น.ส.ชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยในเดือนเมษายน 2564 เริ่มได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดระลอกสามของโควิด-19 ส่งผลให้เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนลดลงจากเดือนก่อนในทุกหมวดการใช้จ่าย
ส่วนเครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนปรับลดลงตามการลงทุนหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์ ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวยังไม่ฟื้นตัว จากมาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศที่ยังมีอยู่ อย่างไรก็ดี การส่งออกสินค้าปรับดีขึ้นต่อเนื่องตามอุปสงค์ประเทศคู่ค้า และช่วยพยุงการผลิตภาคอุตสาหกรรม ขณะที่การใช้จ่ายภาครัฐมีบทบาทในการพยุงเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง
ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเร่งขึ้น เนื่องจากมาตรการลดค่าไฟฟ้าและน้ำประปาของภาครัฐสิ้นสุดลง ประกอบกับราคาพลังงานที่ต่ำในระยะเดียวกันปีก่อน ด้านตลาดแรงงานยังเปราะบาง สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลมากกว่าเดือนก่อนเล็กน้อย
น.ส.ชญาวดี กล่าวว่า เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้ว ปรับลดลงจากเดือนก่อนในทุกหมวดการใช้จ่าย เนื่องจากการแพร่ระบาดระลอกสามของโควิด-19 และมาตรการควบคุมการระบาดที่เข้มงวดขึ้น ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจและความเชื่อมั่นผู้บริโภคลดลง แม้มาตรการภาครัฐจะช่วยพยุงกำลังซื้อภาคครัวเรือนได้บางส่วน
เครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วปรับลดลงจากเดือนก่อน ตามการลงทุนหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์ สอดคล้องกับความเชื่อมั่นภาคธุรกิจที่ลดลงจากผลกระทบของการแพร่ระบาดระลอกสาม อย่างไรก็ดี การลงทุนหมวดก่อสร้างปรับเพิ่มขึ้นจากทั้งยอดจำหน่ายวัสดุก่อสร้างและพื้นที่ได้รับอนุญาตก่อสร้าง
มูลค่าการส่งออกสินค้าที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากเดือนก่อน โดยอุปสงค์จากประเทศคู่ค้าที่ฟื้นตัวส่งผลให้การส่งออกปรับดีขึ้นในหลายหมวดสินค้า โดยเฉพาะเครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องจักรและอุปกรณ์ สินค้าเกษตร และสินค้าเกษตรแปรรูป นอกจากนี้ การส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องตามวัฏจักรอิเล็กทรอนิกส์โลกที่อยู่ในช่วงขาขึ้น ทั้งนี้ การฟื้นตัวของภาคการส่งออกช่วยพยุงให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมทรงตัวจากเดือนก่อนในช่วงที่อุปสงค์ในประเทศอ่อนแอ
“การส่งออกยังเป็นตัวช่วยพยุงเศรษฐกิจไทย เพราะในช่วง 2-3 เดือนนี้ การส่งออกปรับดีขึ้นต่อเนื่องตามการฟื้นตัวของอุปสงค์จากประเทศคู่ค้า ซึ่งช่วยพยุงการผลิตภาคอุตสาหกรรมในช่วงที่อุปสงค์ในประเทศยังอ่อนแอ” น.ส.ชญาวดีกล่าว
ด้านมูลค่าการนำเข้าสินค้าที่ไม่รวมทองคำที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ตามการนำเข้าหมวดเชื้อเพลิงเป็นสำคัญ ขณะที่การนำเข้าวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางอื่น ๆ ทรงตัวในระดับสูงสอดคล้องกับการส่งออกที่ฟื้นตัว
