ศปถ. เผยยอดอุบัติเหตุสะสมสงกรานต์ 5 วันแรก เจ็บ 1,208 ตาย 171

นายสหรัฐ วงศ์สกุลวิวัฒน์ รองอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยข้อมูลอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ ปี 2568 ของวันที่ 15 เม.ย.68 ซึ่งเป็นวันที่ห้าในการรณรงค์ “ขับขี่ปลอดภัย เมืองไทยไร้อุบัติเหตุ” ว่า มียอดการเกิดอุบัติเหตุ 214 ครั้ง ผู้บาดเจ็บ 209 คน ผู้เสียชีวิต 27 ราย สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ขับรถเร็ว รองลงมา คือ ดื่มแล้วขับ และทัศนวิสัยไม่ดี

ทั้งนี้ ส่วนใหญ่เกิดอุบัติเหตุบนเส้นทางตรง โดยช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ เวลา 18.01-21.00 น. จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด คือ ประจวบคีรีขันธ์ (10 ครั้ง) จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสูงสุด คือ ประจวบคีรีขันธ์ (13 คน) จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด คือ พิษณุโลก (3 ราย)

สรุปอุบัติเหตุทางถนนสะสมในช่วง 5 วันของการรณรงค์ (11-15 เม.ย.) เกิดอุบัติเหตุรวม 1,216 ครั้ง ผู้บาดเจ็บรวม 1,208 คน ผู้เสียชีวิต รวม 171 ราย จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิต (ตายเป็นศูนย์) มี 21 จังหวัด จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสุด คือ พัทลุง (44 ครั้ง) จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสะสมสูงสุด คือ ลำปาง (47 คน) จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด คือ กรุงเทพมหานคร (15 ราย)

นายขจร ศรีชวโนทัย รองปลัดกระทรวงมหาดไทย หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านสาธารณภัยและพัฒนาเมือง ในฐานะประธานการประชุมอนุกรรมการเฉพาะกิจศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนตลอดทั้งปี เปิดเผยว่า จากสถิติการเกิดอุบัติเหตุทางถนน และสถิติการได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปีนี้ ภาพรวมลดลงกว่าปีที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม สาเหตุสำคัญของการเกิดอุบัติเหตุทางถนนสูงสุด ยังคงเป็นการขับรถเร็ว และดื่มแล้วขับขี่ยานพาหนะ ดังนั้น จึงจำเป็นต้องกวดขันพฤติกรรมเสี่ยงของผู้ขับขี่ ตลอดจนบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้น โดยเฉพาะขับขี่ยานพาหนะโดยใช้ความเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด และการดื่มแล้วขับ เพื่อป้องกันและลดพฤติกรรมเสี่ยงหลักในการเกิดอุบัติเหตุทางถนนลงให้ได้มากที่สุด

สำหรับวันนี้ เป็นวันหยุดชดเชยช่วงเทศกาลสงกรานต์วันสุดท้าย ซึ่งจะมีประชาชนเดินทางกลับเข้าสู่กรุงเทพฯ และจังหวัดใหญ่ตามภูมิภาคต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก ทำให้ถนนหลายสายมีปริมาณรถเป็นค่อนข้างมาก จึงเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุทางถนนได้ ศปถ. จึงได้ประสานจังหวัด ปรับแผนการดำเนินงานสร้างความปลอดภัยทางถนนให้สอดคล้องกับสถานการณ์ โดยบูรณาการตำรวจ ทหาร ฝ่ายปกครอง อาสาสมัคร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ บริหารจัดการจราจร และอำนวยความสะดวกในการเดินทางแก่ประชาชนตลอดเส้นทาง โดยเฉพาะจังหวัดที่มีเส้นทางเข้าสู่กรุงเทพฯ และภูมิภาคต่าง ๆ รวมถึงถนนที่มีการจราจรหนาแน่น ให้เร่งระบายรถ เปิดช่องทางพิเศษ ปิดจุดกลับรถ ปรับสัญญาณไฟจราจรให้สอดคล้องกับช่วงเวลาในการเดินทางของประชาชน

อีกทั้งให้เจ้าหน้าที่ประจำจุดตรวจ เข้มงวดการเรียกตรวจยานพาหนะในเส้นทางเสี่ยงอุบัติเหตุ โดยเฉพาะเส้นทางตรง ระยะทางไกล ประเมินความพร้อมของผู้ขับขี่ เพื่อป้องกันอุบัติเหตุจากการง่วงแล้วขับ ตลอดจนอำนวยความสะดวก ดูแลความปลอดภัยของประชาชน ตรวจสอบประชาชน และนักท่องเที่ยวในสถานีขนส่งต่าง ๆ ให้เกิดความเรียบร้อย พร้อมให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบความพร้อมของพนักงานขับรถโดยสารสาธารณะและรถขนส่งสินค้าให้ปฏิบัติตามที่กฎหมายกำหนดอย่างเคร่งครัด รวมถึงตรวจสอบสภาพรถให้มีความพร้อมในการเดินทาง เพื่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของผู้โดยสาร

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (16 เม.ย. 68)

Tags: , , , , , , , , ,