ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เผยผลการสำรวจความเชื่อมั่นทางธุรกิจ (BSI) เฉพาะกิจ จากผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 ต่อภาคธุรกิจไทย ระหว่างวันที่ 1-24 พ.ค. 64 ระบุว่า ในเดือน พ.ค.64 ระดับการฟื้นตัวของธุรกิจในภาพรวมทรงตัวใกล้เคียงกับเดือนก่อน ซึ่งถูกกดดันจากกำลังซื้อที่ยังอ่อนแอ และผลของการแพร่ระบาดโควิด-19 ระลอกเดือน เม.ย.ที่ขยายวงกว้าง โดยเฉพาะภาคที่มิใช่การผลิตได้รับผลกระทบจากมาตรการควบคุมโรคต่อเนื่องจากเดือนก่อน อาทิ ขอความร่วมมืองดออกนอกเคหสถาน ขยายเวลาปิดกิจการที่มีความเสี่ยงชั่วคราว รวมถึงปรับเวลาให้บริการร้านค้าและร้านอาหาร เป็นต้น ขณะที่ภาคก่อสร้างเริ่มได้รับผลกระทบเชิงลบจากการติดเชื้อเป็นคลัสเตอร์ในแคมป์คนงาน
ทั้งนี้ ระดับกิจกรรมทางธุรกิจที่ทรงตัวจากเดือนก่อน ส่งผลให้ระดับการฟื้นตัวของการจ้างงานและรายได้ของแรงงานในธุรกิจส่วนใหญ่ยังไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก ทั้งจำนวนแรงงาน ชั่วโมงการทำงานเฉลี่ย และรายได้เฉลี่ยต่อคน โดยสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ในไทยที่มีแนวโน้มกลับมารุนแรงขึ้น ทำให้ธุรกิจส่วนใหญ่มีการใช้นโยบายสลับกันมาทำงานเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากเดือนก่อน
ขณะที่ธุรกิจในภาคที่มิใช่การผลิตมีการใช้นโยบายอื่น ๆ เพิ่มเติม อาทิ ลดชั่วโมงทำงาน และ Leave without Pay อย่างไรก็ตาม เริ่มเห็นสัญญาณการปลดคนงานในธุรกิจโรงแรม และร้านอาหารเพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ดี ภาคการผลิตยังสามารถฟื้นตัวได้ตามคำสั่งซื้อที่ทยอยกลับมา โดยเฉพาะการผลิตเพื่อส่งออก แต่ยังคงมีความเสี่ยงจากปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ที่ยังไม่คลี่คลาย ปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบที่เริ่มเห็นในบางธุรกิจ อาทิ ยานยนต์ รวมถึงการติดเชื้อเป็นคลัสเตอร์ในโรงงาน
ทั้งนี้ แต่ละธุรกิจมีมุมมองต่อผลกระทบจากการแพร่ระบาดระลอกเดือน เม.ย.เมื่อเทียบกับระลอกแรกเดือน มี.ค.63 และระลอกสองเดือน ม.ค.64 ที่แตกต่างกัน โดยภาคท่องเที่ยวคาดว่าจะถูกกระทบมากที่สุด และมีแนวโน้มรุนแรงมากกว่าทั้ง 2 ระลอกก่อนหน้า จากการแพร่ระบาดที่มีแนวโน้มยืดเยื้อและเข้ามาซ้าเติมกิจกรรมทางธุรกิจให้แย่ลงต่อเนื่อง เช่นเดียวกับภาคอสังหาริมทรัพย์และภาคการค้าที่ได้รับผลกระทบมากรองลงมาจากกำลังซื้อที่ลดลง ขณะที่ภาคการผลิตคาดว่าได้รับผลกระทบน้อยสุดสอดคล้องกับการปรับตัวเพื่อลดผลกระทบจากการแพร่ระบาดที่ทำได้มากกว่าธุรกิจอื่น
โดยดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการที่พักแรม (Hotel business operator Sentiment Index:HSI) เดือน พ.ค. ผู้ประกอบการที่พักแรมได้รับผลกระทบมากขึ้นจากเดือนก่อน และคาดว่าผลกระทบจะต่อเนื่องไปจนถึงเดือน มิ.ย. เนื่องจากสถานการณ์ของโควิด -19 ที่รุนแรงขึ้น โดยอัตราการเข้าพักอยู่ในระดับต่ำมาก ทำให้มีการตัดสินใจปิดกิจการชั่วคราวมากขึ้น
นอกจากนี้ ยังได้มีการสำรวจความสนใจเข้าร่วมมาตรการ Asset Warehousing พบว่า มีโรงแรมที่ไม่สนใจเข้าร่วมมาตรการมีจำนวน 144 แห่งส่วนใหญ่ไม่มีความจำเป็นต้องเข้าร่วม หรือไม่มีวงเงินสินเชื่อกับสถาบันการเงิน ขณะที่บางส่วนไม่เห็นด้วยกับเงื่อนไข หรือยังไม่เข้าใจในรายละเอียดของมาตรการ
ส่วนโรงแรมที่สนใจมีจำนวน 90 แห่ง แต่เข้าเงื่อนไขของมาตรการ 62 แห่งส่วนใหญ่เป็นโรงแรมในภาคใต้ และเป็นโรงแรมที่เปิดกิจการเพียงบางส่วน
ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการค้าปลีก (Retailer Sentiment Index: RSI) เดือน พ.ค. ปรับลดลงต่อเนื่องและอยู่ต่ำกว่าระดับ 50 สะท้อนภาวะการค้าปลีกที่แย่ลงตามการแพร่ระบาดโควิด-19 ที่รุนแรงขึ้น
ดัชนีฯ ใน 3 เดือนข้างหน้า แม้ว่าจะยังต่ำกว่าระดับ 50 แต่ปรับดีขึ้นจากความคาดหวังต่อแผนการกระจายวัคซีน และมาตรการกระตุ้นกำลังซื้อเพิ่มเติม
ความเชื่อมั่นต่อยอดขายสาขาเดิมเดือน พ.ค.ปรับลดลงและอยู่ต่ำกว่าระดับ 50 ในทุกภาคจากการแพร่ระบาดที่กระจายทั่วประเทศ อย่างไรก็ดี ความเชื่อมั่นในอีก 3 เดือนข้างหน้าปรับดีขึ้นในทุกภาค จากความคาดหวังต่อแผนกระจายวัคซีนและมาตรการกระตุ้นการบริโภคของรัฐ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (01 มิ.ย. 64)
Tags: BSI, การจ้างงาน, ความเชื่อมั่นทางธุรกิจ, ดัชนีความเชื่อมั่น, ธนาคารแห่งประเทศไทย, ธปท., ธุรกิจโรงแรม, ธุรกิจไทย, ผู้ประกอบการ, ร้านอาหาร, เศรษฐกิจไทย