UBE เตรียมพร้อมขายหุ้น IPO-เข้า SET ภายในปีนี้หลัง ก.ล.ต.นับหนึ่งไฟลิ่ง

บมจ. อุบล ไบโอ เอทานอล (UBE) เตรียมเสนอขายหุ้นสามัญต่อประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) จำนวนไม่เกิน 1,370 ล้านหุ้น หลังจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) นับหนึ่งแบบแสดงรายการข้อมูล (Filing) พร้อมเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ได้ภายในปีนี้

นายเดชพนต์ เลิศสุวรรณโรจน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ UBE เปิดเผยว่า บริษัทเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์แปรรูปจากมันสำปะหลังรายใหญ่ของประเทศไทย โดยมีประสบการณ์ความเชี่ยวชาญในธุรกิจมากว่า 16 ปี ซึ่งเรียกได้ว่าเป็น “Well-Integrated Tapioca Player” หรือ ผู้ผลิตและแปรรูปมันสำปะหลังแบบครบวงจรรายใหญ่ที่สุดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง โดยใช้มันสำปะหลังเป็นวัตถุดิบผลิตทั้งเอทานอลและแป้งมันสำปะหลัง ซึ่งได้นำวัตถุดิบมันสำปะหลังเข้าสู่กระบวนการผลิตมากถึง 1,200,000 ตันต่อปี

นอกจากนี้ UBE ยังได้ศึกษาและพัฒนา เพื่อนำผลพลอยได้จากกระบวนการผลิต เช่น น้ำใช้จากกระบวนการผลิตและกากมันสำปะหลังมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยนำมาเป็นวัตถุดิบตั้งต้นในการผลิตก๊าซชีวภาพเพื่อใช้เป็นพลังงานทดแทนในโรงงานผลิตเอทานอลและแป้งมันสำปะหลัง และผลิตกระแสไฟฟ้าเพื่อใช้หมุนเวียนภายในโรงงานและจำหน่ายให้แก่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.)

นอกจากนี้ ยังขยายสู่การผลิตและจำหน่ายสินค้าทางการเกษตรที่มีมูลค่าสูง (High Value Product หรือ HVP) ชนิดอื่นๆ พร้อมอยู่ระหว่างการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรประเภทอื่นๆ โดยมีความมุ่งมั่นพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรที่มีมูลค่าสูงและมีประโยชน์ต่อสุขภาพ (Premium Agricultural Products) เพื่อผลักดันองค์กรเติบโตไปพร้อมกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจของภาครัฐ

ปัจจุบัน UBE ผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์แปรรูปจากมันสำปะหลังรายใหญ่ของประเทศ ประกอบธุรกิจหลัก 3 ประเภท ได้แก่ 1) ธุรกิจเอทานอล บริษัทเริ่มต้นธุรกิจเอทานอลในปี 54 โดยเข้าร่วมทุนกับ บริษัท ไทยออยล์ เอทานอล จำกัด ในเครือ บมจ.ไทยออยล์ (TOP) และ บมจ.บางจาก คอร์ปอเรชั่น (BCP) ซึ่งเป็นบริษัทชั้นนำ ด้านการกลั่นน้ำมันและสร้างสรรค์พลังงานสะอาด ผ่านการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านกระบวนการผลิตและระบบการบริหารจัดการโรงงานเอทานอล ส่งผลให้บริษัทก้าวขึ้นเป็นผู้นำฐานการผลิตเอทานอลจากมันสำปะหลังรายใหญ่ในประเทศ ด้วยกำลังการผลิตเอทานอล 400,000 ลิตรต่อวัน หรือ 146 ล้านลิตรต่อปี ถือเป็นกำลังการผลิตต่อ 1 สายการผลิตที่ใหญ่ที่สุดในกลุ่มผู้ผลิตเอทานอลจากมันสำปะหลัง ซึ่งสามารถผลิตได้ทั้งเกรดเชื้อเพลิง (Fuel Alcohol) และเกรดอุตสาหกรรม(Industrial Alcohol) โดยใช้เทคโนโลยีไฮบริด ที่มีความทันสมัย และครบวงจร ช่วยควบคุมคุณภาพสินค้าให้ได้มาตรฐาน บริษัทฯ มุ่งเน้นการวิจัยและพัฒนาร่วมกับองค์กรชั้นนำทั้งในและต่างประเทศเพื่อเป็นฐานความรู้ในการเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการผลิตให้มีคุณภาพสูงยิ่งขึ้น

