประกัน ระหว่างนี้ได้แต่งตั้งที่ปรึกษาทางการเงิน ทำงบการเงินใหม่หลังจากผลการดำเนินงานในปี 64 ดีขึ้น ทำให้แผนการใช้เงินของบริษัทเปลี่ยนไปในทิศทางทีดีขึ้น รวมถึงการทำประมาณการใหม่ของบริษัท หลังจากเกิดการระบาดโควิด-19
นอกจากนี้การบินไทยได้ปรับตัวเองให้ดำเนินธุรกิจแบบเอกชน ลดขั้นตอนการทำงานที่จะส่งผลให้ต้นทุนลดลงด้วย โดยบริษัทวาง vision ใหม่ จากเดิมเป็นพรีเมี่ยมแอร์ไลน์ ที่อยู่ระดับ 5-6 ดาว มาเป็น Private high quality full service carrier
อนึ่ง ผลประกอบการในครึ่งปีแรกของปี 64 บริษัทมีผลขาดทุนลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยขาดทุนจากการดำเนินงาน 1.4 หมื่นล้านบาท จาก 1.8 หมื่นล้านบาทในปีก่อน ซึ่งเป็นผลตัดลดต้นทุนต่างๆ แม้ว่ารายได้จะเข้ามาน้อยซึ่งมีอัตราส่วนบรรทุกผู้โดยสาร (Cabin Factor) 16.2% ในช่วงครึ่งแรกปี 64 ต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนที่อยู่ 68.7%
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (28 ก.ย. 64)
Tags: THAI, การบินไทย, ชาย เอี่ยมศิริ, สายการบิน, หุ้นสายการบิน, หุ้นไทย, เที่ยวบินระหว่างประเทศ