นักลงทุนในตลาดการเงินจับตาการเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เดือนส.ค.ของสหรัฐในวันนี้ เวลา 19.30 น.ตามเวลาไทย โดยคาดว่าดัชนี CPI จะสามารถบอกทิศทางเงินเฟ้อของสหรัฐที่ชัดเจนมากขึ้น ก่อนที่การประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะมีขึ้นในวันที่ 21-22 ก.ย.นี้
ผลสำรวจความเห็นของนักวิเคราะห์ซึ่งจัดทำโดยสำนักข่าวดาวโจนส์ระบุว่า ดัชนี CPI ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้บริโภค จะปรับตัวขึ้น 0.4% ในเดือนส.ค. เมื่อเทียบเป็นรายเดือน และเพิ่มขึ้น 5.4% เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งเป็นอัตราการขยายตัวที่ระดับเดียวกับในเดือนก.ค.
นอกจากนี้ นักวิเคราะห์คาดว่าดัชนี CPI พื้นฐานซึ่งไม่นับรวมราคาในหมวดอาหารและพลังงาน จะเพิ่มขึ้น 0.3% เมื่อเทียบเป็นรายเดือน และเพิ่มขึ้น 4.2% เมื่อเทียบเป็นรายปี
ที่ผ่านมานั้น ตัวเลขเงินเฟ้อของสหรัฐพุ่งขึ้นเกินคาด ซึ่งทำให้นักลงทุนกังวลว่าตัวเลขเงินเฟ้อจะขยายตัวร้อนแรงกว่าที่เฟดคาดการณ์ไว้ โดยเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้ผลิต ดีดตัวขึ้น 0.7% ในเดือนส.ค. เมื่อเทียบรายเดือน สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ที่ระดับ 0.6%
เมื่อเทียบรายปี ดัชนี PPI พุ่งขึ้น 8.3% ในเดือนส.ค. ซึ่งเป็นการปรับตัวขึ้นมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ในรอบเกือบ 11 ปี นับตั้งแต่เริ่มมีการรวบรวมข้อมูลดังกล่าวในเดือนพ.ย. 2553 หลังจากดีดตัวขึ้น 7.8% ในเดือนก.ค.
เบน เจฟเฟอร์รี นักวิเคราะห์จากบริษัท BMO กล่าวว่า หากดัชนี CPI เดือนส.ค.พุ่งขึ้นรุนแรง ก็อาจทำให้เฟดกำหนดไทม์ไลน์ในการปรับลดวงเงินในโครงการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ในเวลาที่รวดเร็วขึ้น นอกจากนี้เขามองว่า หากดัชนี CPI พุ่งขึ้นมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ ก็อาจผลักดันให้เฟดเริ่มพิจารณาเรื่องการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย
ทางด้านเดวิด โดนาเบเดียน นักวิเคราะห์จากบริษัท CIBC Private Wealth กล่าวว่า การพุ่งขึ้นของดัชนี CPI อาจสร้างความวิตกกังวลในตลาดหุ้นและทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรพุ่งขึ้นด้วย
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (14 ก.ย. 64)
Tags: CPI, ดัชนีราคาผู้บริโภค, สหรัฐ, เงินเฟ้อสหรัฐ