พาณิชย์ เร่งประเมินผลประโยชน์และผลกระทบ หลังจีนสมัครเข้า CPTPP

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงกรณีที่จีนได้ยื่นขอสมัครเข้าเป็นสมาชิกความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) ต่อนิวซีแลนด์ ในฐานะประเทศผู้รับฝากความตกลงว่า ผลจากการที่จีนขอสมัครเข้าเป็นสมาชิก จะทำให้ CPTPP กลายเป็นตลาดที่มีขนาดใหญ่ขึ้น จากเดิมที่มีสมาชิก 11 ประเทศ ได้แก่ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ แคนาดา เม็กซิโก เปรู ชิลี สิงคโปร์ บรูไน มาเลเซีย และเวียดนาม มีประชากรรวมกันกว่า 500 ล้านคน มูลค่าทางเศรษฐกิจ หรือ GDP 10.5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ เมื่อนับรวมจีน จะส่งผลให้จำนวนประชากรในตลาด CPTPP ใหญ่ขึ้นเป็นกว่า 1,900 ล้านคน (25% ของประชากรโลก) มูลค่า GDP ประมาณ 25.3 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ (30% ของ GDP โลก)

อย่างไรก็ตาม ขนาดของ CPTPP ยังเล็กกว่าความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ซึ่งมีสมาชิก 15 ประเทศ และปัจจุบันเป็นความตกลง FTA ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ด้วยขนาดประชากรกว่า 2,300 ล้านคน (30% ของประชากรโลก) มูลค่า GDP 28.5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ (33.6% ของ GDP โลก)

นางอรมน ประเมินว่า การสมัครเข้าร่วม CPTPP ของจีน จะเป็นการเพิ่มพันธมิตรและขยายโอกาสทางการค้าและการลงทุนของจีนกับสมาชิก CPTPP โดยเฉพาะการเข้าไปมีส่วนร่วมในห่วงโซ่การผลิตของกลุ่มประเทศ CPTPP (regional supply chain) จะช่วยเสริมความแข็งแกร่งของจีน ในฐานะเป็นแหล่งวัตถุดิบและฐานการผลิตที่สำคัญของภูมิภาค ขณะเดียวกันเป็นการแสดงความพร้อมของจีนที่จะยกระดับมาตรฐานกฎระเบียบต่างๆ ให้ทัดเทียมกับประเทศสมาชิก CPTPP ซึ่งอาจถือได้ว่าเป็นมาตรฐานของโลกใหม่ อาทิ การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา สิทธิแรงงาน พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ การคุ้มครองสิ่งแวดล้อม การแข่งขันทางการค้า และการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจ

นางอรมน เพิ่มเติมว่า ปัจจุบันไทยมี FTA กับสมาชิก CPTPP แล้ว รวม 9 ประเทศ ทั้งในกรอบอาเซียน และกรอบทวิภาคี คือ ญี่ปุ่น สิงคโปร์ เวียดนาม บรูไน มาเลเซีย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ชิลี และเปรู โดยยังขาดเม็กซิโกกับแคนาดา ที่ไทยไม่มี FTA ด้วย แต่ไทยก็อยู่ระหว่างเตรียมการเปิดเจรจา FTA อาเซียน-แคนาดา ในเร็วๆ นี้ จึงถือได้ว่าไทยมีช่องทางในการเข้าสู่ตลาดประเทศสมาชิก CPTPP ผ่าน FTA ที่มีอยู่

ทั้งนี้ การขยายจำนวนสมาชิก CPTPP รวมจีนและสหราชอาณาจักร ได้เพิ่มความน่าสนใจและดึงดูดใจของ CPTPP และทำให้ไทยต้องประเมินประโยชน์ และผลกระทบที่จะเกิดขึ้นใหม่อย่างรอบคอบ โดยเฉพาะประโยชน์ที่จะได้จากการเข้าสู่ตลาด CPTPP ที่มีขนาดใหญ่ขึ้น เช่น เรื่องการเข้าสู่ตลาด ความตกลง CPTPP ได้กำหนดให้สมาชิกต้องลด/ยกเลิกภาษีศุลกากรที่เก็บระหว่างกันให้ครอบคลุมรายการสินค้าให้มากที่สุด เรียกได้ว่าครบหรือเกือบครบทุกรายการสินค้า เรื่องกฎถิ่นกำเนิดสินค้าที่ส่งเสริมให้ใช้วัตถุดิบภายในประเทศสมาชิก เพื่อการผลิตขั้นสูงขึ้นไป เรื่องกฎระเบียบที่ส่งเสริมการอำนวยความสะดวกทางการค้าทั้งออนไลน์ และออฟไลน์

“กฎเกณฑ์เหล่านี้ จะทำให้ประเทศสมาชิก CPTPP มีความได้เปรียบประเทศที่มิใช่สมาชิก อีกทั้งประโยชน์ในเรื่องการเข้าไปอยู่ในวงห่วงโซ่การผลิตระดับภูมิภาค (regional supply chain) หรือการเสียประโยชน์หากอยู่นอกวง ก็เป็นประเด็นใหม่ที่จะต้องนำมาพิจารณา เนื่องจากวงห่วงโซ่การผลิตของ CPTPP จะมีขนาดใหญ่ขึ้น โดยเฉพาะเมื่อรวมจีนเข้าไป”

อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศระบุ

ขณะเดียวกัน ยังมีเรื่องมาตรฐานโลกใหม่ เช่น สิทธิแรงงาน การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา สิ่งแวดล้อม ความโปร่งใสและการต่อต้านคอร์รัปชั่นที่การเข้าร่วม CPTPP ของจีน อาจเป็นการนำเทรนด์ใหม่ในฐานะประเทศกำลังพัฒนาขนาดใหญ่ว่ามีความพร้อมที่จะรับและปฏิบัติตามมาตรฐานโลกใหม่นี้ เพื่อก้าวข้ามการที่ประเทศผู้นำเข้าอ้างเรื่องมาตรฐานต่างๆ เหล่านี้เป็นเครื่องมือกีดกันการค้า ซึ่งเทรนด์มาตรฐานที่จะเกิดขึ้น อาจกลายเป็นเส้นแบ่งกลุ่มประเทศได้

สำหรับการสมัครเข้าเป็นสมาชิก หรือร่วมเจรจาความตกลง FTA ใดของไทย โดยทั่วไปจะมีกระบวนการทำงาน คือ ศึกษาความพร้อม ประเมินผลประโยชน์ และผลกระทบของประเทศ รวมทั้งการรับฟังความเห็นภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ก่อนขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี เนื่องจากในการเจรจา FTA จะมีทั้งผู้ที่ได้ประโยชน์ และผู้ที่ได้รับผลกระทบ จึงต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ ทั้งในส่วนประโยชน์ที่จะได้รับ การปรับตัว และช่วยเหลือเยียวยาผู้เสียประโยชน์

“เรื่อง CPTPP เป็นเรื่องที่หลายภาคส่วนติดตาม และให้ความสนใจ จึงถูกยกระดับการพิจารณาเรื่องนี้ไปที่คณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) ซึ่งมีกรรมการ เป็นผู้แทนระดับสูงจากหลายหน่วยงานทางเศรษฐกิจมาช่วยพิจารณาให้รอบด้าน ไม่ใช่กระทรวงพาณิชย์กระทรวงเดียว ซึ่งปัจจุบันเรื่องยังอยู่ระหว่างการดำเนินการของ กนศ. ซึ่งคงต้องนำความคืบหน้าล่าสุดนี้มารวมไว้ในการประเมินด้วย”

นางอรมน กล่าว

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (20 ก.ย. 64)

Tags: , , ,