นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการรถไฟแห่งประเทศไทยมีมติเห็นชอบให้ขยายเวลาการดำเนินงานตามสัญญาจ้างก่อสร้างโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลจีน ในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค ช่วงกรุงเทพ-หนองคาย (ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพ-นครราชสีมา) สัญญาที่ 4-7 ช่วงสระบุรี-แก่งคอย ออกไปอีก 201 วัน จากเดิมสิ้นสุดสัญญาวันที่ 7 มิถุนายน 2568 โดยกำหนดวันสิ้นสุดสัญญาใหม่เป็นวันที่ 25 ธันวาคม 2568
พร้อมทั้งให้ปรับแผนการประสานงานก่อสร้างให้สอดคล้องกับการขยายสัญญา โดยผู้รับจ้างไม่สามารถเรียกร้องค่าใช้จ่ายหรือค่าทดแทนใด ๆ จากการขยายเวลาดังกล่าว และไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมจากที่ปรึกษาควบคุมงานฯ (CSC) และที่ปรึกษาบริหารโครงการฯ (PMC) รวมทั้งการรถไฟฯ ไม่เสียประโยชน์ และไม่มีผลกระทบต่อการดำเนินโครงการอื่น ๆ
“สาเหตุที่ต้องมีการขยายเวลาออกไป เนื่องจากข้อจำกัดเชิงโครงสร้าง ที่ต้องดำเนินการขออนุญาตใช้พื้นที่จากหน่วยงานเจ้าของกรรมสิทธิ์ (กรมชลประทาน) ตามระเบียบราชการ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้การรถไฟฯ ได้ส่งมอบพื้นที่ทั้งหมดให้กับผู้รับจ้างครบถ้วน 100% แล้ว และจะเร่งรัดให้ดำเนินงานตามกรอบเวลาที่ปรับใหม่ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว” นายวีริศ กล่าว
สำหรับสัญญาที่ 4-7 ช่วงสระบุรี-แก่งคอย มูลค่า 8,560 ล้านบาท ระยะทางกว่า 12.99 กิโลเมตร ครอบคลุมการก่อสร้างสถานีรถไฟความเร็วสูงสระบุรี ศูนย์ซ่อมบำรุง อาคารระบบไฟฟ้า ถนนต่อเชื่อม และโครงสร้างพื้นฐานอื่น ๆ โดยเริ่มดำเนินการก่อสร้างตั้งแต่วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2564
นอกจากนี้ บอร์ด รฟท. ยังมีมติเห็นชอบให้เสนอต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อขออนุมัติดำเนินการก่อสร้างสะพานข้ามจุดตัดทางรถไฟจำนวน 6 จุด ในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา วงเงินงบประมาณรวม 797.29 ล้านบาท แบ่งเป็นค่าก่อสร้าง 774.07 ล้านบาท และค่าควบคุมงาน 23.22 ล้านบาท โดยแยกเป็นสัญญาใหม่อยู่ภายใต้โครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ช่วงกรุงเทพ-หนองคาย (ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพ-นครราชสีมา) จากเดิมที่แผนงานอยู่ในโครงการรถไฟทางคู่ ช่วงคลองขนานจิตร-ชุมทางถนนจิระ (สัญญาที่ 2) ที่ยังไม่ได้ประกวดราคาโครงการฯ เนื่องจากอยู่ระหว่างการปรับแบบและราคา รวมถึงรอการเสนอขออนุมัติจากคณะรัฐมนตรี ทั้งนี้ เพื่อป้องกันผลกระทบต่อการติดตั้งระบบราง ระบบไฟฟ้า และความปลอดภัยของประชาชนในพื้นที่ โดยใช้งบประมาณภายใต้กรอบวงเงินที่ ครม. เคยอนุมัติไว้แล้ว แผนการดำเนินงานใช้เวลา 4 ปี (2568–2571)
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (24 เม.ย. 68)

Tags: การรถไฟแห่งประเทศไทย, รถไฟความเร็วสูง, รฟท., วีริศ อัมระปาล