ธนาคารโลกเปิดเผยรายงาน “East Asia and Pacific Fall 2021 Economic Update” โดยระบุว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจในเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์เดลตา และคาดว่าปัจจัยดังกล่าวจะส่งผลให้การขยายตัวของเศรษฐกิจอ่อนแรงลง และเพิ่มความไม่เท่าเทียมกันในภูมิภาคเหล่านี้
ธนาคารโลกระบุว่า กิจกรรมทางเศรษฐกิจเริ่มชะลอตัวลงในช่วงไตรมาส 2 ของปีนี้ ซึ่งทำให้ธนาคารโลกตัดสินใจปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจของประเทศส่วนใหญ่ในภูมิภาคแห่งนี้ โดยธนาคารโลกคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจจีนจะขยายตัว 8.5% ขณะที่ประเทศอื่น ๆ ที่เหลือในภูมิภาคจะขยายตัวเพียง 2.5% ซึ่งลดลงเกือบ 2% จากที่คาดการณ์ไว้ในเดือนเม.ย.ปีนี้
มานูเอลา เฟอร์โร ประธานธนาคารโลกฝ่ายกิจการเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกกล่าวว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจในเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกกำลังเผชิญกับความพลิกผันในอนาคต โดยในปี 2563 นั้น ภูมิภาคแห่งนี้สามารถควบคุมการระบาดของโควิด-19 ได้ในขณะที่ภูมิภาคอื่น ๆ ยังไม่สามารถควบคุมได้ แต่ในปี 2564 นี้ ภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกกำลังเผชิญกับยอดผู้ติดเชื้อที่สูงขึ้น ซึ่งส่งให้การเติบโตของเศรษฐกิจในภูมิภาคอ่อนแอลง
รายงานของธนาคารโลกประมาณการว่า ประเทศส่วนใหญ่ในภูมิภาค ซึ่งรวมถึงอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์นั้น จะสามารถฉีดวัคซีนได้กว่า 90% ของจำนวนประชากรในประเทศภายในช่วงครึ่งแรกของปี 2565 อย่างไรก็ดี แม้ว่าการฉีดวัคซีนยังไม่สามารถขจัดการติดเชื้อโควิด-19 ให้หมดไป แต่ก็จะทำให้อัตราการเสียชีวิตลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งจะทำให้หลายประเทศสามารถกลับมาเปิดเศรษฐกิจได้อีกครั้ง
ธนาคารโลกยังระบุด้วยว่า ความเสียหายที่เกิดจากการแพร่ระบาดรอบใหม่ของโรคโควิด-19 นั้น อาจจะส่งผลกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจ และส่งผลให้ความไม่เท่าเทียมกันปรับตัวสูงขึ้นในระยะยาว
“การฉีดวัคซีนและตรวจหาเชื้อเพิ่มขึ้นเพื่อสกัดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 นั้น จะช่วยฟื้นฟูกิจกรรมทางเศรษฐกิจในหลายประเทศอย่างเร็วที่สุดในช่วงครึ่งแรกของปี 2565 และจะเป็นปัจจัยหนุนเศรษฐกิจให้ขยายตัวเป็นสองเท่าในปีหน้า แต่ในระยะยาวนั้น มีแต่เพียงการปฏิรูปเศรษฐกิจเชิงลึกเท่านั้นที่จะสามารถป้องกันการชะลอตัวของเศรษฐกิจและความไม่เท่าเทียมได้” อทิตยา แมททู หัวหน้านักเศรษฐกิจประจำเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกของธนาคารโลกกล่าว
ทั้งนี้ ธนาคารโลกได้แนะนำทางออก 4 ประการสำหรับภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกในการรับมือกับยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่สูงขึ้น ซึ่งได้แก่ การแก้ไขปัญหาความลังเลที่จะฉีดวัคซีนและการจำกัดการแจกจ่ายวัคซีน, การเพิ่มศักยภาพในการตรวจหาเชื้อและติดตามผู้ติดเชื้อ, เพิ่มการผลิตวัคซีนในภูมิภาค และเสริมสร้างระบบสาธารณสุขในท้องถิ่นให้มีความแข็งแกร่งมากขึ้น
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (28 ก.ย. 64)
Tags: COVID-19, ธนาคารโลก, เศรษฐกิจจีน, เศรษฐกิจโลก, โควิด-19