โบรกฯ-บลจ.เตือนคว้าโอกาสลงทุนรับแนวโน้มเศรษฐกิจฟื้นตัวหลังผ่านวิกฤติโควิด

นายพิพัฒน์ พิศณุวงรักษ์ รองกรรมการผู้อำนวยการ สายการลงทุน บลจ.แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ กล่าวในงานสัมมนา “อนาคตเศรษฐกิจไทย ใครชี้ชะตา” ในประเด็น “สุขภาพการลงทุนไทย เขียว เหลือง หรือแดง” ว่า แม้ภาพเศรษฐกิจของไทยจะยังเป็นสีเหลืองหรือสีเขียวอ่อน แต่การลงทุนในกองทุนรวมนับว่าเป็นสีเขียว โดยจะเห็นได้ว่าครึ่งปีแรกที่ผ่านมา หากนับเฉพาะกองทุนเปิด จะมีมูลค่ารวมของสินทรัพย์เท่ากับ 4.2 ล้านล้านบาท ปรับตัวเพิ่มขึ้น 5.4% จากปลายปีก่อน และปัจจุบันก็มีสินทรัพย์เกือบใกล้เคียงช่วงก่อนโควิด-19 ที่อยู่ในระดับ 4.3 ล้านล้านบาท

ในช่วงครึ่งปีแรกมีเงินไหลเข้าสู่ระบบกองทุนรวมสุทธิแล้วกว่า 9.3 หมื่นล้านบาท ทั้งในกองทุนตราสารทุนและกองทุนตราสารหนี้ โดยในกองทุนตราสารทุนถือว่ามีการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว มีเงินเข้ามาเกือบเท่ากับกองทุนตราสารหนี้แล้ว โดยเฉพาะกองทุนที่เน้นการลงทุนในหุ้นต่างประเทศ ได้รับความสนใจอย่างมากจากนักลงทุน ซึ่งบริษัทให้คำแนะนำลงทุนในกองทุนหุ้นสหรัฐและยุโรป

สำหรับกองทุนตลาดเงินมีมูลค่าสินทรัพย์ลดลงมาอยู่ที่ 6.6 แสนล้านบาท เนื่องจากมีเม็ดเงินไหลออก ไปลงทุนในกองหุ้น ส่วนกอง Commodities มีมูลค่าสินทรัพย์สุทธิอยู่ราว 3 หมื่นล้านบาท ปรับตัวลดลงหลังนักลงทุนขายทำกำไร โดยเฉพาะน้ำมัน เนื่องจากราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นค่อนข้างมาก และกองทุนทองคำ เงินก็ไหลออกเช่นเดียวกัน เนื่องจากนักลงทุนกังวลเรื่องอัตราเงินเฟ้อที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต

นายพิพัฒน์ กล่าวว่า ส่วนแนวโน้มการลงทุนในกองทุนจากนี้ไป มองตลาดที่น่าลงทุนใน 3-4 กลุ่ม แบ่งเป็น

1.หุ้นจากสีเหลืองไปเป็นสีเขียว ได้แก่ ตลาดหุ้นประเทศญี่ปุ่น ถือเป็นตลาดประเทศพัฒนาแล้วที่ยัง laggard และตัวเลขเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการส่งออกเติบโตได้ดีมาก, ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ยังคงสภาพคล่องเอาไว้ได้ดี รวมถึงมีปัจจัยบวกด้านการเมือง หลังจากนายกรัฐมนตรีประกาศลาออกและไม่ลงชิงตำแหน่งในคราวหน้า ทำให้ประชาชนคาดหวังการเลือกตั้งครั้งใหม่จะนำไปสู่การพัฒนาและการขยายตัวทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นให้เติบโตไปได้

2. หุ้นจากที่เขียวอยู่แล้วก็จะยังเขียวต่อเนื่อง คือ ตลาดหุ้นยุโรป เนื่องจากยังมีการเติบโตได้ดีและยังมีสภาพคล่องค่อนข้างสูง อีกทั้งบริษัทที่อยู่ในตลาด ผลการดำเนินงานก็มีการปรับตัวได้ดี และยังถูก Revised Up ต่อเนื่อง และ Valuation ที่ถูกกว่าตลาดหุ้นสหรัฐ

