คลัง-พาณิชย์ ร่วมถกปัญหานอมินี-สวมสิทธิ์สินค้า เน้นตรวจสอบเชิงรุก ดึงความเชื่อมั่นสหรัฐ

นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง พร้อมด้วยนายพิชัย นริพทะพันธุ์ รมว.พาณิชย์ ร่วมแถลงผลการประชุมหารือเรื่องการแก้ไขปัญหาสินค้าและธุรกิจต่างประเทศที่ฝ่าฝืนกฎหมาย พร้อมกำหนดแผนการดำเนินงานในระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว เพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบสินค้านำเข้ามากขึ้น โดยเฉพาะสินค้าที่ด้อยคุณภาพ และราคาต่ำ

รมว.คลัง กล่าวว่า จะมีมาตรการสำหรับสินค้าที่มาจากประเทศต้นทาง ซึ่งได้รับการอุดหนุนมาจากประเทศต้นทาง ทำให้สินค้ามีราคาถูก และไม่ได้คุณภาพ ซึ่งในอดีตการเข้าไปตรวจสอบต้องใช้เวลาระยะเวลานาน โดยการแก้ไขปัญหาดังกล่าวในช่วงระยะสั้นนั้น จะใช้วิธีการเข้าไปตรวจสอบทันทีเมื่อได้รับสินค้าเข้ามา หากสินค้าชนิดใดไม่สามารถอธิบายแหล่งที่มาต้นทุนได้ และไม่ได้มาตรฐานก็จะยกเลิกได้ทันที

นอกจากนี้ จะตรวจสอบสินค้าที่ขายผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ ว่ามีการดำเนินการตามข้อบังคับหรือไม่ เพราะสินค้าที่ขายผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์มักไม่มีฉลาก และไม่มีใบรับรองมาตรฐาน โดยการตรวจสอบนั้น ใช้วิธีการแจ้งไปยังเจ้าของแพลตฟอร์ม เพื่อขอให้ถอดสินค้าดังกล่าวออกจากการขายบนแพลตฟอร์มนั้น

“หมายความว่า เจ้าของทุกแพลตฟอร์มไม่ว่า จะขายที่ไหนในโลก ต้องมาจดทะเบียนอยู่ในประเทศไทย เพื่อให้เป็นคนกลางเชื่อมระหว่างผู้ซื้อ และผู้ขายในไทย ถือจะเป็นมาตรการในระยะสั้นที่จะเร่งทำ”นายพิชัย ระบุ

ขณะที่การตรวจสอบเรื่อง “นอมินี” หรือการให้ต่างชาติเข้ามาถือหุ้นแทนคนไทย เพื่อเลี่ยงการขออนุญาตประกอบธุรกิจตาม พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 นั้น จะต้องมีการเข้าไปตรวจสอบสัดส่วนการถือหุ้น ในสัดส่วน 49% และสัดส่วน 51% ว่ามีเข้าข่ายเป็นนอมินีหรือไม่ มีการใส่เม็ดเงินลงทุนจริงหรือไม่ โดยเรื่องนี้จะเป็นการทำงานร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงมหาดไทย รวมไปถึงต้องมีการตรวจสอบนอมินีเรื่องการถือครองที่ดินด้วย

ส่วนแผนการแก้ไขปัญหาในระยะกลาง และระยะยาว รองนายกฯ และรมว.คลัง กล่าวว่า จะต้องไปทบทวนกฎหมายในหลายฉบับ เพื่อทำให้เป็นสากลมากขึ้น ให้มีการควบคุมและกำกับให้ดีขึ้น และยอมรับว่าในปัจจุบัน ยังมีสินค้าหรือการบริการบางประเภทที่ไม่อนุญาตให้ชาวต่างชาติดำเนินการ ซึ่งมองว่าวันนี้ควรจะอนุญาตให้ดำเนินการได้แล้ว เพราะจะส่งผลดีกับประเทศไทย แต่ต้องมีการทบทวนเรื่องเหล่านี้ เพื่อให้ทั่วโลกเห็นว่า ประเทศไทยไม่ได้ปิดกั้น แต่ต้องทำให้เป็นสากลมากขึ้น

ขณะที่เรื่องสินค้าต่างประเทศมาสวมสิทธิ์สินค้าไทยเพื่อส่งออกนั้น พบว่ามีรายการสินค้าที่ถูกจับตามองจากประเทศสหรัฐอเมริกา อยู่ 49 ชนิด และยังมีการเพิ่มสินค้าอีก 16 ชนิดที่ต้องการมีการเฝ้าระวัง โดยจะมีการเข้าไปตรวจสอบถึงโรงงาน, กระบวนการผลิต และแหล่งที่มาของสินค้า แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดต้องตรวจสอบ Certificate of Origin หรือ CO หรือใบรับรองแหล่งกำเนิดสินค้า ที่จะให้กระทรวงพาณิชย์เข้าไปร่วมตรวจสอบ

