นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า สธ. ได้ร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ในการจัดทำแนวทางมาตรการแซนด์บอกซ์ในโรงเรียน (Sandbox Safety zone in School) สำหรับโรงเรียนประจำ และโรงเรียนไป-กลับ กรณีที่ต้องเปิดโรงเรียนท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 เนื่องจากนักเรียนมีความจำเป็นต้องเรียนตามปกติ เพราะมีผลต่อเรื่องปฏิสัมพันธ์ในสังคม และมีหลายกิจกรรมที่ไม่สามารถจัดการเรียนการสอนผ่านช่องทางออนไลน์ได้ อย่างไรก็ดีจะต้องมีการเตรียมความพร้อม และปฏิบัติตามมาตรการที่สธ. กำหนดอย่างเคร่งครัด เพื่อความปลอดภัยต่อนักเรียน ชุมชน และครอบครัว
ในส่วนของแนวปฏิบัติตามมาตรการ “Sandbox Safety zone in School” สำหรับโรงเรียนประจำ สามารถแบ่งออกเป็น 3 ด้าน คือด้านการบริหารจัดการ, ด้านนักเรียน ครู และบุคลากร และด้านสถานศึกษา โดยด้านการบริหารจัดการ มีข้อปฏิบัติ ดังนี้ 1. สถานศึกษาที่มีความพร้อมเข้าร่วมโครงการ แจ้งความประสงค์ ภาคสมัครใจผ่านต้นสังกัด มีการหารือร่วมกับผู้ปกครอง รวมถึงผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด 2. จัดให้มีสถานแยกกักตัวในโรงเรียน (School Isolation) 3. จัดให้มี Safety Zone ในโรงเรียน โดยแบ่งเป็น 3 โซน คือ โซน 1 Screening, โซน 2 Quarantine และ โซน 3 Safety Zone 4. มีการติดตามประเมินผลโดยทีมตรวจราชการบูรณาการร่วมฝ่ายการศึกษา และฝ่ายสาธารณสุข และ 5. โรงเรียนต้องรายงานตามแบบติดตามผลผ่าน MOECOVID และ Thai Stop COVID Plus (TSC+)
ทางด้านนักเรียน ครู และบุคลากร มีข้อปฏิบัติ ดังนี้ 1. นักเรียนที่จะมาเรียนแบบ On site หรือเรียนที่โรงเรียนตามปกติต้องตรวจ Antigen Test Kit (ATK) ก่อนเข้าโรงเรียน 2. นักเรียนทำกิจกรรมร่วมกันรูปแบบ Bubble & Seal 3. นักเรียน ครู และบุคลากร ต้องประเมินความเสี่ยงด้วยตนเองผ่านไทยเซฟไทย (TST) สม่ำเสมอ 4. นักเรียนปฏิบัติตามมาตรการสุขอนามัยส่วนบุคคลอย่างเข้มข้น 6 มาตรการหลัก (DMHT-RC) และ 6 มาตรการเสริม (SSET-CQ) 5. ครูและบุคลากร ต้องเข้าถึงวัคซีน ครอบคลุมมากกว่า 85% และ 6. ครูและบุคลากร ต้องสุ่มตรวจ ATK ทุก 14 วัน หรือ 1 เดือนต่อภาคเรียน
ด้านสถานศึกษามีข้อปฎิบัติ ดังนี้ 1. สถานศึกษาจัดการเรียนการสอนได้ทั้ง On site และหรือ Online (Hybrid) 2. สถานศึกษาประเมินตนเอง เตรียมพร้อมก่อนเปิดเรียนผ่าน T5C+ 3. กรณีจำเป็นต้องปิดเรียน ควรปฏิบัติตามแผนเผชิญเหตุ สธ. อย่างเคร่งครัด และ 4. จัดระบบการให้บริการอาหารนักเรียนตามหลักสุขาภิบาล เช่น การจัดซื้อจัดหาวัตถุดิบจากแหล่งอาหาร การปรุงประกอบอาหารตามมาตรฐานสุขาภิบาลอาหารในโรงเรียน หรือการสั่งซื้ออาหารตามระบบนำส่งอาหาร
ส่วนแนวปฏิบัติตามมาตรการ “Sandbox Safety zone in School” สำหรับโรงเรียนไป-กลับ จะต้องมีการบริหารจัดการที่แตกต่างกันตามบริบทของแต่ละพื้นที่ ดังนี้
- พื้นที่เฝ้าระวัง หรือพื้นที่สีเขียว มีข้อปฏิบัติ คือ 1. นักเรียนต้องปฏิบัติตามมาตรการสุขอนามัยส่วนบุคคลอย่างเข้มข้น 6 มาตรการหลัก (DMHT-RC), 6 มาตรการเสริม (SSET-CQ) และ 2.ต้องปฏิบัติตาม 7 มาตรการเข้มสำหรับสถานศึกษา โดยครูและบุคลากรจะต้องมีการเข้าถึงวัคซีน มากกว่าหรือเท่ากับ 85% และต้องมีการประเมินความเสี่ยง (TST) 1 วัน/สัปดาห์
