นายชัยสิทธิ์ สัมฤทธิวณิชชา กรรมการผู้จัดการ บมจ.เอ็น.ดี.รับเบอร์ (NDR) เปิดเผยว่า แผนธุรกิจของบริษัท อีทราน (ไทยแลนด์) จำกัด (ETRAN) ซึ่งดำเนินธุรกิจผลิตและจำหน่ายรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า ที่ NDR ร่วมลงทุนในสัดส่วน 35% นั้น จะมีการร่วมมือกับพันธมิตรเพื่อกระจายจุดเปลี่ยนแบตเตอรี่ (Swap Station) โดยตั้งเป้าขยายจุดบริการทั่วกรุงเทพฯและปริมณฑล ภายในสิ้นปีอยู่ที่ 5-10 แห่ง และเพิ่มสาขาอีก 1 สาขาเพื่อใช้เป็นโชว์รูมและศูนย์ทดสอบการขับขี่
ขณะที่ในปัจจุบันหลังจากที่กรมขนส่งทางบกกลับมาเปิดให้บริการตามปกติแล้ว บริษัทจะเร่งการนำรถจักรยานยนต์ที่บริษัทผลิตมาทั้งหมดตามจำนวนที่ลูกค้าจองไว้ 1,400 คันไปจดทะเบียน เพื่อเตรียมทยอยส่งมอบให้กับลูกค้าในช่วงที่เหลือของปีนี้ โดยที่ยอดจอง ETRAN มีเข้ามาแล้ว 1,400 คัน ถือว่าเกินกว่าเป้าหมายที่บริษัทตั้งไว้ที่ 1,000 คัน ทำให้มองว่าลูกค้าต่างๆให้การตอบรับที่ดี และมีความสนใจใช้มากขึ้น ดังนั้น ในปี 65 บริษัทจึงตั้งเป้ายอดขายเพิ่มเป็น 12,000 คัน
บริษัทร่วมทุนจึงต้องเตรียมความพร้อมรองรับปริมาณความต้องการสั่งซื้อรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าที่เพิ่มสูงขึ้น โดยในปีนี้จะเพิ่มกำลังการผลิตเป็น 350 คัน/เดือน จากเดิมผลิตได้ 100 คัน/เดือน หลังจากมีคำสั่งจองเช่าและซื้อเข้ามามากกว่าที่คาดการณ์ไว้ และในปี 65 จะเพิ่มกำลังการผลิตเป็น 1,000 คัน/เดือน เพื่อรองรับประมาณการยอดขายให้เพียงพอ โดยมองการเพิ่มไลน์การผลิตที่ 2 ที่จะเข้ามาเสริม พร้อมกับมองหาซัพพลายเอร์ชิ้นส่วนรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น และเตรียมยื่นขอสิทธิพิเศษทางภาษีจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ด้วย
นายชัยสิทธิ์ กล่าวว่า ธุรกิจรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า ETRAN จะเห็นภาพที่ชัดเจนและส่งผลบวกต่อภาพรวมให้กับผลการดำเนินงานของ NDR อย่างชัดเจนมากขึ้นตั้งแต่ปี 65 เป็นต้นไป หลังจากที่เริ่มผลิตและส่งมอบให้กับลูกค้าเต็มที่ทั้งปี โดยง ETRAN จะเป็นหนึ่งในธุรกิจที่เข้ามาผลักดันอัตรากำไร (มาร์จิ้น) ของบริษัทให้เพิ่มขึ้นได้มากกว่าธุรกิจหลัก เนื่องจากเป็นธุรกิจที่ให้มาร์จิ้นค่อนข้างสูง และมีความผันผวนในเรื่องต้นทุนการผลิตน้อยกว่าธุรกิจยางล้อรถ
ในปี 65 เบื้องต้นบริษัทตั้งเป้ารายได้เติบโต 10% ซึ่งยังคงมาจากธุรกิจหลักของบริษัทในการผลิตและจำหน่ายยางรถจักรยานยนต์ โดยบริษัทมองว่าความต้องการใช้จะทรงตัวหรือเติบโตจากปีนี้ได้เล็กน้อย หลังจากที่สถานการณ์ต่างๆ กลับสู่ภาวะปกติมากขึ้น จากในปีนี้ดีมานด์ที่อั้นมาจากปี 63 ที่เริ่มมีสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 อีกทั้งคนเริ่มปรับตัวเข้ากับสถานการณ์และเข้าใจการรับมือมากขึ้น จึงเชื่อว่าปีหน้าคงไม่มีการล็อกดาวน์ประเทศเกิดขึ้นอีก แม้ว่ายังมีความไม่แน่นอนจากการแพร่ระบาดโควิด-19 ที่เกิดขึ้นอยู่บ้างก็ตาม ดังนั้น ตลาดยางรถจักรยานยนต์จะกลับสู่ภาวะปกติ ซึ่งเป็นไปตามทิศทางเดียวกับภาพรวมเศรษฐกิจ
