นักบริหารเงินจากธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผยว่า เงินบาทเปิดตลาดเช้านี้ อยู่ที่ 33.12 บาท/ดอลลาร์ แข็งค่าต่อเนื่องจากปิดตลาดเย็นวานนี้ที่ระดับ 33.24 บาท/ดอลลาร์
โดยเคลื่อนไหวในทิศทางเดียวกับค่าเงินภูมิภาคและตลาดโลก เนื่องจากดอลลาร์ปรับตัวอ่อนค่าเมื่อเทียบกับทุกสกุลเงินหลัก หลังตลาดเกิดความกังวลเกี่ยวกับการดำเนินนโยบายกีดกันทางการค้าของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่อาจส่งผลกระทบกลับมาหาตัวเอง ซึ่งสอดคล้องกับที่ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ออกมาเตือนถึงผลกระทบที่ฉุดเศรษฐกิจสหรัฐฯ ให้ถดถอย และทำให้เงินเฟ้อปรับตัวเพิ่มขึ้น
นอกจากนี้ บาทยังมีแรงหนุนให้แข็งค่าจากการทำธุรกรรมค้าทอง หลังสถานการณ์ราคาทองในตลาดโลกเมื่อคืนปรับตัวเพิ่มขึ้นมากกว่า 100 ดอลลาร์/ออนซ์
“บาทแข็งค่าลงมาจากเย็นวานนี้มาก โดยเช้านี้บาทแข็งค่าสุดในภูมิภาค และทำนิวโลว์ในรอบ 6 เดือนนับจากตุลาคมปีที่แล้ว” นักบริหารเงินฯ กล่าว
นักบริหารเงิน ประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในวันนี้ไว้ที่ 32.95 – 33.20 บาท/ดอลลาร์
ปัจจัยสำคัญ
- เงินเยน อยู่ที่ระดับ 142.30 เยน/ดอลลาร์ จากเย็นวานนี้ที่ระดับ 142.82 เยน/ดอลลาร์
- เงินยูโร อยู่ที่ระดับ 1.1381 ดอลลาร์/ยูโร จากเย็นวานนี้ที่ระดับ 1.1360 ดอลลาร์/ยูโร
- อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาท/ดอลลาร์ ถัวเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักระหว่างธนาคารของธปท. อยู่ที่ระดับ 33.332 บาท/ดอลลาร์
- สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กในวันพุธ (16 เม.ย.) เนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับมาตรการภาษีศุลกากรของสหรัฐฯ ได้สั่นคลอนความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่มีต่อดอลลาร์ในฐานะสกุลเงินปลอดภัย
- สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดพุ่งขึ้นทะลุระดับ 3,300 ดอลลาร์ และทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดยได้แรงหนุนจากการอ่อนค่าของสกุลเงินดอลลาร์ และจากการที่นักลงทุนแห่ซื้อทองคำซึ่งเป็นสินทรัพย์ที่ปลอดภัย ท่ามกลางความวิตกกังวลเกี่ยวกับการทำสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ โดยสัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนมิ.ย.เพิ่มขึ้น 106 ดอลลาร์ หรือ 3.27% ปิดที่ 3,346.40 ดอลลาร์/ออนซ์
- ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) แสดงความกังวลต่อความไม่แน่นอนเกี่ยวกับผลกระทบจากการเรียกเก็บภาษีศุลกากรของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งอาจทำให้เฟดตกที่นั่งลำบาก ระหว่างการใช้นโยบายควบคุมเงินเฟ้อ และการกระตุ้นเศรษฐกิจ
- ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เผยการผลิตภาคอุตสาหกรรมโดยรวมของสหรัฐฯ ลดลง 0.3% ในเดือนมี.ค.เมื่อเทียบรายเดือน ขณะที่นักวิเคราะห์คาดว่าลดลง 0.2% หลังจากเพิ่มขึ้น 0.8% ในเดือนก.พ.
- เฟดสาขาแอตแลนตา เผยแบบจำลองคาดการณ์ GDPNow ล่าสุดแสดงให้เห็นว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ หดตัว -2.2% ในไตรมาส 1/2568 จากก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 19 ก.พ. GDPNow คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ ขยายตัว +2.3% ในไตรมาส 1/2568
- กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ เผยยอดค้าปลีกเพิ่มขึ้น 1.4% ในเดือนมี.ค. เมื่อเทียบรายเดือน สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 1.2% หลังจากเพิ่มขึ้นเพียง 0.2% ในเดือนก.พ.เมื่อเทียบรายปี ยอดค้าปลีกเพิ่มขึ้น 4.6% ในเดือนมี.ค. หลังจากเพิ่มขึ้น 3.5% ในเดือนก.พ.
- ธนาคารกลางเกาหลีใต้ (BOK) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 2.75% ในการประชุมวันนี้ โดยมีเป้าหมายที่จะรักษาเสถียรภาพของสกุลเงินวอน ท่ามกลางความไม่แน่นอนของมาตรการภาษีศุลกากรของรัฐบาลสหรัฐฯ โดยคณะกรรมการ BOK ได้ตัดสินใจคงอัตราดอกเบี้ย แม้ว่าเศรษฐกิจภายในประเทศอ่อนแอลงก็ตาม
- ข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญที่จะเปิดเผยวันนี้ ได้แก่ สหรัฐฯ เปิดเผยจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์, ตัวเลขการเริ่มสร้างบ้านและการอนุญาตก่อสร้างเดือนมี.ค. และดัชนีการผลิตเดือนเม.ย. จากเฟดฟิลาเดลเฟีย
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (17 เม.ย. 68)
Tags: ค่าเงินบาท, เงินบาท