3.หุ้นสีแดงเปลี่ยนเป็นสีเหลือง คือ ตลาดหุ้นจีน หลัง A-Shares, H-Shares ถูกกระทบจากนโยบายภาครัฐ โดยเฉพาะการปรับระเบียบการดำเนินธุรกิจของบริษัทใหญ่ ทำให้หุ้นปรับตัวลงค่อนข้างมาก แต่อย่างไรก็ตาม มองว่าจะกลับตัวเป็นสีเหลือง เนื่องด้วยภายหลังจากมีการปรับโครงสร้างหรือระเบียบเรียบร้อยแล้ว เชื่อว่าหุ้นจีนจะกลับมาเติบโตได้ ประกอบกับการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลจีน ก็จะเข้ามาเป็นปัจจัยสนับสนุนด้วย

4.แนะให้ระวังตลาดที่ปัจจุบันยังเป็นสีเขียว แต่มีโอกาสกลายเป็นสีเหลือง คือ Emerging Market หากมีการดึงสภาพคล่องออกจากระบบเร็วกว่าที่คาด โดยเฉพาะการที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ปรับลด QE เร็วกว่าคาด FundFlow ที่อยู่ในตลาดเกิดใหม่ก็จะไหลกลับไปยังสหรัฐ แต่เชื่อว่าจะไม่รุนแรงเหมือนกับในอดีต เนื่องจากปัจจุบันสถานะการเงินของประเทศใน Emerging Market ส่วนใหญ่แข็งแกร่งกว่าในอดีตมาก และหุ้นส่วนใหญ่ก็ไม่ได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นแรงในช่วงก่อนหน้านี้

นายพิพัฒน์ กล่าวว่า ภาพเศรษฐกิจทั่วโลกจากนี้ไปก็เริ่มเป็นภาพที่สบายมากขึ้น แต่อาจจะไม่ได้เท่ากับช่วงต้นปีที่ผ่านมา โดยภาพการลงทุนในครึ่งปีแรก ซื้ออะไรก็กำไรหมด ส่วนครึ่งปีหลัง ยังมีปัจจัยที่ต้องระวังหลังหุ้นปรับตัวขึ้นไปค่อนข้างมากแล้ว โดยแบ่งเป็น 4 ปัจจัย

ได้แก่ นโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เริ่มตึงตัวมากขึ้น และการขึ้นดอกเบี้ย, ผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนของสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มปรับลดลงในไตรมาส 3/64 เมื่อประกอบกับเฟดจะดำเนินการลดการเข้าซื้อสินทรัพย์ (QE Tapering) ตลาดก็อาจจะเปลี่ยนกลุ่มเล่น ย้ายไปกลุ่ม Defensive มากขึ้น, เศรษฐกิจของสหรัฐเริ่มขยับไปสู่ช่วงกลางของการขยายตัวของวงจรเศรษฐกิจ (Mid Cycle) และการส่งสัญญาณการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน หลังเริ่มเห็นข่าวการผิดนัดชำระหุ้นกู้ (default) รวมถึงตัวเลข PMI ลดต่ำลง และการออกมาจัดระเบียบบริษัทเอกชนของรัฐบาลจีน ส่งผลทำให้ผลประกอบการของบริษัทจีนแย่ลง และราคาหุ้นก็ปรับตัวลง

พร้อมกันนี้ภายใต้ภาวะปัจจุบัน แนะนักลงทุนปรับสัดส่วนการลงทุน โดยให้น้ำหนักในหุ้นไทยและหุ้นต่างประเทศ อย่างละ 50% ซึ่งในส่วนของหุ้นไทย แนะกลุ่มที่ได้รับประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างหลังจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ผ่านไป เช่น กลุ่มสื่อสารและเทคโนโลยี หุ้นกลุ่มอีเล็กทรอนิกส์ กลุ่มขนส่งโลจิสติกส์ และอีกส่วนหนึ่งเป็นหุ้นที่ได้รับประโยชน์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ เช่น ท่องเที่ยว ค้าปลีก

