นายอภิชาติ ผู้บรรเจิดกุล ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานวิเคราะห์เชิงกลยุทธ์ บล.ทิสโก้ เปิดเผยว่า บริษัทมีมุมมองเชิงบวกต่อตลาดหุ้นไทยในเดือน มิ.ย. โดยคาดว่าดัชนีมีแนวโน้มจะเริ่มขยับขึ้นอีกครั้งหลังตลาดปรับฐานตามคาดในเดือนที่ผ่านมา ปัจจัยหนุนมาจากประเด็นเรื่องของวัคซีน ทั้งการเริ่มต้นทยอยฉีดวัคซีนให้แก่ประชาชนในวงกว้าง และความหวังของวัคซีนทางเลือกที่มีความชัดเจนมากขึ้น นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยบวกจากเม็ดเงินสนับสนุนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่รัฐบาลทยอยออกมา และการกู้เงินเพิ่มอีก 5 แสนล้านบาทเพื่อพยุงเศรษฐกิจในครึ่งปีหลังต่อเนื่องถึงปีหน้าด้วย
สำหรับปัจจัยหนุนด้านวัคซีนนั้น จากการศึกษาความเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นโลกในปีนี้กับความคืบหน้าการฉีดวัคซีน พบว่าอัตราการฉีดวัคซีนต่อจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นทุก ๆ 10% จะมีผลเชิงบวกต่อผลตอบแทนตลาดหุ้นโดยเฉลี่ยสูงขึ้นประมาณ 2.5% ซึ่งตามแผนของรัฐบาลจะเริ่มกระจายวัคซีน AstraZeneca จำนวน 26 ล้านโดสที่ผลิตภายในประเทศในช่วงเดือน มิ.ย.-ส.ค.64 หากสามารถดำเนินการให้มีความคืบหน้าตามแผนที่กำหนดไว้จะส่งผลดีต่อความเชื่อมั่นในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในครึ่งปีหลังต่อเนื่องถึงปีหน้า และมีความเป็นไปได้สูงที่ตลาดหุ้นไทยจะให้ผลตอบแทนที่ดีขึ้นกว่าในปัจจุบัน
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้สถานการณ์ระบาดโควิด-19 ในประเทศยังคงยืดเยื้อ โดยปัจจุบันยังมีผู้ติดเชื้อใหม่ทรงตัวอยู่ในระดับสูง 2,000-3,000 คนต่อวัน แต่เชื่อว่าสถานการณ์จะดีขึ้นอย่างช้า ๆ ในเดือนนี้ นำไปสู่การผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดในระยะถัดไป
ขณะที่ตัวเลขการส่งออกไทยที่ขยายตัวดี ช่วยให้เศรษฐกิจไทยเริ่มมีหวัง ล่าสุด เติบโตต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกัน โดยในเดือน เม.ย. การส่งออกเพิ่มขึ้น 13.1% เมื่อเทียบกับปีก่อน และดีขึ้นเมื่อเทียบกับเดือน มี.ค. รวมทั้งดีกว่าที่ตลาดคาดไว้ที่ประมาณ 10% โดยหากนับตั้งแต่ต้นปี การส่งออกขยายตัว 4.8% เมื่อเทียบกับปีก่อน โดยรวมทั้งปีคาดว่าการส่งออกไทยในปีนี้จะขยายตัว 10.8% เมื่อเทียบกับปีก่อน สู่ระดับ 2.51 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
นายอภิชาติ กล่าวอีกว่า ด้านปัจจัยบวกจากการออก พ.ร.ก.กู้เงินของรัฐบาลอีก 5 แสนล้านบาท ซึ่งจะเข้าสู่การพิจารณาในสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 6 มิ.ย.นี้นั้น หากไม่นับรวมงบประมาณด้านสาธารณสุข 3 หมื่นล้านบาท จะมีงบประมาณที่จะใช้เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจวงเงินรวม 4.7 แสนล้านบาท (คิดเป็นสัดส่วน 3% ของ GDP) ซึ่งนับว่าเป็นปัจจัยบวกต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและความเสี่ยงในแง่บวก (Upside Risk) ต่อประมาณการ GDP ซึ่งปัจจุบัน บล.ทิสโก้มองว่า GDP ไทยในปี 64 จะอยู่ที่ 2% อย่างไรก็ดี ยังต้องรอดูความชัดเจนในเรื่องของลักษณะมาตรการและกรอบระยะเวลาดำเนินการ รวมทั้งความสามารถในการเร่งเบิกจ่ายงบว่าจะสามารถทำได้ทันเป้าหมายภายในไตรมาส 4 ปีนี้หรือไม่