- พื้นที่เฝ้าระวังสูง หรือพื้นที่สีเหลือง มีข้อปฏิบัติ คือ 1. นักเรียนต้องปฏิบัติตามมาตรการสุขอนามัยส่วนบุคคลอย่างเข้มข้น 6 มาตรการหลัก (DMHT-RC), 6 มาตรการเสริม (SSET-CQ) และ 2. ต้องปฏิบัติตาม 7 มาตรการเข้มสำหรับสถานศึกษา ทั้งนี้จะต้องมีการตรวจ ATK 1 ครั้ง/2 สัปดาห์ โดยครูและบุคลากรจะต้องมีการเข้าถึงวัคซีนมากกว่าหรือเท่ากับ 85% และต้องมีการประเมินความเสี่ยง (TST) 1 วัน/สัปดาห์
- พื้นที่ควบคุม หรือพื้นที่สีส้ม มีข้อปฏิบัติ คือ 1. นักเรียนต้องปฏิบัติตามมาตรการสุขอนามัยส่วนบุคคลอย่างเข้มข้น 6 มาตรการหลัก (DMHT-RC), 6 มาตรการเสริม (SSET-CQ) และ 2. ต้องปฏิบัติตาม 7 มาตรการเข้มสำหรับสถานศึกษา ทั้งนี้จะต้องมีการตรวจ ATK 1 ครั้ง/2 สัปดาห์ โดยครูและบุคลากรจะต้องมีการเข้าถึงวัคซีนมากกว่าหรือเท่ากับ 85% และต้องมีการประเมินความเสี่ยง (TST) 2 วัน/สัปดาห์
- พื้นที่ควบคุมสูงสุด หรือพื้นที่สีแดง มีข้อปฏิบัติ คือ 1. นักเรียนต้องปฏิบัติตามมาตรการสุขอนามัยส่วนบุคคลอย่างเข้มข้น 6 มาตรการหลัก (DMHT-RC), 6 มาตรการเสริม (SSET-CQ) 2. ต้องปฏิบัติตาม 7 มาตรการเข้มสำหรับสถานศึกษา 3. สถานประกอบกิจการ กิจกรรมรอบรั้วสถานศึกษาในระยะ 10 เมตร จะต้องผ่านการประเมิน TSC+ COVID free setting 4. นักเรียน ครู และบุคลากรจะต้องมี School Pass และ 5. ต้องจัดกลุ่มนักเรียนต่อห้องเรียนขนาดปกติไม่เกิน 25 คน/ห้อง ทั้งนี้จะต้องมีการตรวจ ATK 1-2 ครั้ง/สัปดาห์ โดยครูและบุคลากรจะต้องมีการเข้าถึงวัคซีน 85-100% รวมถึงนักเรียนต้องได้รับวัคซีนตามมาตรการของสธ. และต้องมีการประเมินความเสี่ยง (TST) 3 วัน/สัปดาห์
- พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด หรือพื้นที่สีแดงเข้ม มีข้อปฏิบัติ คือ 1. นักเรียนต้องปฏิบัติตามมาตรการสุขอนามัยส่วนบุคคลอย่างเข้มข้น 6 มาตรการหลัก (DMHT-RC), 6 มาตรการเสริม (SSET-CQ) 2. ต้องปฏิบัติตาม 7 มาตรการเข้มสำหรับสถานศึกษา 3. สถานประกอบกิจการ กิจกรรมรอบรั้วสถานศึกษาในระยะ 10 เมตร จะต้องผ่านการประเมิน TSC+ COVID free setting 4. นักเรียน ครู และบุคลากรจะต้องมี School Pass และ 5. ต้องจัดกลุ่มนักเรียนต่อห้องเรียนขนาดปกติไม่เกิน 25 คน/ห้อง ทั้งนี้จะต้องมีการตรวจ ATK 2 ครั้ง/สัปดาห์ โดยครูและบุคลากรจะต้องมีการเข้าถึงวัคซีน 85-100% รวมถึงนักเรียนต้องได้รับวัคซีนตามมาตรการของสธ. และต้องมีการประเมินความเสี่ยง (TST) ทุกวัน
ในส่วนของ 7 มาตรการเข้มสำหรับสถานศึกษา (โรงเรียนไป-กลับ) ได้แก่
- สถานศึกษาประเมินความพร้อมเปิดเรียนผ่าน TSC+ และรายงานการติดตามการประเมินผลผ่าน MOECOVID
- ทำกิจกรรมร่วมกันในรูปแบบ Small Bubble
- จัดระบบการให้บริการอาหารตามหลักสุขาภิบาลอาหารและหลักโภชนาการ
- จัดการด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมให้ได้ตามเกณฑ์มาตรฐาน ได้แก่ การระบายอากาศภายในอาคาร การทำความสะอาดคุณภาพน้ำอุปโภคบริโภค และการจัดการขยะ
- จัดให้มี School Isolation แผนเผชิญเหตุ และมีการซักซ้อมอย่างเคร่งครัด
- ควบคุมดูแลการเดินทางจากบ้านไปโรงเรียน (Seal Route) กรณีรถรับ-ส่งนักเรียน รถส่วนบุคคล และพาหนะโดยสารสาธารณะ (สำหรับโรงเรียนไป-กลับ)
