นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน (ปชน.) แถลงข่าวความคืบหน้ายุทธการโรยเกลือ หรือกระบวนการเดินหน้าตรวจสอบข้อทุจริตและความผิดปกติ หลังการอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีที่ผ่านมา โดยพรรคประชาชนจะดำเนินการทางกฎหมายและกระบวนการต่าง ๆ ต่อ 3 กรณี ประกอบด้วย
1. กรณีนายกรัฐมนตรีใช้ตั๋วสัญญาใช้เงิน (P/N) 9 ฉบับ โดยไม่มีการกำหนดการชำระเงิน ไม่มีดอกเบี้ย สร้างกระบวนการให้ดูเสมือนว่าเป็นการซื้อหุ้นจากบุคคลในครอบครัว และเครือญาติ มูลค่ารวม 4,434.5 ล้านบาท ซึ่งถูกตั้งข้อสงสัยว่าเป็นเจตนาที่แท้จริงในการหลีกเลี่ยงชำระภาษีการรับให้มูลค่า 218.7 ล้านบาท
จากพฤติการณ์ที่ปรากฏ หุ้นเปลี่ยนมือจากบุคคลในครอบครัวและเครือญาติ มาอยู่ในมือของนายกรัฐมนตรีโดยสมบูรณ์แล้ว และนายกรัฐมนตรีก็ได้รับประโยชน์จากการถือหุ้นดังกล่าว ในฐานะเจ้าของหุ้นอย่างเต็มรูปแบบ ในกรณีที่มีการปันผลนายกรัฐมนตรีก็ได้รับการปันผลเป็นที่เรียบร้อยแล้ว แต่ยังไม่เคยมีการชำระเงินค่าซื้อหุ้นมาก่อนแต่อย่างไร ไม่มีการระบุว่าจะชำระเงินค่าซื้อหุ้นกันเมื่อไร ไม่มีกระทั่งภาระในการชำระดอกเบี้ยที่เกิดจากการค้างชำระในการซื้อหุ้น
หากเทียบกับกรณีที่ประเทศสหรัฐอเมริกาหลายกรณี ไม่ว่าจะเป็นคดี Estate of Maxwell หรือ Estate of Berkman ที่มีลักษณะการใช้ตั๋วสัญญาใช้เงินในการทำธุรกรรมเพื่อหลีกเลี่ยงภาษีแบบนี้ ศาลภาษีที่สหรัฐอเมริกา ล้วนมีคำวินิจฉัยให้กรมสรรพากรชนะคดีทั้งสิ้น โดยวางหลักเกณฑ์ที่เป็นสากลไว้ว่าหากตั๋วสัญญาใช้เงินไม่มีเงื่อนไขการชำระหนี้ที่ชัดเจน ไม่มีหลักฐานว่าจะมีความตั้งใจในการชำระหนี้ และมีอัตราดอกเบี้ยเงื่อนไขการซื้อขายหุ้นที่เบี่ยงเบนไปจากธุรกรรมการค้าโดยทั่วไป ย่อมถือได้ว่าไม่ได้มีเจตนาที่จะเป็นการสร้างหนี้ที่แท้จริง แต่เป็นการหลีกเลี่ยงภาษีการรับให้
โดยเมื่อวันที่ 28 มี.ค.68 พรรคประชาชน ได้ยื่นหนังสือถึงอธิบดีกรมสรรพากร เพื่อให้ดำเนินการตามมาตรา 13 สัตต (7) แห่งประมวลรัษฎากร เพื่อให้คณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากร ได้วินิจฉัยกรณีนี้ว่าเป็นนิติกรรมอำพรางเพื่อหลีกเลี่ยงภาษีการรับให้หรือไม่ กรณีนี้ตรวจสอบได้ไม่ยาก
“ทั้งหมดนี้ จะเป็นพยานหลักฐานที่บ่งชี้ได้ว่า นายกรัฐมนตรีมีเจตนาซื้อหุ้นจริง หรือเป็นเพียงการจัดฉากเพื่อหลีกเลี่ยงภาษีเท่านั้น หากคณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากร พิจารณาเรื่องนี้ด้วยความสุจริตและกล้าหาญที่จะปกป้องผลประโยชน์ของประชาชน โดยวินิจฉัยสอดคล้องกับหลักสากล พฤติกรรมดังกล่าวย่อมเป็นการทำนิติกรรมอำพรางเพื่อหลีกเลี่ยงภาษี ซึ่งจะต้องมีการติดตามให้มีการชำระภาษีย้อนหลัง พร้อมแจ้งต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อดำเนินการไต่สวนต่อไป ซึ่งทางพรรคประชาชน จะดำเนินการหลังจากที่คณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากรดำเนินการแล้วเสร็จ” นายวิโรจน์ ระบุ
