นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยถึงสถานการณ์เศรษฐกิจไทยในเดือนมี.ค.68 ว่า เศรษฐกิจไทยยังได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการส่งออกสินค้าที่ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 9 อย่างไรก็ดี ภาคการท่องเที่ยวต่างชาติ และการบริโภคในหมวดสินค้าคงทน มีแนวโน้มชะลอตัวลง ทั้งนี้ ยังจำเป็นต้องติดตามนโยบายเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าสำคัญ โดยเฉพาะสหรัฐฯ และจีน ที่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยในด้านต่าง ๆ อย่างใกล้ชิดต่อไป
- เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชน มีสัญญาณทรงตัวจากช่วงเดียวกันปีก่อน: โดยปริมาณรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ ในเดือนมีนาคม 2568 เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อน 1.1% สอดคล้องกับรายได้เกษตรกรที่แท้จริง ในเดือนมีนาคม 2568 ที่เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อน 1.7% ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ในเดือนมีนาคม 2568 ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 56.7 เนื่องจากสถานการณ์เศรษฐกิจโดยรวมยังคงฟื้นตัวช้า ค่าครองชีพสูง รวมถึงปัญหาสงครามการค้าที่มีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น ปริมาณรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่ ในเดือนมีนาคม 2568 ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อน -3.1%
- เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการลงทุนภาคเอกชน มีสัญญาณทรงตัวจากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยการลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร สะท้อนจากปริมาณการนำเข้าสินค้าทุน (ตัวเลขเบื้องต้น) ในเดือนมีนาคม 2568 เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อน 11.2% และปริมาณรถยนต์เชิงพาณิชย์จดทะเบียนใหม่ ในเดือนมีนาคม 2568 ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อน -12.1% สำหรับการลงทุนภาคเอกชนในหมวดการก่อสร้าง สะท้อนจากปริมาณจำหน่ายปูนซีเมนต์ภายในประเทศ (ตัวเลขเบื้องต้น) ในเดือนมีนาคม 2568 ขยายตัวจากช่วงเดียวกันปีก่อน 11.8%
- มูลค่าการส่งออกสินค้า ขยายตัวจากช่วงเดียวกันปีก่อน: โดยมูลค่าการส่งออกสินค้ารวมในรูปเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ ในเดือนมีนาคม 2568 อยู่ที่ 29,548.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อนต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 9 ที่ 17.8% และหากพิจารณาเฉพาะมูลค่าการส่งออกสินค้าที่ไม่รวมน้ำมันและสินค้าที่เกี่ยวเนื่อง ทองคำ และยุทธปัจจัย พบว่า ขยายตัว 15.0% ตามการขยายตัวของสินค้าในหมวดเครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับ (ไม่รวมทองคำ) แผงวงจรไฟฟ้า และเครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ ทั้งนี้ เมื่อจำแนกการส่งออกเป็นรายตลาดคู่ค้าหลักของไทย พบว่า ปรับตัวเพิ่มขึ้นในตลาดสหรัฐฯ จีน อาเซียน-5 และอินเดีย
- เครื่องชี้เศรษฐกิจไทยด้านอุปทาน โดยเฉพาะบริการด้านการท่องเที่ยวภายในประเทศปรับตัวดีขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อน: โดยภาคบริการด้านการท่องเที่ยว ในเดือนมีนาคม 2568 มีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทยรวม 2.72 ล้านคน ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อน -8.8% ขณะที่การท่องเที่ยวภายในประเทศ ที่มีผู้เยี่ยมเยือนชาวไทย 22.5 ล้านคน ขยายตัวจากช่วงเดียวกันปีก่อน 2.2% ขณะที่ภาคการเกษตร สะท้อนจากดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตร ในเดือนมีนาคม 2568 เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อน 7.1%
สำหรับภาคอุตสาหกรรม สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม ในเดือนมีนาคม 2568 ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 91.8 จากระดับ 93.4 ในเดือนก่อนหน้า โดยได้รับปัจจัยกดดันจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวในช่วงปลายเดือนมีนาคม 2568 กระทบต่อความเชื่อมั่นนักท่องเที่ยว รวมถึงการชะลอตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศ
- เสถียรภาพเศรษฐกิจยังอยู่ในเกณฑ์ดี: สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนมีนาคม 2568 อยู่ที่ 0.84% ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ 0.86% ส่วนสัดส่วนหนี้สาธารณะ ณ สิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2568 อยู่ที่ 64.2% ต่อ GDP ซึ่งยังอยู่ภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลังที่ตั้งไว้ ตาม พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ส่วนเสถียรภาพภายนอกยังอยู่ในระดับที่มั่นคง และสามารถรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกได้ สะท้อนจากทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2568 ยังคงทรงตัวอยู่ในระดับสูงที่ 245.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
- สถานการณ์เศรษฐกิจโลกยังคงขยายตัว โดยได้รับแรงขับเคลื่อนจากภาคการผลิต และบริการ ถึงแม้การขยายตัวจะเริ่มส่งสัญญาณชะลอตัวลง ขณะที่นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายในหลายประเทศ จะเป็นปัจจัยที่ช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกในระยะต่อไป แต่อย่างไรก็ตาม สถานการณ์การท่องเที่ยวที่เริ่มส่งสัญญาณชะลอตัวลง รวมไปถึงความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ และมาตรการการกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ ถือเป็นปัจจัยกดดันสำคัญต่อเศรษฐกิจโลกที่ยังคงต้องติดตามอย่างต่อเนื่อง ภายใต้สถานการณ์ที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (28 เม.ย. 68)
Tags: พรชัย ฐีระเวช, ภาษีทรัมป์, ส่งออก, เศรษฐกิจไทย