ล่าสุด บริษัทได้รับอนุญาตชั่วคราวจากกรมสรรพสามิตให้สามารถจำหน่ายเอทานอลเกรดอุตสาหกรรมเพื่อใช้ในการผลิตผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดมือ และผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบ ปัจจุบันจัดจำหน่ายผ่านร้านออนไลน์อีคอมเมิร์ซ ภายใต้แบรนด์ UBON BIO และ Klar ซึ่งมีความเข้มข้นของแอลกอฮอล์ 70% สามารถฆ่าเชื้อทำความสะอาดมือ อย่างไรก็ตาม คาดว่ากรมสรรพสามิตอาจพิจารณาขยายระยะเวลาตามความจำเป็นต่อไป

2) ธุรกิจผลิตและจำหน่ายแป้งมันสำปะหลัง เกรดอาหารและเกรดอุตสาหกรรม ภายใต้แบรนด์ “อุบลซันฟลาวเวอร์” ดำเนินการโดย UBS มีผลิตภัณฑ์หลัก คือแป้งมันสำปะหลังออร์แกนิค ซึ่งบริษัทถือเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ของโลก มีปริมาณการส่งออกมากกว่า 20,000 ตันต่อปี และเป็นผู้ผลิตเพียงไม่กี่รายในโลกที่สามารถผลิตแป้งมันสำปะหลังออร์แกนิคที่ได้รับการรับรองมาตรฐานสินค้าออร์แกนิคสากลที่ปลอดสารเคมีตั้งแต่การเพาะปลูก ไปจนถึงการแปรรูป ปัจจุบันมีการวิจัย พัฒนา และสามารถสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ใหม่ ได้แก่ “แป้งฟลาวมันสำปะหลัง” ภายใต้แบรนด์ “Tasuko” และ “Savvy” ที่สามารถใช้ทดแทนแป้งสาลีในอุตสาหกรรมขนม และเบเกอรี่ มีคุณสมบัติเด่น คือ GLUETEN-FREE NON GMO HIGH FIBER โดยบริษัทมีแผนพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อทดแทนการใช้แป้งสาลีในทุกมิติ เช่น ขนมปัง เบเกอรี่ เส้นพาสต้า เส้นราเมน ขนมขบเคี้ยว พิซซ่า แป้งชุบทอด เป็นต้น รวมถึงแป้งทางเลือกเพื่อสุขภาพใหม่ที่ไม่มีกลูเตน ปัจจุบันจำหน่ายในรูปแบบแป้งผสมสำเร็จรูป แพนเค้ก คุกกี้ และบราวนี่ ขายในห้างสรรพสินค้าชั้นนำทั่วประเทศ ทำให้สามารถรองรับการเติบโตไปสู่อุตสาหกรรมอาหารแห่งอนาคต

บริษัทมุ่งมั่นสู่ผู้นำด้านการผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์พรีเมียมจากการแปรรูปมันสำปะหลัง พร้อมรักษาความเป็นผู้นำในตลาดแป้งมันสำปะหลังออร์แกนิคและแป้งฟลาวมันสำปะหลัง ผ่านการทำการตลาดเชิงรุกและมุ่งเน้นการประชาสัมพันธ์สินค้าให้เป็นที่รู้จักในวงกว้างเพื่อขยายฐานลูกค้าให้เพิ่มขึ้น ซึ่งมีกำลังการผลิตแป้งมันสำปะหลังเฉลี่ย 150,000 ตันแป้งต่อปี

และ 3) ธุรกิจเกษตรอินทรีย์ ดำเนินการโดย UBA จากประสบการณ์และความเชี่ยวชาญการบริหารจัดการต้นน้ำ การมีพื้นที่ทางการเกษตร และมีเกษตรกรต้นแบบในการผลิตพืชออร์แกนิค โดยได้เล็งเห็นถึงแนวโน้มการเติบโตของตลาดโลกที่ใส่ใจเรื่องสุขภาพ และธุรกิจเกษตรอินทรีย์ สามารถส่งเสริมอาชีพใหม่ๆ ให้กับเกษตรกรและช่วยเพิ่มมูลค่าให้ธุรกิจ ด้วยการยกระดับผลิตภัณฑ์ อาทิ การผลิตกาแฟออร์แกนิค (Organic Coffee) และข้าวออร์แกนิค (Organic Rice) ผักปลอดสารพิษ และสมุนไพรอินทรีย์ เสริมสร้างระบบนิเวศอินทรีย์ให้เติบโตในประเทศได้มากยิ่งขึ้น ผ่านการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่สร้างมูลค่าเพิ่มจากวัตถุดิบทางการเกษตรประเภทต่างๆ ควบคู่กับการพัฒนาเครือข่ายเกษตรกรที่เข้มแข็ง และส่งเสริมการเกษตรที่มีประสิทธิภาพ ด้วยความร่วมมือระหว่างภาครัฐ เกษตรกร ภาคประชาสังคม และบริษัทฯ ในกระบวนการที่เรียกว่า “อุบลโมเดล” เป็นปัจจัยที่ช่วยส่งเสริมให้ธุรกิจเกิดความสำเร็จอย่างยั่งยืน