- จัดให้มี School Pass สำหรับนักเรียน ครู และบุคลากรในสถานศึกษา ซึ่งประกอบด้วยข้อมูล ผลการประเมิน TST ผลตรวจ ATK ภายใน 7 วัน และ หรือประวัติการรับวัคซีน ตามมาตรการของศธ. และสธ. เพื่อให้เกิดความปลอดภัยเมื่อเข้า-ออกโรงเรียน
สำหรับสถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 ในเด็กและวัยรุ่น อายุ 6-18 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.-11 ก.ย. 64 พบผู้ติดเชื้อสะสมทั้งหมด 129,165 ราย และเสียชีวิตสะสม 15 ราย โดยเด็กอายุ 12-18 ปี ที่มีโรคประจำตัว ได้รับวัคซีนไฟเซอร์เข็มที่ 1 แล้ว 74,932 ราย และเข็มที่ 2 จำนวน 3,241 ราย ส่วนครูและบุคลากรของศธ. จากข้อมูลวันที่ 5 ก.ย. 64 ได้รับวัคซีนเข็มที่ 1 และเข็มที่ 2 รวมกันทั้งหมด 897,423 ราย คิดเป็น 88.3% และยังไม่ได้รับวัคซีนจำนวน 118,889 ราย คิดเป็น 11.7%
นพ.เฉวตรสรร นามวาท ผู้อำนวยการกองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กล่าวว่าจะมีการให้บริการวัคซีนโควิด-19 วัคซีนไฟเซอร์ สำหรับนักเรียน และนักศึกษาอายุ 12 ปีขึ้นไป ที่ศึกษาอยู่ในระดับมัธยมศึกษาปีที่ 1-6 หรือประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช/ปวส.) หรือเทียบเท่า โดยทางสถาบันการศึกษาจะต้องทำการรวบรวมจำนวนนักเรียน และแจ้งสธ. เพื่อจัดสรรวัคซีนไปตามโรงเรียนต่างๆ โดยในสัปดาห์แรกของเดือนต.ค. จะมีการจัดสรรวัคซีนจำนวน 1 ล้านโดส, สัปดาห์ที่สองของเดือนต.ค. จำนวน 1 ล้านโดส, สัปดาห์ที่สามของเดือนต.ค. จำนวน 2 ล้านโดส และสัปดาห์ที่สี่ของเดือนต.ค. อีก 1 ล้านโดส
ส่วนกรณีข้อกังวลผลข้างเคียงหลังจากฉีดวัคซีนไฟเซอร์ หรืออาการกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบนั้น จากข้อมูลทั่วโลกพบว่าสามารถเกิดขึ้นได้น้อยมาก และเมื่อเทียบกับการเกิดกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบจากการติดเชื้อโควิด-19 นั้นสูงกว่าการเกิดผลข้างเคียงกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบถึง 6 เท่า โดยในประเทศไทยมีการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ไปแล้วกว่า 9 แสนโดส ซึ่งพบผู้ที่มีอาการข้างเคียงกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบเพียง 1 รายและสามารถรักษาหายแล้ว
สำหรับการคาดการณ์สถานการณ์โควิด-19 ในเดือนต.ค. ที่ก่อนหน้านี้มีการคาดการณ์ว่าจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 จะขึ้นไปสู่จุดสูงสุดในเดือนต.ค. ปัจจุบันจำนวนผู้ติดเชื้อ และผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 เริ่มมีแนวโน้มที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งไม่เหมือนกับที่เคยคาดการณ์ไว้ ทำให้ประชาชนบางส่วนคลายกังวลได้ในระดับหนึ่ง อย่างไรก็ดีขณะนี้อยู่ระหว่างการเฝ้าระวังสถานการณ์ เนื่องจากการคลายมาตรการบางส่วน เริ่มแสดงให้เห็นถึงคลัสเตอร์ใหม่จากร้านอาหาร ดังนั้นจำนวนผู้ติดเชื้อจะเพิ่มขึ้น หรือลดลง ขึ้นอยู่กับการปฎิบัติตนตามมาตรการของประชาชน เพื่อลดปัจจัยเสี่ยงในการแพร่เชื้อเนื่องจากยังคงมีการแพร่ระบาดอย่างหนักทั่วโลก และประเทศไทยเองก็ยังฉีดวัคซีนได้ไม่ครอบคลุมทุกพื้นที่
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (14 ก.ย. 64)
Tags: COVID-19, lifestyle, กระทรวงสาธารณสุข, สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย, โควิด-19