กรมอุตุฯ เตือนไทยยังมีฝนตกต่อเนื่อง-หนักมากบางแห่ง 12-13 ก.ย.นี้

กรมอุตุนิยมวิทยา ออกประกาศว่า เมื่อเวลา 22.00 น. วันที่ 11 ก.ย. 64 พายุโซนร้อนกำลังแรง “โกนเซิน” ได้อ่อนกำลังลงเป็นพายุโซนร้อนแล้ว บริเวณชายฝั่งประเทศเวียดนามตอนกลาง มีศูนย์กลางอยู่ห่างประมาณ 50 กิโลเมตร ทางตะวันออกเฉียงเหนือของเมืองกวางงาย ประเทศเวียดนาม หรืออยู่ที่ละติจูด 15.3 องศาเหนือ ลองจิจูด 109.0 องศาตะวันออก มีความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางประมาณ 75 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และกำลังเคลื่อนตัวทางทิศตะวันตกอย่างช้าๆ คาดว่าจะเคลื่อนขึ้นฝั่งบริเวณเมืองกวางงาย ประเทศเวียดนาม ในวันพรุ่งนี้ (12 ก.ย. 64) หลังจากนั้นจะอ่อนกำลังลงเป็นพายุดีเปรสชัน และหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงตามลำดับ

ในขณะที่ร่องมรสุมกำลังแรงพาดผ่านภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลางตอนบน และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยยังคงมีฝนตกต่อเนื่องและมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ขอให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยบริเวณดังกล่าว ระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสมซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากได้

สำหรับพื้นที่ที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบ วันที่ 12 กันยายน 64 มีดังนี้

-บริเวณที่มีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง

  • ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ: จังหวัดนครพนม สกลนคร มุกดาหาร กาฬสินธุ์ อำนาจเจริญ ยโสธร ร้อยเอ็ด มหาสารคาม สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี
  • ภาคตะวันออก: จังหวัดระยอง จันทบุรี และตราด

– บริเวณที่มีฝนตกหนักบางแห่ง วันที่ 13 กันยายน 64

  • ภาคเหนือ: จังหวัดแพร่ อุตรดิตถ์ สุโขทัย กำแพงเพชร พิจิตร พิษณุโลก ตาก และเพชรบูรณ์
  • ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ: จังหวัดนครพนม สกลนคร มุกดาหาร อำนาจเจริญ ยโสธร ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ มหาสารคาม ชัยภูมิ ขอนแก่น นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี
  • ภาคกลาง: จังหวัดนครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง ลพบุรี สระบุรี และกาญจนบุรี
  • ภาคตะวันออก: จังหวัดนครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ระยอง จันทบุรี และตราด

อนึ่ง มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทยมีกำลังแรง โดยทะเลอันดามันมีคลื่นสูง 2-3 เมตร และอ่าวไทยตอนบนคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ส่วนบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ขอให้ชาวเรือเดินเรือด้วยความระมัดระวัง โดยหลีกเลี่ยงบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง และเรือเล็กบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนควรงดออกจากฝั่ง จนถึงวันที่ 14 กันยายน 2564

ด้านกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมความพร้อมรับมือ ดังนี้

1. ติดตามสภาพอากาศและสภาพน้ำอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีฝนตกสะสมมากกว่า 90 มิลลิเมตร ในช่วงเวลา 24 ชั่วโมง บริเวณพื้นที่จุดเสี่ยงและพื้นที่ที่ยังคงสถานการณ์น้ำท่วมขังอยู่

2. ปรับแผนบริหารจัดการน้ำในแหล่งน้ำที่มีปริมาณน้ำมากกว่า 80% หรือเกณฑ์ควบคุมสูงสุด (Upper Rule Curve) ให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์น้ำ พร้อมพิจารณาบริหารจัดการเขื่อนระบายน้ำและประตูระบายน้ำ เพื่อพร่องน้ำ และบริหารพื้นที่ลุ่มต่ำให้เป็นแก้มลิงหน่วงน้ำและรองรับน้ำหลาก และเร่งระบายน้ำในลำน้ำ แม่น้ำ สำหรับคลองชายทะเลให้พร่องน้ำให้อยู่ในเกณฑ์ 30% เพื่อรองรับฝนตกหนักในพื้นที่และน้ำหลากจากพื้นที่ตอนบน

3. หากเกิดน้ำท่วมบริเวณพื้นที่ใด ให้พิจารณาปรับลดการระบายน้ำอ่างเก็บน้ำต่าง ๆ ให้มากที่สุด และใช้อาคารชลศาสตร์จัดจราจรน้ำเพื่อลดผลกระทบความรุนแรงของอุทกภัยและเร่งระบายน้ำเพื่อให้สถานการณ์กลับสู่ภาวะปกติโดยเร็ว

4. ตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงและความสามารถใช้งานของอ่างเก็บน้ำ อาคารบังคับน้ำ และติดตาม ตรวจสอบ ซ่อมแซม แนวคันบริเวณริมแม่น้ำและกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ เพื่อเตรียมความพร้อมรับน้ำหลากป้องกันน้ำท่วม ให้สามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

5. เตรียมแผนเผชิญเหตุรับสถานการณ์น้ำหลาก เตรียมความพร้อมบุคลากร เครื่องจักรเครื่องมือ รวมถึงความพร้อมของระบบสื่อสารสำรอง เพื่อบูรณาการความพร้อมให้ความช่วยเหลือและบรรเทาผลกระทบต่อประชาชนได้ทันที

6. ประชาสัมพันธ์สถานการณ์น้ำ และแจ้งเตือนล่วงหน้า ให้ประชาชนที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบ เตรียมพร้อมในการอพยพได้ทันท่วงทีหากเกิดสถานการณ์

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (12 ก.ย. 64)

Tags: , , , ,