ด้านหุ้นต่างประเทศ แนะนำตลาดสีเขียว โดยเฉพาะประเทศที่มีการกระจายวัคซีนได้อย่างมีประสิทธิภาพ อย่างประเทศที่พัฒนาแล้ว คือ ยุโรป จาก Valuation ที่ถูกกว่าตลาดหุ้นสหรัฐ และตลาดหุ้นสหรัฐ ในกลุ่มที่ได้ประโยชน์จากการขึ้นดอกเบี้ย เช่น กลุ่มแบงก์ , Health care, ตลาดญี่ปุ่น จาก Valuation ที่ถูกกว่าตลาดประเทศพัฒนาแล้ว

ส่วนกองทุนที่ควรหลีกเลี่ยงการลงทุน คือ กองทุนที่นโยบายลงทุนได้รับผลกระทบจากการปรับตัวเพิ่มขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ (Bond Yield) และกองทุนกลุ่ม HYPER Growth ต่างๆ

นายกวี ชูกิจเกษม รองกรรมการผู้จัดการ บล.กสิกรไทย กล่าวว่า มองภาพการลงทุนในตลาดหุ้นไทยยังเป็นสีเขียว โดยมองเป้าหมายดัชนีหุ้นในปีหน้าที่ 1,700-1,750 จุด จากปัจจุบันอยู่ที่กว่า 1,600 จุด ยังมีอัพไซต์กว่า 100 จุด โดยมองว่าตลาดหุ้นไทยยังมีข้อดีจากสภาพคล่องในตลาดการเงินยังสูง และจากการที่โควิด-19 ยังมีการแพร่ระบาดทำให้คนไม่กล้าใช้จายเพื่อการบริโภค แต่การที่อัตราดอกเบี้ยยังอยู่ในระดับต่ำและ การลดการคุ้มครองเงินฝากเหลือ 1 ล้านบาท จะผลักให้คนหันมาลงทุนมากขึ้นเมื่อสถานการณ์โควิดคลี่คลาย จึงเป็นโมเมนตัมที่ดีสำหรับตลาด”นายกวี กล่าว

ส่วนแนวโน้มเศรษฐกิจไทยปีนี้ ยอมรับว่ามีโอกาสที่เศรษฐกิจจะติดลบเป็นปีที่ 2 หรือเข้าสู่ภาวะหดตัว แต่จะเริ่มเห็นการฟื้นตัวได้ในปีหน้า แม้ว่าจะฟื้นช้าบ้าง แต่ถือว่ายังฟื้นตัวได้ ส่วนความกังวลของการลด QE และการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดมองว่าเป็นเรื่องที่ตลาดรับรู้ไปแล้วในช่วงก่อนหน้า โดยการลด QE ก็จะเป็นการทยอยลด ไม่ได้ทำแรงและเร็ว ขณะที่การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนั้น มองว่าเฟดคงเน้นการลด QE ก่อนที่จะตัดสินใจเรื่องอัตราดอกเบี้ย

หรับการลงทุนในหุ้นที่น่าสนใจและคาดว่าจะดีในอนาคต แนะนำ กลุ่มแบงก์ โดยเฉพาะแบงก์ที่มีปันผลค่อนข้างดี เช่น BBL SCB, TISCO กลุ่มที่ 2 คือ ค้าปลีก อย่าง CPALL HMPRO CPN โดยมองว่าจะเริ่มดีขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ กลุ่มที่ 3 กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ และรับเหมาก่อสร้าง อย่าง STEC CK SPALI และกลุ่ม 4 กลุ่มปันผลดี เช่น MK GPSC

นายณัฐพงศ์ หิรัณยศิริ ประธานฝ่ายบริหาร บริษัท เอ็มทีเอส โกลด์ แม่ทองสุก กล่าวว่า ทองคำยังคงเป็นสินทรัพย์ที่เป็น Safe Haven ประชาชนยังนำทองคำมาขายในช่วงที่เกิดวิกฤติ เช่น ปีก่อนที่เจอการแพร่ระบาดโควิด-19 ระลอกแรก มีการปิดสายการบินต่างๆ ทำให้ราคาทองคำทำระดับสูงสุดใหม่ในปี 63 ที่ 30,000 บาท ส่วนในปี 64 นี้ก็เผชิญกับการแพร่ระบาดของสายพันธุ์เดลต้าอีก