2. กรณีโฉนด 4 แปลงที่เป็นที่ตั้งของโรงแรม เทมส์ วัลเลย์ เขาใหญ่ แม้ที่ดินของนิคมสร้างตนเองลำตะคอง ตามประกาศคณะปฏิวัติ 2515 จะประกาศให้มีการใช้พื้นที่ดังกล่าวเป็นนิคมสร้างตนเองลำตะคอง แต่ประกาศคณะปฏิวัติดังกล่าว ไม่ได้มีเนื้อหาในการยกเลิกหรือแก้ไขมติคณะรัฐมนตรี 2514 แต่อย่างไร ดังนั้นพื้นที่บริเวณนี้ จึงยังคงมีสถานะเป็นที่ดินที่คณะรัฐมนตรีสงวนไว้เพื่อการรักษาทรัพยากรธรรมชาติ หรือพื้นที่ต้นน้ำลำธารซึ่งห้ามออกโฉนดโดยเด็ดขาด
ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อพิจารณามติคณะกรรมการจัดที่ดินแห่งชาติ 2527 ที่กรมที่ดินได้นำมาอ้างว่ามีการเห็นชอบให้กรมประชาสงเคราะห์อนุญาตให้ราษฎรครอบครองเพื่อทำประโยชน์ตามมาตรา 15 แห่ง พ.ร.บ.การจัดที่ดินเพื่อการครองชีพ 2511 แต่มติดังกล่าวระบุชัดว่าเพียงอนุญาตให้ครอบครองเพื่อทำประโยชน์ แต่ไม่ใช่การให้กรรมสิทธิ์แต่อย่างใด และยังไม่มีหลักฐานใดที่แสดงว่ามติดังกล่าวจะมีการแก้ไขหรือยกเลิกมติคณะรัฐมนตรี 2514 จึงมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าการออกโฉนดทั้ง 4 ฉบับ เป็นการออกโฉนดโดยคลาดเคลื่อนหรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 28 มี.ค. 68 พรรคประชาชน ได้ยื่นหนังสือกับอธิบดีกรมที่ดิน เพื่อดำเนินการเพิกถอนโฉนดที่เป็นที่ตั้งของโรงแรม เทมส์ วัลเลย์ เขาใหญ่ โดยจะมีการติดตามการดำเนินการของอธิบดีกรมที่ดินอย่างต่อเนื่องต่อไป
3. กรณีข้อสงสัยว่าอดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร ได้รับอภิสิทธิ์เหนือผู้ต้องขังรายอื่นหรือไม่ ในฐานะนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นบุตรสาวจะต้องทราบถึงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับอาการเจ็บป่วย รวมถึงการได้รับสิทธิหรืออภิสิทธิ์ใดอย่างชัดเจนตั้งแต่แรก และเมื่อสังคมได้มีการตั้งข้อสงสัยถึงความไม่สมเหตุสมผล นายกรัฐมนตรีแทนที่จะดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริง และชี้แจงต่อสาธารณะ กลับบ่ายเบี่ยงซ่อนเร้น และอำพรางข้อเท็จจริง
นายวิโรจน์ กล่าวว่า พฤติการณ์ดังกล่าว เข้าข่ายการกระทำความผิดตามมาตรา 172 ของ พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต และยังเป็นการกระทำความผิดตามมาตรา 11 (1) ของ พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน เนื่องจากนายกรัฐมนตรี ไม่ได้สั่งการให้มีการสอบสวนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการปฏิบัติของหน่วยงานราชการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง
ในกรณีนี้ พรรคประชาชนได้มอบหมายให้นายรังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ดำเนินการร้องต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อให้มีการดำเนินการไต่สวนและชี้มูลความผิดต่อนายกรัฐมนตรีตามกฎหมายต่อไป
นายวิโรจน์ กล่าวต่อว่า สำหรับข้อเรียกร้องที่ต้องการให้พรรคประชาชน ใช้กลไกด้านจริยธรรมตามรัฐธรรมนูญในการจัดการนายกรัฐมนตรี ไม่ว่าจะเป็นการเข้าชื่อเพื่อให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรส่งคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย เพื่อถอดถอนนายกรัฐมนตรี หรือแม้แต่ข้อเสนอให้พรรคประชาชนดำเนินการให้ ป.ป.ช. ไต่สวนกรณีฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรงเพื่อให้ศาลฎีกาวินิจฉัยนั้น
- จี้นายกฯ มีสำนึกรับผิดชอบด้วยการลาออก ไม่ต้องรอใครไล่
พรรคประชาชนเห็นว่าในเรื่องของจริยธรรม บุคคลที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีหากถูกสังคมและประชาชนตั้งคำถามอย่างต่อเนื่อง และไม่อาจชี้แจงข้อเท็จจริงได้จนสิ้นข้อสงสัย นายกรัฐมนตรีควรต้องมีความสำนึกในตนเอง และแสดงความรับผิดชอบต่อสาธารณะด้วยการลาออกจากตำแหน่งโดยสมัครใจ ไม่จำเป็นต้องให้กลุ่มบุคคลใดบุคคลหนึ่ง ซึ่งเป็นมรดกบาปของการทำรัฐประหาร ขาดความชอบธรรมทางประชาธิปไตย และไม่มีการยึดโยงกับเจตจำนงของประชาชน มาเป็นผู้ชี้นิ้วไล่ให้ออกจากตำแหน่ง
“เรายืนยันว่า การใช้ผ้าที่สกปรกถูบ้าน ไม่อาจทำให้บ้านสะอาดขึ้นมาได้ การใช้น้ำเน่าไล่น้ำเสีย ไม่อาจทำให้น้ำในคูคลองใสสะอาด พรรคประชาชนยืนยันอีกครั้งว่า เราจะไม่ใช้กลไกที่เราไม่ยอมรับในความชอบธรรม ในการจัดการกับสิ่งที่ไม่ชอบธรรมเด็ดขาด เพราะหากทำเช่นนั้น บ้านเมืองก็จะติดอยู่กับวังวนของนิติสงครามที่คณะรัฐประหารได้วางหลุมพรางเอาไว้ และประเทศชาติก็จะไม่สามารถกลับคืนสู่ความเป็นนิติรัฐได้อีกเลย” นายวิโรจน์กล่าว
พร้อมระบุว่า พรรคประชาชน ขอเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีสำนึกในความดีความชั่วของตัวเอง และแสดงความรับผิดชอบด้วยการลาออกจากตำแหน่ง ในขณะที่ยังสามารถรักษาเกียรติภูมิของตำแหน่งผู้นำประเทศเอาไว้ได้ โดยไม่ต้องรอให้กลุ่มบุคคลใดมาชี้หน้ากล่าวหาว่าไม่ซื่อสัตย์สุจริต ไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง จนต้องถูกไล่ออกจากตำแหน่ง เหมือนทรชนที่ถูกจารึกไว้ในประวัติศาสตร์การเมืองไทย
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (21 เม.ย. 68)
Tags: พรรคประชาชน, วิโรจน์ ลักขณาอดิศร