ผู้นำญี่ปุ่นและเวียดนามได้บรรลุข้อตกลงสำคัญวันนี้ (28 เม.ย.) โดยประกาศจัดตั้งเวทีการหารือใหม่ระดับรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศและกลาโหม พร้อมปูทางสู่ความร่วมมือด้านยุทโธปกรณ์และเทคโนโลยีป้องกันประเทศอย่างใกล้ชิดยิ่งขึ้น ท่ามกลางการแผ่อิทธิพลทางทหารของจีนที่เพิ่มมากขึ้นในภูมิภาค
แถลงการณ์ร่วมหลังการหารือ ณ กรุงฮานอย ระบุว่า นายกรัฐมนตรีชิเงรุ อิชิบะ ของญี่ปุ่น และนายกรัฐมนตรีฝั่ม มิญ จิ๊ญ ของเวียดนาม ไม่เพียงแต่เน้นย้ำความร่วมมือด้านความมั่นคง แต่ยังยืนยันเจตนารมณ์ร่วมกันในการปกป้องและส่งเสริมระบบการค้าเสรีพหุภาคี ซึ่งเป็นการส่งสัญญาณที่ชัดเจนท่ามกลางความไม่แน่นอนจากนโยบายภาษีของสหรัฐฯ
สำนักข่าวเกียวโดรายงานว่า ทั้งสองประเทศตกลงที่จะเปิดฉากการประชุมหารือด้านความมั่นคงระดับรัฐมนตรีช่วยแบบ “สองบวกสอง” (2+2) ครั้งแรกภายในปีนี้ที่ประเทศญี่ปุ่น โดยมีเป้าหมายเพื่อเสริมสร้าง “การสื่อสารเชิงกลยุทธ์” ให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น
ยิ่งไปกว่านั้น ญี่ปุ่นกำลังพิจารณาเพิ่มเวียดนามเข้าในรายชื่อประเทศที่มีสิทธิ์ได้รับความช่วยเหลือด้านยุทโธปกรณ์ ภายใต้กรอบความช่วยเหลือด้านความมั่นคงอย่างเป็นทางการ (OSA) ที่ริเริ่มเมื่อปี 2566 ซึ่งหากเกิดขึ้น เวียดนามจะเป็นสมาชิกลำดับที่สี่ของอาเซียน ต่อจากฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ที่ได้รับความช่วยเหลือนี้ โดยเวียดนามพร้อมจะร้องขอการสนับสนุนตามความจำเป็น เพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถในการป้องกันประเทศ
ความร่วมมือนี้ยังขยายไปถึงการเสริมสร้างศักยภาพด้านความมั่นคงทางทะเลของเวียดนามอีกด้วย
ในมิติเศรษฐกิจ ผู้นำทั้งสองเห็นพ้องที่จะแสวงหาลู่ทางความร่วมมือในสาขาเทคโนโลยีล้ำสมัย ไม่ว่าจะเป็นเซมิคอนดักเตอร์ ปัญญาประดิษฐ์ (AI) และเทคโนโลยีควอนตัม ควบคู่ไปกับการผลักดันความพยายามในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนและการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัล
ความเคลื่อนไหวครั้งนี้เกิดขึ้นในขณะที่ญี่ปุ่นกำลังเร่งกระชับความสัมพันธ์ด้านความมั่นคงกับชาติสมาชิกอาเซียนอย่างต่อเนื่อง เพื่อตอบโต้กิจกรรมทางทหารที่เข้มข้นขึ้นของจีนในทะเลจีนใต้ ซึ่งเป็นเส้นทางเดินเรือสำคัญและมีทรัพยากรอุดมสมบูรณ์ แต่ก็เป็นพื้นที่ที่มีการอ้างสิทธิ์ทับซ้อนกันระหว่างจีน เวียดนาม ฟิลิปปินส์ และชาติอาเซียนอื่น ๆ
โครงการ OSA ของญี่ปุ่นนั้น มุ่งช่วยเหลือประเทศกำลังพัฒนาในการเสริมสร้างศักยภาพด้านกลาโหม ครอบคลุมการเฝ้าระวังทางทะเลและทางอากาศ การรับมือภัยพิบัติ และความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม ผ่านการสนับสนุนต่าง ๆ เช่น เรือตรวจการณ์ เรือกู้ภัย และระบบเรดาร์
ขณะเดียวกัน จีนเองก็พยายามกระชับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับหลายประเทศในอาเซียน ผ่านโครงการ “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” (Belt and Road Initiative) โดยประธานาธิบดีสี จิ้นผิง เพิ่งเดินทางเยือนเวียดนาม มาเลเซีย และกัมพูชาเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา
อนึ่ง การประชุมสุดยอดครั้งนี้มีขึ้นท่ามกลางสถานการณ์โลกที่ผันผวนและเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน ทั้งจากนโยบายภาษีของสหรัฐฯ และสงครามการค้าระหว่างสองมหาอำนาจอย่างสหรัฐฯ และจีน
เจ้าหน้าที่ระบุว่า การเยือนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของนายกฯ อิชิบะครั้งนี้ ซึ่งรวมถึงการเดินทางต่อไปยังฟิลิปปินส์ มีเป้าหมายเพื่อกระชับความสัมพันธ์เชิงกลยุทธ์กับทั้งสองประเทศ ผลักดันแนวคิด “อินโด-แปซิฟิกที่เสรีและเปิดกว้าง” และร่วมมือกันปกป้องระบบการค้าเสรีพหุภาคี
นายกฯ อิชิบะเดินทางถึงเวียดนามเมื่อวันอาทิตย์ (27 เม.ย.) นับเป็นการเยือนภูมิภาคนี้เป็นครั้งที่สามนับตั้งแต่เข้ารับตำแหน่งเมื่อเดือนต.ค. โดยในวันนี้ นายกฯ อิชิบะมีกำหนดเข้าพบประธานาธิบดีเลือง เกื่อง และนายเจิ่น ทัญ เหมิน ประธานสมัชชาแห่งชาติเวียดนาม ก่อนจะเดินทางต่อไปยังฟิลิปปินส์ในเช้าวันอังคาร (29 เม.ย.) เพื่อหารือกับประธานาธิบดีเฟอร์ดินานด์ มาร์กอส จูเนียร์ และเดินทางกลับญี่ปุ่นในวันพุธ (30 เม.ย.)
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (28 เม.ย. 68)
Tags: กระทรวงกลาโหม, กระทรวงการต่างประเทศ, จีน, ญี่ปุ่น, เวียดนาม