กรรมการผู้จัดการใหญ่ UBE กล่าวเพิ่มเติมว่า บริษัทวางเป้าหมายเป็นผู้นำด้านเกษตรอินทรีย์และสร้างสรรค์ธุรกิจที่สร้างมูลค่าเพิ่มจากวัตถุดิบทางการเกษตรอย่างครบวงจร เพื่อส่งเสริมวิถีการเกษตรอินทรีย์และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม พร้อมกันนี้ ยังมุ่งสู่การเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อสุขภาพชั้นนำของโลก โดยจะดำเนินการควบคู่กับธุรกิจพลังงาน เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืนและมั่นคงในระยะยาว ภายใต้นโยบายความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม เพื่อส่งเสริมการเกษตร และพัฒนาชุมชน ให้สามารถดำเนินธุรกิจอยู่ร่วมกันกับสังคมและสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืน

“เรามีกลยุทธ์ทางธุรกิจที่สำคัญ ที่จะสร้างการเติบโตให้เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ ไม่ว่าจะเป็น การมุ่งวิจัยและพัฒนาเพื่อสร้างสรรค์และต่อยอดผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ จากมันสำปะหลังออร์แกนิค พร้อมสร้างความมั่นคงด้านวัตถุดิบ ผ่านการขยายพื้นที่เพาะปลูกมันสำปะหลังทั้งในและนอกประเทศ ด้วยการสร้างระบบการส่งเสริมการเกษตรที่มีประสิทธิภาพ เพื่อรักษาความเป็นผู้นำในตลาดแป้งมันสำปะหลังออร์แกนิค

ในส่วนของธุรกิจเอทานอล บริษัทฯ จะรักษาส่วนแบ่งทางการตลาด ด้วยการรักษาความได้เปรียบด้านต้นทุน และการรักษามาตรฐานการบริการที่เหนือกว่าคู่แข่ง พร้อมขยายการลงทุนต่อเนื่อง ในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตเอทานอล เพื่อสร้างความได้เปรียบด้านต้นทุน พร้อมเป็นต้นแบบในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลพลอยได้จากการผลิต บนพื้นฐานของความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม และการคืนประโยชน์ต่อสังคม รวมถึงจะแสวงหาโอกาสการลงทุนในธุรกิจที่จะสร้าง Ecosystem ของเกษตรอินทรีย์ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ โดยเน้นการสร้างผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูปภายใต้แบรนด์ของเราเอง เพื่อลดความเสี่ยงจากการพึ่งพิงธุรกิจใดธุรกิจหนึ่งเป็นหลัก” นายเดชพนต์ กล่าว

ปัจจุบัน UBE มีทุนจดทะเบียน 3,914,286,000 บาท แบ่งเป็นหุ้นสามัญจำนวน 3,914,286,000 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) 1 บาทต่อหุ้น โดยมีทุนที่ออกและเรียกชำระแล้วจำนวน 2,740,000,000 บาท แบ่งเป็นหุ้นสามัญจำนวน 2,740,000,000 หุ้น และจะเสนอขายหุ้น IPO จำนวนไม่เกิน 1,370,000,000 หุ้น ประกอบด้วย (1) หุ้นสามัญเพิ่มทุนที่เสนอขายโดยบริษัทไม่เกิน 1,174,286,000 หุ้น (2) หุ้นสามัญเดิมที่เสนอขายโดย บริษัท ไทยออยล์ เอทานอล จำกัด ไม่เกิน 97,857,000 หุ้น และ (3) หุ้นสามัญเดิมที่เสนอขายโดย บมจ.บีบีจีไอ (BBGI) ไม่เกิน 97,857,000 หุ้น โดยจำนวนหุ้นที่เสนอขายทั้งหมดคิดเป็นไม่เกิน 35% ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและชำระแล้วทั้งหมดของบริษัทฯ ภายหลังการเสนอขายหุ้นสามัญในครั้งนี้

บริษัทจะนำเงินที่ได้จากการรระดมทุนครั้งนี้เพื่อลงทุนในโครงการที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจในปัจจุบัน ส่วนที่เหลือนำใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจ รวมถึงชำระเงินกู้ยืมจากสถาบันการเงิน

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (30 ส.ค. 64)

Tags: , , , ,