“ใบรับรองดังกล่าว ต้องออกโดยประเทศไทย หรือจะให้สภาหอการค้าฯ และสภาอุตสาหกรรมฯ เข้าร่วมตรวจสอบด้วย ซึ่งเดิมทีสามารถออกใบดังกล่าวได้ในพื้นที่กรุงเทพฯ และต่างจังหวัด แต่จะมีการปรับเปลี่ยนให้อยู่กับส่วนกลางเพียงที่เดียว เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่า สินค้าเหล่านั้นเป็นไปตามกติกา และสามารถส่งต่อได้ เพื่อป้องกันปัญหาสินค้าสวมสิทธิ์” รองนายกฯ และรมว.คลัง ระบุ

ส่วนการพิจารณาสินค้าที่สวมสิทธิ์ จำเป็นที่จะต้องมีการตรวจสอบก่อนที่จะมีการไปเจรจากับสหรัฐฯ หรือไม่นั้น นายพิชัย กล่าวว่า ขณะนี้ไทยเริ่มดำเนินการแล้ว และทางสหรัฐฯ ก็ได้เห็นขั้นตอนวิธีการปฏิบัติ ซึ่งหากพึงพอใจก็จะมีการตรวจสอบไปเรื่อย ๆ และอาจจะเพิ่มรายการสินค้าในการตรวจสอบ ทั้งนี้ สหรัฐฯ พอใจในวิธีการสิ่งที่ได้ตรวจสอบเป็นไปตามมาตรฐาน ซึ่งถือว่าเป็นผลดี เพราะการทำเช่นนี้เป็นหลักสากล และยุติธรรมกับผู้ค้าทุกฝ่าย

รองนายกฯ และรมว.คลัง ยังระบุอีกว่า จากการทำงานร่วมกันระหว่างไทยกับสหรัฐอเมริกา พบว่า สหรัฐฯ มีความพอใจในระดับหนึ่ง และทางสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐอเมริกา (USTR) ได้ทำงานร่วมกับศุลกากรของสหรัฐอเมริกา เพื่อจะดูแลเรื่องนี้ โดยจะมีการตรวจสอบไปถึงเรื่องวีซ่าของนักท่องเที่ยวที่มาพำนักอยู่ในประเทศไทยนานเกินกำหนดด้วยว่าใช้วีซ่าผิดวัตถุประสงค์หรือไม่

ด้านนายพิชัย นริพทะพันธุ์ รมว.พาณิชย์ กล่าวถึงการตรวจสอบสินค้าด้อยคุณภาพว่า ได้มีการดำเนินคดีไปแล้วกว่า 29,000 คดี ซึ่งก็จะมีการเพิ่มความเข้มข้นในการตรวจสอบมากขึ้น ส่วนการดำเนินคดีทางกฎหมายกับบริษัทนอมินี ได้มีการจับกุมไปแล้ว 852 บริษัท ทุนจดทะเบียนกว่า 15,000 กว่าล้านบาท อีกทั้งในปัจจุบันพบว่ามีอีก 4 หมื่นกว่าบริษัทที่ต่างชาติถือหุ้นอยู่ ซึ่งก็ต้องไปตรวจสอบว่าเป็นการถือหุ้นผ่าน “นอมินี” หรือไม่ โดยจะได้ดำเนินการแก้ไขในเรื่องนี้

ขณะที่นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า หลักการในการควบคุมสินค้า จะคำนึงถึงคุณภาพชีวิตของผู้บริโภคก่อน โดยได้ดำเนินการตามกฏหมายที่มีอยู่ และจะมีการดำเนินการตรวจสอบสินค้าที่นำเข้าจากทุกประเทศอย่างเท่าเทียมกัน โดยจะต้องคำนึงถึงมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) รวมถึงเรื่องของฉลากที่เป็นสินค้าบางรายการ เช่น อุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าต่าง ๆ ที่ต้องระบุวิธีการใช้งาน โดยต้องระบุเป็นภาษาไทย

ส่วนการตรวจสอบสินค้าสวมสิทธิ์นั้น ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า กรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ซึ่งเป็นผู้ออกใบรับรองแหล่งกำเนิดสินค้า หรือ CO ได้มีการหารือร่วมกับทางสหรัฐฯ ซึ่งกระบวนการจะเริ่มตรวจตั้งแต่โรงงาน และใบรับรองอย่างเข้มงวด โดยมีการตรวจสอบต้นทุน และมีการหารือกับศุลกากรสหรัฐประจำประเทศไทย ซึ่งทางสหรัฐฯ ได้มาดูกระบวนการ และก็พึงพอใจ โดยจะมีการส่งบัญชีสินค้าที่ต้องจับตามองเป็นพิเศษ ซึ่งได้ทำงานร่วมกัน และมีการสอบถามยังมีประเด็นข้อสงสัยตรงจุดใด ซึ่งได้มีการทำงานมาร่วมกันตลอด และทางสหรัฐฯ ก็พึงพอใจ

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (25 เม.ย. 68)

Tags: , , , , ,