สรท. เตรียมฝากข้อเสนอรับมือภาษีทรัมป์ให้ “ทักษิณ” ส่งถึงมือ “อุ๊งอิ๊งค์”

ประธานสภาผู้ส่งออกสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เตรียมฝากข้อเสนอแผนรับมือมาตรการเรียกเก็บภาษีศุลกากรตอบโต้ (Reciprocal Tariff) ให้นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ส่งต่อถึงมือ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เพื่อให้พิจารณาดำเนินการเรื่องนี้อย่างรอบคอบ เพราะเป็นกรณีที่ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศอย่างรุนแรง

“เย็นนี้ ผมจะพบกับท่านทักษิณในงานของ American Chamber จะได้นำข้อเสนอนี้ ฝากไปถึงนายกฯ” นายธนากร เกษตรสุวรรณ ประธาน สรท.กล่าว

เนื่องจากสถานการณ์ทางการค้าในปัจจุบันอยู่ในภาวะไม่ปกติ และเกิดการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ขณะที่การนัดเจรจากับสหรัฐฯ ได้เลื่อนออกไปไม่มีกำหนด และไม่มีการระบุถึงเหตุผล แต่เชื่อว่ามาจากความไม่พร้อมของฝ่ายสหรัฐฯ ว่ามีเป้าหมายในการเจรจากับเราอย่างไร

ทั้งนี้ สรท. ได้จัดทำข้อเสนอแผนรับมือ Reciprocal Tariff และการปรับตัวของประเทศไทยในระยะยาว โดยกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบเศรษฐกิจที่จะสร้างความมั่งคั่งในระยะยาว หลังพบความผิดปกติว่ากำลังการผลิตในประเทศปรับตัวลดลงต่อเนื่อง แต่ปริมาณการส่งออกกลับเพิ่มมากขึ้น เพื่อให้การทำงานร่วมกับภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องมีทิศทางที่ชัดเจน

*ประเมินสถานการณ์ 4 ประเด็น

1. สหรัฐฯ จะเจรจากับประเทศคู่ค้าเพื่อหาข้อยุติร่วมกัน และในท้ายที่สุด อาจมีการเรียกเก็บ Reciprocal Tariff ในอัตรา 10%

2. ควรเจรจาโดยแยกมูลค่าการส่งออกสินค้าที่ผลิตภายใต้การลงทุนของสหรัฐฯ และเพิ่มการนำเข้าสินค้าทุนที่ไทยต้องการจากสหรัฐฯ

3. รัฐและเอกชนควรเร่งวางกลยุทธ์รายกลุ่มสินค้าและคู่ค้า โดยต้องคำนึงถึงการเปลี่ยนแปลงของสภาพการค้าและการลงทุนที่ได้รับผลจากนโยบายภาษีนำเข้า และเน้นการกระจายความเสี่ยง และสร้างโอกาสในกรอบความร่วมมือ เช่น อาเซียน-สหรัฐ อาเซียน-ยุโรป อาเซียน-จีน อาเซียน-ญี่ปุ่น อาเซียน-เกาหลี และอาเซียน-อินเดีย

4. เร่งจัดตั้งคณะทำงานเพื่อรับมือรูปแบบการค้าใหม่ โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และมีองค์ประกอบหน่วยงานภาครัฐ ได้แก่ กระทรวงการคลัง กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงการต่างประเทศ รวมถึงหน่วยงานภาคเอกชน ได้แก่ สมาคมธนาคารไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย

*สถานการณ์ของผู้ประกอบการไทย

ในช่วงวันที่ 9-22 เม.ย.ที่ผ่านมา สรท.ได้สำรวจความเห็นของผู้ส่งออกที่เป็นสมาชิกราว 2,200 ราย และหารือร่วมกับกลุ่มอุตสาหกรรมส่งออก พบว่าได้รับผลกระทบแตกต่างกัน ทั้งกลุ่มที่ยังไม่ได้รับผลกระทบ กลุ่มที่ได้รับผลกระทบทางบวก อาทิ คำสั่งซื้อเพิ่มขึ้น ถูกเร่งรัดการส่งมอบสินค้าให้เร็วขึ้น และกลุ่มที่ได้รับผลกระทบทางลบ อาทิ คำสั่งซื้อสินค้าลดลง ยกเลิกคำสั่งซื้อ และลูกค้าผลักภาระต้นทุนภาษีที่เพิ่มขึ้นให้กับผู้ส่งออก เป็นต้น