การใช้จ่ายภาครัฐที่ไม่รวมเงินโอนหดตัวเล็กน้อยเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน จากรายจ่ายลงทุน ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากฐานสูงในระยะเดียวกันปีก่อนที่มีการเร่งเบิกจ่ายภายหลัง พ.ร.บ. งบประมาณ ปี 2563 ประกาศใช้ อย่างไรก็ดี การใช้จ่ายภาครัฐฯ ยังอยู่ในระดับสูงกว่าค่าเฉลี่ย 3 ปีย้อนหลัง สะท้อนถึงบทบาทในการพยุงเศรษฐกิจที่มีอย่างต่อเนื่อง
จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศยังอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่อง จากมาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศของไทยที่ยังมีอยู่
ด้านตลาดแรงงานยังเปราะบาง และได้รับผลกระทบเพิ่มเติมจากการแพร่ระบาดระลอกสาม โดยเฉพาะผู้ประกอบอาชีพอิสระ สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลมากกว่าเดือนก่อนเล็กน้อย โดยดุลการค้าเกินดุลลดลง จากมูลค่าการนำเข้าที่เร่งขึ้นมากกว่ามูลค่าการส่งออก ขณะที่อัตราแลกเปลี่ยนบาทต่อดอลลาร์ สรอ. อ่อนค่าลงกว่าสกุลเงินคู่ค้าคู่แข่งส่วนใหญ่
“ค่าเงินบาทในเดือนเม.ย. อ่อนค่าลงไปมากจากมี.ค. และอ่อนค่าเกือบที่สุดเมื่อเทียบกับประเทศคู่ค้า ซึ่งเป็นผลมาจากการระบาดของไวรัสโควิด รวมทั้งมีเงินไหลออกจากการนำส่งเงินปันผลคืนกลับประเทศของนักธุรกิจต่างชาติ และการขายหลักทรัพย์” น.ส.ชญาวดีกล่าว
สำหรับปัจจัยที่ยังต้องจับตา เนื่องจากเป็นความเสี่ยงที่อาจกระทบต่อภาคการส่งออก การผลิต และการก่อสร้างในระยะข้างหน้า คือ
1. ตู้คอนเทนเนอร์ไม่เพียงพอ และยังกระจุกตัวอยู่ในบางประเทศ ซึ่งสถานการณ์นี้อาจยืดเยื้อไปถึงไตรมาส 4 ของปีนี้ ทำให้กลุ่มสินค้าที่มี margin น้อยได้รับผลกระทบรุนแรง เช่น อาหารแปรรูป เครื่องนุ่งห่ม ในขณะที่กลุ่มชิ้นส่วนยานยนต์ และเครื่องมือทางการแพทย์ที่ใช้ยางพาราเป็นวัตถุดิบได้รับผลกระทบเพียงเล็กน้อย เนื่องจากผู้ซื้อบางรายชะลอคำสั่งซื้อ และผู้ผลิตบางรายชะลอการผลิต
2. กลุ่ม Semiconductor กำลังการผลิตลดลงจากภัยธรรมชาติในช่วงก่อนหน้า ซึ่งสถานการณ์นี้อาจยืดเยื้อไปถึงต้นปี 65 กลุ่มที่ได้รับผลกระทบบ้าง เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้าบางรุ่นที่ใช้ชิปขั้นสูง ซึ่งการผลิตจะล่าช้าและมีต้นทุนสูงขึ้น ส่วนกลุ่มยานยนต์ได้รับผลกระทบไม่มากนัก เพราะผู้ผลิตบางรายมีการสต็อกวัตถุดิบไว้แล้ว และมีการบริหารจัดสรรชิปให้โมเดลที่มีความต้องการสูงก่อน โดยพบการหยุดผลิตชั่วคราวในบางยี่ห้อและบางรุ่นเท่านั้น
3. สินค้าเหล็กและผลิตภัณฑ์จากเหล็ก จากผลของจีนปิดโรงงานที่ไม่ได้มาตรฐานสิ่งแวดล้อม และจำกัดการส่งออกเหล็ก ซึ่งสถานการณ์อาจยืดเยื้อถึงไตรมาส 3 ปีนี้ ภาวะดังกล่าวส่งผลให้ต้นทุนธุรกิจก่อสร้างสูงขึ้น Margin ลดลง โดยเฉพาะรายเล็กที่อาจพบการทิ้งงาน เนื่องจากขาดทุน ขณะที่รายใหญ่ยังพอแบกต้นทุนได้บ้างจากที่มีสัญญาค่า K ในขณะที่กลุ่มค้าวัสดุก่อสร้าง จะได้รับประโยชน์จากราคาขายที่สูงขึ้น
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (31 พ.ค. 64)
Tags: การส่งออก, ชญาวดี ชัยอนันต์, ธนาคารแห่งประเทศไทย, ธปท., เศรษฐกิจไทย