นายชัยสิทธิ์ ยังกล่าวถึงแผนธุรกิจในช่วงที่เหลือของปี 64 ว่า บริษัทได้ปรับกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจและเพิ่มช่องทางการขาย โดยใช้เทคโนโลยีดิจิตอลเพื่อให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น พร้อมเดินหน้าขยายตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อขยายฐานรายได้และกระจายความเสี่ยงของธุรกิจ อีกทั้งได้เริ่มทำการตลาดในประเทศเกาหลีใต้แล้ว หลังจากมองเห็นว่าตลาดดังกล่าวมีมาร์จิ้นสูง โดยที่สัดส่วนรายได้ต่างประเทศของบริษัทในปีนี้อยู่ที่ 60% และในประเทศอยู่ที่ 40%
ขณะเดียวกัน บริษัทยังอยู่ระหว่างการเจรจากับลูกค้าในกลุ่มประเทศยุโรป ซึ่งเป็นหนึ่งกลุ่มประเทศที่บริษัทมองเห็นโอกาสในการเข้าไปเจาะตลาดเพื่อขยายฐานลูกค้าเพิ่มขึ้น อีกทั้งเป็นกลุ่มลูกค้าที่มีรายได้สูง ถือว่าเป็นตลาดหนึ่งที่จะช่วยเข้ามาสร้างมาร์จิ้นให้กับบริษัทสูงขึ้น
แต่อย่างไรก็ตาม บริษัทยอมรับว่าแนวโน้มอัตรากำไรขั้นต้นในปี 64 จะลดลงต่ำกว่าปีก่อนที่ทำได้กว่า 23% ลงมาเหลือราว 20% มาจากแรงกดดันของต้นทุนการผลิตยางรถจักรยานยนต์ที่ปรับตัวสูงขึ้น แต่ในแง่ของรายได้บริษัทยังคงเป้าหมายเติบโต 15% จากปีก่อน
ด้านภาพรวมในครึ่งปีหลังของปี 64 มองว่าจะดีขึ้นจากครึ่งปีแรก แม้ว่าในช่วงไตรมาส 3/64 สถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 จะส่งผลกระทบต่อการส่งมอบสินค้า โดยเฉพาะในมาเลเซียที่มีการล็อกดาวน์ในช่วงเดือน ก.ค. 64 ตลอดทั้งเดือน แต่ปัจจุบันได้มีการคลายล็อกดาวน์มากขึ้นแล้ว ทำให้สามารถทยอยกลับมาส่งมอบสินค้าให้กับลูกค้าได้มากขึ้น ซึ่งในเบื้องต้นบริษัทมองว่ารายได้ในช่วงไตรมาส 3/64 จะใกล้เคียงหรือมากกว่าไตรมาส 2/64 เล็กน้อย
ขณะที่ไตรมาส 4/64 คาดว่าหลังจากหลายประเทศในเอเชียเริ่มคลายล็อกดาวน์ รวมถึงประเทศไทย ทำให้การสั่งซื้อและส่งมอบสินค้าจะกลับมาสูงขึ้นกว่าไตรมาส 3/64 อย่างมีนัยสำคัญ โดยที่สินค้าหลักของบริษัทในกลุ่มยางรถจักรยานยนต์ทั้งยางในและยางนอก ยังมีความต้องการของตลาดในระดับสูง และจากภาพรวมของเศรษฐกิจและการเปิดเมือง ส่งผลให้มีการใช้ยางรถจักรยานยนต์มากขึ้น
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (07 ก.ย. 64)
Tags: ETRAN, NDR, ชัยสิทธิ์ สัมฤทธิวณิชชา, มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า, หุ้นไทย, อีทราน, เอ็น.ดี.รับเบอร์