การรับมือของผู้ประกอบการในปัจจุบัน ประกอบด้วย การเจรจากับลูกค้าเพื่อแบ่งความรับผิดชอบต่อภาระภาษีที่เพิ่มขึ้น ทั้งการปรับลดราคาสินค้ากรณีลูกค้าเป็นผู้ชำระค่าภาษี และการขอขึ้นราคาสินค้ากรณีผู้ส่งออกไทยเป็นผู้ชำระภาษี การชะลอรับคำสั่งซื้อเพื่อดูสถานการณ์ เนื่องจากอัตรากำไรของสินค้าไม่เพียงพอต่อการจ่ายหรือการช่วยจ่ายภาษีให้กับลูกค้า และการหาตลาดอื่นทดแทน เป็นต้น

นอกจากนี้ ผู้ส่งออกกว่า 88.9% ระบุว่าไม่มีการลงทุน และไม่มีแผนหรือความต้องการลงทุนในสหรัฐ เนื่องจากต้นทุนจะสูงขึ้นมาก และ 11.1% ระบุว่ามีบริษัทแม่หรือบริษัทในเครือตั้งอยู่ในสหรัฐฯ แล้ว ขณะที่มีผู้ประกอบการเพียง 31.6% ที่มีการนำเข้าวัตถุดิบจากสหรัฐฯ อาทิ ถั่วเหลือง เครื่องจักรและอุปกรณ์ เม็ดพลาสติก และวัตถุดิบอาหารสัตว์ เป็นต้น เนื่องจากมีแหล่งวัตถุดิบอื่นที่ราคาถูกกว่า และใช้วัตถุดิบภายในประเทศ

โดยมาตรการที่ต้องการให้ภาครัฐช่วยเหลือ ได้แก่ มาตรการทางการเงิน 30% มาตรการทางภาษี 30% มาตรการด้านตลาดใหม่ 35% และมาตรการอื่นๆ

สรท. จึงขอให้ภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เฝ้าระวังสินค้าจากประเทศที่ได้รับผลกระทบจาก Reciprocal Tariff ซึ่งมีแนวโน้มทะลักเข้ามาในประเทศไทย และเป็นคู่แข่งไทยในตลาดโลก โดยเฉพาะสินค้าในกลุ่มผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ ของเล่น เครื่องเล่นเกมส์ ชิ้นส่วนยานยนต์ เครื่องปรับอากาศ เครื่องเสียง และเครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือน ภาชนะบนโต๊ะอาหาร ผลิตภัณฑ์พลาสติก เฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งบ้าน รถโดยสาร สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม เครื่องหนังและรองเท้า เป็นต้น ซึ่งประเทศจีนมีการส่งออกไปยังสหรัฐฯ เป็นสัดส่วนที่สูงมาก และต้องการหาตลาดทดแทน

*เสนอมาตรการป้องกันการนำเข้าและการเข้ามาลงทุนผลิตในประเทศ

1 ข้อเสนอมาตรการต้านการนำเข้าสินค้าด้อยคุณภาพ

1.1 สิ่งที่ต้องกำกับดูแลตั้งแต่ในประเทศต้นทาง

– สินค้าและโรงงานต้องได้รับการรับรองมาตรฐานของประเทศไทย

– สินค้าต้องระบุพิกัดให้ชัดเจน เพื่อให้ศุลกากรไทยสามารถตรวจสอบได้ง่ายขึ้น

– ผู้ส่งออกที่ขายผ่าน E-Commerce Platform ต้องระบุ ID Number ให้ชัดเจนไม่ซ้ำซ้อน

– สินค้าที่จะส่งออกมายังประเทศไทย ต้องแจ้งข้อมูลล่วงหน้า 24 ชั่วโมงก่อนเรือออกจากท่าเรือต้นทาง เพื่อให้ไทยได้ทราบข้อมูลสินค้านำเข้าล่วงหน้า และสามารถตรวจสอบได้อย่างมีประสิทธิภาพ

1.2 เพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบฝ่ายไทย

– ตรวจสอบสินค้านำเข้า 100% เพื่อป้องกันสินค้าด้อยคุณภาพเข้าประเทศ

– ตรวจสอบสินค้าผ่าน Free zone 100% เพื่อป้องกันการสวมสิทธิ์ส่งออก และสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐานที่กำหนดโดยประเทศปลายทาง

