นพ.ธีระ ห่วงคลายล็อกเปิดนั่งทานในร้านอาหารเป็นเสี่ยงสูงท่ามกลางโควิดยังระบาดรุนแรง

นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก “Thira Woratanarat” แสดงความกังวลต่อการผ่อนคลายมาตรการท่ามกลางการระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศที่ยังอยู่ในระดับสูง โดยเห็นว่าการให้เปิดนั่งรับประทานอาหารในร้านได้ท่ามกลางสถานการณ์ระบาดยังรุนแรง ถือว่ามีความเสี่ยงสูง แนะจับตาการระบาดในไตรมาสสุดท้ายปีนี้

นพ.ธีระ ระบุว่า สถานการณ์ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศไทย จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ยังคงอยู่ในระดับสูง และหากนับรวมยอดผู้ติดเชื้อใหม่รายวันกับจำนวนผู้ที่ตรวจพบจาก Antigen test kit (ATK) แล้ว ประเทศไทยจะมีผู้ติดเชื้อรายวันติดท็อป 10 ของโลก

การนับเคสติดเชื้อและการดูแลรักษาผู้ติดเชื้อนั้น จำเป็นต้องมีความสอดคล้องกัน กล่าวคือ หากให้การดูแลรักษาผู้ติดเชื้อจากการตรวจ ATK ด้วยการให้ยาต่างๆ ตามแนวทางการดูแลรักษาที่กำหนด ไม่ว่าจะที่บ้าน หรือที่ศูนย์พักคอย ก็จำเป็นจะต้องรายงานคนกลุ่มนี้ไว้ในตัวเลขของการติดเชื้อรายวันด้วย ถ้าไม่สบายใจว่ายังไม่ได้ตรวจ RT-PCR ก็ให้รายงานทั้งสองตัวเลข และยอดรวมของทั้งสอง เพื่อให้ทุกคนทราบสถานการณ์ ไม่ใช่รายงานแต่ยอดต่ำเป็นหลัก เพื่อแสดงถึงความจริงใจ ความเที่ยงตรง และทันต่อเวลา หากทำเช่นนี้ได้ ก็จะทำให้ประชาชนมีความรู้เท่าทันต่อสถานการณ์ และประพฤติปฏิบัติตัวได้อย่างถูกต้องเหมาะสม

นพ.ธีระ กล่าวว่า กระแสการผลักดันเพื่อเปิดกิจการห้างร้านต่างๆ รวมถึงร้านตัดผม ร้านนวดเท้า ร้านอาหารให้นั่งกิน ฯลฯ นั้น เป็นไปตามที่เคยคาดการณ์และแลกเปลี่ยนให้ฟังมาก่อนหน้านี้แล้วว่า ธรรมชาติของการระบาดจากที่เห็นทั่วโลกนั้น จะตัดวงจรการระบาดได้ ต้องมีนโยบายและมาตรการที่ถูกต้องเหมาะสม และตัดสินใจทำอย่างทันเวลา ส่วนใหญ่มักมีโอกาสสำเร็จสูงหากทำภายในช่วงระยะแรกของการเริ่มระบาด

“หากทำแบบยึกยัก หรือประวิงเวลา โอกาสสำเร็จย่อมลดลงตามลำดับ และนำไปสู่การระบาดหนักหนา ยาวนาน พอถึงจุดนั้น ก็จะยืนระยะไม่ไหว ดังที่เห็นในหลายประเทศที่พยายามยื้อเรื่องเศรษฐกิจ สุดท้ายก็ต้องตัดสินใจล็อคดาวน์ทั้งประเทศอย่างยาวนาน”

 นพ.ธีระกล่าว

อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยดำเนินนโยบายในลักษณะการประคับประคองไปเรื่อยๆ ดังที่เห็นกันว่า ไม่ได้ล็อกดาวน์เต็มรูปแบบ ทำให้มีการติดเชื้อจำนวนมากทุกวัน อย่างต่อเนื่อง และเสียชีวิตจำนวนมากในแต่ละวัน สุดท้ายที่ไม่อยากให้เกิดขึ้นคือ การยืนระยะสู้ไม่ไหว และต้องเปิดให้มีการดำเนินชีวิต ทำมาหากินท่ามกลางการระบาดที่ยังรุนแรง โดยที่ตัดวงจรระบาดไม่ได้ ระบบการตรวจคัดกรองโรคก็จำกัด ระบบสาธารณสุขก็ยังอยู่ในสถานะที่รองรับผู้ป่วยจำนวนมากตลอดเวลา รวมถึงเรื่องวัคซีนที่มีปัญหาทั้งด้านปริมาณ และเรื่องประสิทธิภาพต่อการจัดการสายพันธุ์กลายพันธุ์

