ดัชนีดาวโจนส์ฟิวเจอร์ร่วงลงอย่างต่อเนื่องในวันนี้ ล่าสุดทรุดตัวลงกว่า 500 จุด หลุดระดับ 34,000 จุด ท่ามกลางความวิตกเกี่ยวกับการผิดนัดชำระหนี้ของไชน่า เอเวอร์แกรนด์ กรุ๊ป ซึ่งเป็นบริษัทอสังหาริมทรัพย์ใหญ่อันดับ 2 ของจีน
นอกจากนี้ วิกฤตเอเวอร์แกรนด์ยังได้ฉุดดัชนี MSCI All Country World Index ลบ 0.5% ในวันนี้ ใกล้แตะระดับต่ำสุดในรอบ 1 เดือน หลังพุ่งทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในช่วงต้นเดือนก.ย.
ดัชนีความผันผวน CBOE หรือ CBOE Volatility Index (VIX) ซึ่งเป็นมาตรวัดความวิตกของนักลงทุนในตลาดหุ้นวอลล์สตรีท พุ่งขึ้นเหนือระดับ 25 ในวันนี้ ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนพ.ค.
ณ เวลา 17.32 น.ตามเวลาไทย ดัชนีดาวโจนส์ฟิวเจอร์ลบ 540 จุด หรือ 1.57% สู่ระดับ 33,922 จุด
หลักทรัพย์ทั้ง 30 หลักทรัพย์ในดัชนีดาวโจนส์ต่างดิ่งลงในการซื้อขายก่อนเปิดตลาด นำโดยหุ้นกลุ่มธนาคาร
หุ้นกลุ่มพลังงานร่วงลงเช่นกัน ตามการทรุดตัวของราคาน้ำมันในวันนี้
เอเวอร์แกรนด์ออกแถลงการณ์ยอมรับว่าบริษัทกำลังเผชิญปัญหาสภาพคล่อง และอาจไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามกำหนด
นอกจากนี้ เอเวอร์แกรนด์ยังได้แจ้งระงับการซื้อขายหุ้นกู้ภายในประเทศของทางบริษัท ซึ่งผู้เชี่ยวชาญมองว่าอาจปูทางไปสู่การปรับโครงสร้างหนี้ หรืออาจนำไปสู่การผิดนัดชำระหนี้
มีการประเมินว่า ขณะนี้เอเวอร์แกรนด์มีหนี้สินมากกว่า 3 แสนล้านดอลลาร์ หรือราว 10 ล้านล้านบาท เทียบเท่ากับ 2% ของตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของจีน หลังจากที่บริษัทได้ทำการกู้เงินมาเป็นเวลาหลายปีเพื่อรองรับการขยายตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์ของจีน
สถานะทางการเงินของเอเวอร์แกรนด์เริ่มสั่นคลอน หลังจากที่รัฐบาลจีนได้ออกมาตรการควบคุมภาวะร้อนแรงของภาคอสังหาริมทรัพย์ รวมทั้งสกัดการก่อหนี้ของบริษัทขนาดใหญ่ในภาคดังกล่าว
ขณะเดียวกัน ราคาหุ้นของเอเวอร์แกรนด์ดิ่งลงอย่างหนัก ขณะที่นักลงทุนพากันเทขาย ท่ามกลางความไม่มั่นใจต่อสถานะทางการเงินของบริษัท
นักลงทุนจับตาการประชุมกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในวันที่ 21-22 ก.ย. ท่ามกลางความกังวลว่าเฟดอาจส่งสัญญาณการปรับลดวงเงินในโครงการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ในการประชุมครั้งนี้
นายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟด ส่งสัญญาณก่อนหน้านี้ว่า เฟดมีแนวโน้มที่จะเริ่มปรับลดวงเงิน QE ก่อนสิ้นปีนี้
อย่างไรก็ดี นายพาวเวลระบุว่า การที่เฟดปรับลด QE ไม่ได้หมายความว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในไม่ช้า
ทั้งนี้ นายพาวเวลกล่าวว่า เศรษฐกิจสหรัฐได้มาถึงจุดที่ไม่มีความจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนอย่างมากจากนโยบายเฟดอีกต่อไป ซึ่งหมายความว่าเฟดมีแนวโน้มปรับลดวงเงิน QE ก่อนสิ้นปีนี้ ตราบใดที่เศรษฐกิจยังคงมีการขยายตัว
“กำหนดเวลาและอัตราการปรับลด QE ไม่ได้เป็นการส่งสัญญาณโดยตรงถึงการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ซึ่งเราจะมีบททดสอบที่เข้มงวดมากขึ้น และแตกต่างออกไป”
นายพาวเวลกล่าว
นายพาวเวลระบุว่า หากเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ก็จะเกิดขึ้นหลังสิ้นสุดการปรับลด QE เป็นระยะเวลาพอสมควร
การทรุดตัวลงของดัชนีดาวโจนส์ฟิวเจอร์ในวันนี้ สอดคล้องกับสถิติในอดีตที่บ่งชี้ว่าตลาดหุ้นวอลล์สตรีทมักปรับตัวย่ำแย่ในเดือนก.ย.
ทั้งนี้ ข้อมูลจาก “Stock Trader’s Almanac” ระบุว่า นับตั้งแต่ปี 2493 เดือนก.ย.เป็นเดือนที่ดัชนี S&P 500 ปรับตัวย่ำแย่ที่สุดของปี และนับตั้งแต่ปี 2488 ดัชนี S&P 500 ร่วงลงเฉลี่ย 0.56% ในเดือนก.ย. ขณะที่เดือนก.พ.เป็นอีกหนึ่งเดือนที่ดัชนี S&P 500 มักปรับตัวลง
สำหรับในเดือนก.ย.ปีนี้ ดัชนีดาวโจนส์ดิ่งลงแล้ว 2.2% ส่วนดัชนี S&P 500 ร่วงลง 2.0% โดยมีแนวโน้มเป็นเดือนที่มีการปรับตัวย่ำแย่ที่สุดนับตั้งแต่เดือนม.ค. ขณะที่ดัชนี Nasdaq ปรับตัวลง 1.4%
นักวิเคราะห์เตือนว่า หลังจากปรับตัวขึ้น 7 เดือนติดต่อกัน ขณะนี้ตลาดหุ้นวอลล์สตรีทกำลังมีความเสี่ยงที่จะเผชิญกับการปรับฐานจากปัจจัยหลายประการ ได้แก่ การผิดนัดชำระหนี้ของบริษัทเอเวอร์แกรนด์, การที่เฟดอาจประกาศปรับลดวงเงิน QE ในการประชุมเดือนนี้, การที่สภาคองเกรสอาจให้การอนุมัติการปรับขึ้นภาษีเงินได้นิติบุคคล รวมทั้งความเสี่ยงจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์เดลตา
นางลิซ แอน ซอนเดอร์ นักวิเคราะห์จากบริษัท Charles Schwab เตือนว่าตลาดหุ้นอาจปรับฐานมากกว่า 3% หรือ 4% ในเดือนนี้
นอกจากนี้ สถิติที่ผ่านมาบ่งชี้ว่า ตลาดหุ้นสหรัฐมักดิ่งลงอย่างหนักในเดือนก.ย. โดยเฉพาะหากเป็นปีแรกของการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐ ซึ่งทำให้ดัชนี S&P 500 ร่วงลงเฉลี่ย 0.73% ในเดือนก.ย.ของปีดังกล่าว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (20 ก.ย. 64)
Tags: ดาวโจนส์, ตลาดหุ้น, ตลาดหุ้นนิวยอร์ก, เอเวอร์แกรนด์