สำหรับสินค้าอื่น ๆ ในกลุ่ม Commodity ก็ปรับราคาขึ้นเช่นกันไม่ว่าจะเป็นเหล็ก หรือทองแดง เกิดจากการที่รัฐบาลในทุกประเทศอัดฉีดเม็ดเงินเข้าไปในระบบเศรษฐกิจ จึงทำให้สินค้าต่าง ๆ ปรับราคาสูงขึ้น

จากการอัดฉีดเม็ดเงินเข้าระบบดังกล่าว ทำให้เศรษฐกิจโลกในปัจจุบันฟื้นตัว ซึ่งปัจจุบันในสหรัฐฯหรือยุโรปก็มีตัวเลขเงินเฟ้อราว 5-6% แล้ว ส่งผลให้นโยบายในหลายประเทศเริ่มมีการวางแผนที่จะปรับลด QE เพื่อควบคุมเงินเฟ้อ ซึ่งถ้าเกิดมีการปรับลด QE ก็จะทำให้ราคาทองคำปรับตัวลดลงในระดับหนึ่ง และเริ่มทรงตัว เพื่อรอเหตุการณ์ใหม่ที่จะเกิดขึ้นต่อไป

“ช่วงสองปีนี้ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) พิมพ์เงินออกมาเป็นจำนวนมาก ถือว่ามากกว่าตลอดสิบปีที่ผ่านมาด้วยซ้ำ ตัวเลขเงินเฟ้อในสหรัฐหรือยุโรปถึงอยู่ที่ราว 5-6% โดยตอนนี้เรามองว่าสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงมากที่สุดคือเงินสด เพราะได้รับผลกระทบจากเงินเฟ้อมาก เนื่องจากมีการใช้นโยบายพิมพ์เงินเหมือนกันหมดในทุกประเทศ ซึ่งถ้ามีการปรับลด QE เกิดขึ้น จากช่วงวิกฤตต่างๆที่ผ่านมา ราคาทองคำจะลงตัวแรก ตามด้วยราคาสินค้าโภคภัณฑ์อื่น ๆ ” นายณัฐพงศ์กล่าว

มุมมองราคาทองคำในระยะสั้น-กลาง แม้ว่าราคาทองคำกำลังจะปรับตัวลดลง แต่อาจจะลงไม่ได้แรงมาก คงต้องรอดูจังหวะในการเข้าซื้อให้ดี โดยจุดที่น่าจะเข้าไปทยอยซื้อเก็บได้น่าจะเป็นช่วง 25,000-26,000 บาทต่อบาททองคำ และยังคงต้องติดตามนโยบายของเฟดอย่างใกล้ชิดด้วยว่าจะมีการปรับลด QE หรือปรับขึ้นดอกเบี้ยอย่างไรบ้าง นอกจากนี้ยังต้องจับตามองผลกระทบความเสื่อมค่าของดอลลาร์ที่ในปัจจุบันเริ่มเห็นสัญญาณการเลิกใช้ดอลลาร์ เช่น ในประเทศจีน ซึ่งทำให้หันมาลงทุนในทองคำมากขึ้น

นายณัฐพงศ์ กล่าวว่า แม้ตลาด Cryptocurrency ในปัจจุบันกำลังเติบโตเป็นอย่างมาก เนื่องจากมีระบบที่รวดเร็ว ตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ แต่อย่างไรก็ตาม Cryptocurrency ยังคงไม่สามารถเป็น Safe Haven เช่นเดียวกับทองคำได้ เนื่องจากมีความผันผวนที่ค่อนข้างสูงและหน่วยงานภาครัฐในหลายประเทศก็ยังไม่ยอมรับ จึงเชื่อว่าสินทรัพย์ทองคำยังคงเป็น Safe Haven ที่แท้จริงและสามารถนำออกมาใช้ได้ในทุกสถานการณ์

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (09 ก.ย. 64)

Tags: , , , ,