สำหรับประเด็นการลงทุนระยะสั้นในหุ้นที่คาดว่าจะเข้าและออกจากดัชนี SET 50 นั้น ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) จะประกาศรายชื่อหุ้นที่อยู่ใน SET50 และ SET100 ชุดใหม่สำหรับใช้ในการคำนวณดัชนีครึ่งปีหลัง (1 ก.ค.-31 ธ.ค.64) ในช่วงกลางเดือน มิ.ย.นี้ จากการประเมินครั้งสุดท้ายคาดว่าหุ้นที่จะเข้า SET50 มี 3 ตัว คือ STGT, IRPC และ STA ซึ่งจะมาแทน VGI, BAM และ TOA ที่คาดว่าจะตกชั้นไปอยู่ในดัชนี SET100 ส่วนหุ้นที่คาดว่าจะเข้าดัชนี SET100 มี 8 ตัว คือ STGT, STARK, M, BLA, RCL, TTA, DCC และ PSL ซึ่งคาดจะมาทดแทน GFPT, WHAUP, MAJOR, PRM, BEC, ORI, AMATA และ STEC ที่คาดว่าจะออกไปจากคำนวณดัชนี
“เรามองหุ้นที่ได้รับคัดเลือกเข้าดัชนี SET50 น่าสนใจต่อการลงทุนระยะสั้น เพราะราคาหุ้นมักจะเคลื่อนไหวในทิศทางที่ดีกว่าตลาด จากการศึกษาข้อมูลการซื้อขายในอดีตนับตั้งแต่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจโลกปี 2552 เป็นต้นมา พบว่า ในช่วงก่อนเริ่มมีผลบังคับใช้ 1 เดือน, 3 สัปดาห์, 2 สัปดาห์ และ 1 สัปดาห์ หุ้นที่ถูกคัดเลือกเข้าสู่การคำนวณดัชนี SET50 จะให้ผลตอบแทนเป็นบวกโดยเฉลี่ยประมาณ 7.6%, 4.4%, 2.5% และ 1.8% ตามลำดับ ซึ่งระดับความเชื่อมั่นเฉลี่ยมากกกว่าระดับ 70% หมายความว่า หากซื้อหุ้นตัวนั้นก่อนวันที่จะมีผลบังคับใช้ 1 เดือน จะให้ผลตอบแทนเฉลี่ยที่ 7.6% หรือหากซื้อหุ้นตัวนั้นก่อน 1 สัปดาห์ จะให้ผลตอบแทนเฉลี่ยที่ 1.8% ตามลำดับ ส่วนหุ้นที่ถูกปลดออกจะให้ผลตอบแทนเฉลี่ยเป็นลบราว 3-4% ในช่วงเวลาดังกล่าว”
นายอภิชาติกล่าว
ด้านกลยุทธ์การลงทุนในเดือนนี้ เน้น 3 ธีมการลงทุนหลัก คือ
- หุ้นที่คาดจะได้ประโยชน์จากวัคซีนและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐ ลุ้นการฟื้นตัวจากฐานราคาที่ต่ำ แนะนำ BAM, BTS, CPALL และ CPN
- หุ้นที่แนวโน้มกำไรครึ่งปีหลังจะเติบโตดี แนะนำ ROJNA, SPALI และ TPIPL
- หุ้นที่คาดว่าจะเข้า ดัชนี SET50 ในครึ่งปีหลัง แนะนำ STGT
ดังนั้น หุ้นเด่นที่เราแนะนำในเดือนมิถุนายน คือ BAM, BTS, CPALL, CPN, ROJNA, SPALI, STGT และ TPIPL
ด้านแนวรับสำคัญเดือนนี้อยู่ที่ 1,570 จุด และแนวรับถัดไปที่ 1,540-1,550 จุด แนวต้านสำคัญอยู่ที่ 1,600-1,610 จุด และแนวต้านถัดไปที่ 1,640-1,650 จุด ปัจจัยเสี่ยงที่ต้องจับตาคือ 1. การกระจายวัคซีนไม่เป็นไปตามแผนที่กำหนดไว้ 2. สถานการณ์ระบาดภายในประเทศที่เลวร้ายมากขึ้น และ 3. แนวโน้มเงินเฟ้อสหรัฐฯ ที่เร่งตัวขึ้น รวมถึงการส่งสัญญาณลดสภาพคล่อง (QE Tapering) ที่เร็วกว่าคาด
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (01 มิ.ย. 64)
Tags: SET Index, TISCO, ตลาดหุ้น, ตลาดหุ้นไทย, ทิสโก้, หุ้นไทย, อภิชาติ ผู้บรรเจิดกุล, เศรษฐกิจไทย