“หากเป็นเช่นนี้ ความเสี่ยงที่การระบาดที่รุนแรงจะทวีความรุนแรงมากขึ้นย่อมมีสูง กิจการ กิจกรรมใดๆ หากมีคนจำนวนมากมาอยู่ร่วมกันย่อมเสี่ยงต่อการติดเชื้อแพร่เชื้อ”

 นพ.ธีระระบุ

องค์การอนามัยโลก ยืนยันแล้วว่าไวรัสโรคโควิด-19 ติดได้ทั้งผ่านละอองฝอยน้ำลายน้ำมูก ซึ่งแพร่ได้ในระยะ 1-2 เมตร และที่น่าเป็นห่วงคือ ติดได้ผ่านละอองฝอยขนาดเล็ก โดยไวรัสสามารถแขวนลอยในอากาศได้เป็นเวลายาวนานกว่าครึ่งวัน ทำให้แพร่กันได้ผ่านทางอากาศ (aerosol transmission) แม้ในบริเวณดังกล่าวขณะนั้นไม่มีคนก็ตาม ดังนั้นจึงต้องระวัง ป้องกันตัวให้ดี

การเปิดร้านอาหารให้นั่งกิน ท่ามกลางสถานการณ์ระบาดรุนแรงต่อเนื่องนั้น ถือเป็นความเสี่ยง ทั้งต่อผู้ประกอบกิจการร้านอาหาร คนทำงาน และลูกค้า มีบทเรียนจากประเทศต่างๆ ที่ชี้ให้เห็นแล้วว่า มีการแพร่ระบาดในร้านอาหารได้ นอกจากนี้ คนที่ฉีดวัคซีนแล้วก็ยังสามารถติดเชื้อสายพันธุ์เดลตาได้ และแพร่ให้แก่ผู้อื่นได้ เพราะปริมาณไวรัสในตัวก็อยู่ระดับสูงพอๆ กับคนที่ไม่ได้ฉีดวัคซีน

“ดังนั้นต่อให้ออกกฎเกณฑ์ว่า บุคลากรต้องฉีดวัคซีน หรือลูกค้าต้องฉีดวัคซีนครบ ก็ไม่สามารถการันตีเรื่องความปลอดภัยทั้งต่อบุคลากรที่ทำงานและประชาชนที่มาใช้บริการได้ มีโอกาสติด โอกาสป่วย โอกาสตายได้ทั้งนั้น ไม่ใช่แค่ร้านอาหาร แต่กิจการอื่นที่มีความใกล้ชิดกัน ติดต่อกัน ก็ต้องตระหนักถึงความเสี่ยงที่มี”

สำคัญกว่านั้นคือ ผลกระทบที่จะเกิดเป็นลูกโซ่ คือ การติดเชื้อและนำไปแพร่ต่อเนื่องให้กับคนในที่ทำงานกันเอง และสมาชิกในครอบครัว

ถ้าเหมือนต่างประเทศ จะมีโอกาสที่เราจะเห็นเคสติดเชื้อเพิ่มขึ้นภายใน 41-100 วัน และจำนวนการเสียชีวิตเพิ่มขึ้นภายใน 61-100 วัน หลังประกาศนโยบายนั่งกินในร้านอาหาร แต่อาจเร็วกว่านั้น ถ้าเปิดหลายกิจการหลายกิจกรรมพร้อมกัน ระลอกนี้ที่เจออยู่ยาวนาน คือระลอกสาม และยังไม่สามารถกดลงมาได้อย่างดีเพียงพอ

นพ.ธีระ มองว่า ไตรมาสสุดท้ายมีความน่าเป็นห่วง ขอให้วางแผนการใช้ชีวิตให้ดี ใช้ความรู้ มีสติ และป้องกันตัวอย่างต่อเนื่องใส่หน้ากากสองชั้น ชั้นในเป็นหน้ากากอนามัย ชั้นนอกเป็นหน้ากากผ้า และหากเปิดกิจการ กิจกรรม ด้วยความจำเป็นตามที่บอกไว้ข้างต้น ถ้าจะไปใช้บริการก็ต้องระมัดระวังอย่างเต็มที่ ใช้เวลาให้สั้นที่สุดเท่าที่จะทำได้ ส่วนเรื่องอาหารการกินหรือเครื่องดื่ม ยืนยันว่า”ซื้อกลับ” จะปลอดภัยที่สุด ควรเลี่ยงการนั่งกินดื่มในร้านอาหาร ศูนย์อาหาร หรือโรงอาหาร

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (27 ส.ค. 64)

Tags: , , , , ,