– เพิ่มความเข้มงวดในการคุ้มครองผู้บริโภคจากสินค้านำเข้าด้อยคุณภาพ

2. ข้อเสนอมาตรการต้านการลงทุนศูนย์เหรียญ

2.1 ทบทวนสิทธิประโยชน์ตามมาตรการส่งเสริมการลงทุน (BOI) สำหรับการลงทุนใหม่

– ให้เป็นธรรมในการแข่งขันกับผู้ผลิตในประเทศ

– ให้ใช้วัตถุดิบภายในประเทศไม่น้อยกว่า 40% เพื่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มในประเทศ มากกว่าเม็ดเงินลงทุนและมูลค่าการส่งออกที่เพิ่มขึ้น แต่ไม่เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจในประเทศไทย

2.2 กำหนดเงื่อนไขกิจการร่วมลงทุนที่ต้องการรับสิทธิประโยชน์จากการส่งเสริมการลงทุน

– ต้องมีคนไทยเป็นผู้ถือหุ้นส่วนใหญ่ เพื่อให้เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยี และองค์ความรู้ อย่างแท้จริงสู่ภาคการผลิตในประเทศ

– ต้องจัดทำข้อตกลงถ่ายทอดเทคโนโลยี ในทุกกรณีที่มีการร่วมลงทุนกับต่างชาติ

2.3 กำหนดให้กิจการที่ได้รับการส่งเสริม มีสัดส่วนการจ้างแรงงานไทยไม่น้อยกว่า 50% เพื่อพัฒนาศักยภาพแรงงานภายในประเทศ

“การรับดีลจากต่างประเทศเข้ามาของบีโอไอ ขอให้คำนึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับผู้ประกอบการ และประชาชนในประเทศ อย่ามองเพียงเม็ดเงินที่เข้ามาลงทุน แล้วไม่ได้เกิดประโยชน์ต่อประเทศเรา” นายธนากร กล่าว

3. ข้อเสนอมาตรการด้านการส่งเสริมค้าระหว่างประเทศ โดยต้องอัดฉีดงบประมาณสำหรับการจัดกิจกรรมส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ และงบสนับสนุนด้านการตลาดแก่ภาคเอกชน อาทิ SME Proactive ให้มากขึ้น เพื่อประชาสัมพันธ์สินค้าไทยในสายตาคู่ค้าและผู้บริโภคในตลาดโลกอย่างต่อเนื่อง

ซึ่ง สรท. ประเมินว่ามีรายการสินค้าที่ไทยส่งออกไปสหรัฐฯ เป็นจำนวนมาก และสามารถหาตลาดทดแทนได้ อาทิ อาหารสัตว์เลี้ยง อัญมณีและเครื่องประดับ เครื่องจักร เครื่องปรับอากาศ ข้าว อาหารทะเลกระป๋อง ยางธรรมชาติ มอนิเตอร์และโปรเจกเตอร์ ถุงมือทางการแพทย์ น้ำผักและน้ำผลไม้ เป็นต้น

สำหรับกิจกรรมส่งเสริมการส่งออก เพื่อช่วยให้สินค้าไทยเป็นที่รู้จักในสายตาคู่ค้าและผู้บริโภคทั่วโลก อาทิ

1. เพิ่มการจัดงานแสดงสินค้า (Trade Exhibition) ในประเทศ

2. เพิ่มการเข้าร่วมจัด Thailand Pavillion ในงานแสดงสินค้าหลักในต่างประเทศ

3. เพิ่มงบประมาณโครงการ SMEs Proactive เพื่อให้ SMEs สามารถเข้าร่วมงานแสดงสินค้าในต่างประเทศด้วยตนเอง

4. เพิ่มจำนวนกิจกรรม In-store Promotion ในร้านค้าปลีก และห้างสรรพสินค้าในประเทศคู่ค้า

5. เพิ่มกิจกรรม Trade Mission ในกลุ่มประเทศเป้าหมาย

6. เพิ่มกิจกรรม Online Business Matching รายกลุ่มสินค้าและรายประเทศ

7. ให้ข้อมูลคู่ค้าในประเทศเป้าหมาย เพื่อนำเสนอสินค้าให้ตรงกลุ่มเป้าหมาย

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (24 เม.ย. 68)

Tags: , , ,