นพ.เฉวตสรร นามวาท ผู้อำนวยการกองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงแผนการจัดสรรการฉีดวัคซีนโควิด-19 สูตรต่างๆ ให้กับประชาชนคนไทย แบ่งเป็น
- กลุ่มเป้าหมายประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไป, ผู้สูงอายุ, ผู้มีกลุ่มโรคเรื้อรัง 7 โรค และสตรีมีครรภ์ที่มีอายุครรภ์ 12 สัปดาห์ขึ้นไป ซึ่งกลุ่มนี้จะได้รับการจัดสรรวัคซีน ดังนี้
- วัคซีนซิโนแวคเข็มที่ 1 และวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าเข็มที่2 ห่างกัน 3 สัปดาห์ ซึ่งเป็นสูตรหลักที่ใช้แก่ประชาชนทั่วไป
- วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า 2 เข็ม ห่างกัน 12 สัปดาห์ ในบางกรณี
ส่วนกลุ่มเป้าหมายเด็ก และวัยรุ่นอายุ 12-18 ปี ที่มีโรคเรื้อรัง 7 โรค รวมทั้งสตรีมีครรภ์ที่มีอายุครรภ์ 12 สัปดาห์ขึ้นไป จะได้รับการจัดสรรวัคซีนไฟเซอร์ 2 เข็ม ห่างกัน 3 สัปดาห์
- กลุ่มเป้าหมายบุคลากรทางการแพทย์ และสาธารณสุขด่านหน้าจะได้รับการจัดสรรวัคซีน ดังนี้
- ผู้ที่ได้รับวัคซีนซิโนแวค หรือวัคซีนซิโนฟาร์มครบ 2 เข็ม ให้วัคซีนไฟเซอร์ หรือวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้ากระตุ้น 1 เข็ม
- ผู้ที่ได้รับวัคซีนซิโนแวค วัคซีนซิโนฟาร์ม หรือวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า 1 เข็ม ให้วัคซีนไฟเซอร์เข็มที่ 2 โดยกำหนดระยะห่างระหว่างโดสตามชนิดของวัคซีนเข็มที่ 1 เป็นหลัก
- ผู้ที่ได้วัคซีนซิโนแวคเข็มแรก จะได้รับวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าเข็มที่ 2 ห่างกัน 3 สัปดาห์
- วัคซีนไฟเซอร์ 2 เข็ม ห่างกัน 3 สัปดาห์
- วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า 2 เข็ม ห่างกัน 12 สัปดาห์
นพ.เฉวตสรร กล่าวยืนยันว่าการฉีดวัคซีนสูตรไขว้ไม่พบอาการไม่พึงประสงค์อื่นๆ นอกเหนือจากการฉีดวัคซีนแบบเดิม
ในส่วนของวัคซีนที่ใช้ในประเทศไทย จะได้รับการส่งมอบวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าครบ 61 ล้านโดสภายในสิ้นปี 64 นี้ เพื่อมาฉีดวัคซีนสูตรไขว้กับวัคซีนซิโนแวคที่ทำการสั่งซื้อไปอีกจำนวน 12 ล้านโดส ส่วนวัคซีนไฟเซอร์ปีนี้เดิมมีทั้งหมด 20 ล้านโดส สามารถหาเพิ่มได้อีก 10 โดส รวมเป็น 30 โดส ซึ่งหลังจากนี้จะมีการทยอยส่งมอบเข้ามาเรื่อยๆ
สำหรับประชาชนที่ได้รับวัคซีนซิโนแวคครบ 2 เข็มแล้ว มีความจำเป็นที่จะต้องได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้น เนื่องจากภูมิคุ้มกันจะเริ่มลดลง ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการประชุม และศึกษาของหลายๆ ฝ่าย ซึ่งคาดว่าจะมีการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นในปี 65 นอกจากนี้ยังต้องจับตาการพัฒนาวัคซีนรุ่นสอง ที่คาดว่าจะผลิตในปีหน้า เนื่องจากมีความสามารถในการป้องกันเชื้อโควิด-19 ที่กลายพันธุ์ได้
ทั้งนี้ จากสถิติผู้ป่วยโรคโควิด-19 ในประเทศไทยเมื่อเทียบกับประเทศเวียดนาม (ข้อมูลตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.-23 ส.ค. 64) พบว่าประเทศไทยมีจำนวนผู้ติดเชื้อเฉลี่ย 20,000 ราย/วัน ซึ่งสูงกว่าเวียดนามที่มีผู้ติดเชื้อเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ประมาณ 10,000 ราย แต่จำนวนผู้เสียชีวิตต่อวันของประเทศเวียดนามกลับสูงกว่าประเทศไทยอยู่ที่ 350 ราย/วัน ในขณะที่ประเทศไทยอยู่ที่ 250 ราย/วัน ทั้งนี้การฉีดวัคซีนในประเทศไทยมีการฉีดวัคซีนไปแล้วกว่า 28% ขณะที่เวียดนามฉีดวัคซีนไปแล้ว 15% ดังนั้นอัตราการเสียชีวิตที่สูงกว่าในประเทศเวียดนามทั้งๆ ที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อน้อยกว่า มีความเกี่ยวเนื่องกับปัจจัยการฉีดวัคซีน เนื่องจากจากการศึกษาพบว่า การฉีดวัคซีนสามารถช่วยลดอัตราการป่วยรุนแรง และลดอัตราการเสียชีวิตได้มากกว่าผู้ที่ไม่ฉีดวัคซีน
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (25 ส.ค. 64)
Tags: COVID-19, lifestyle, กระทรวงสาธารณสุข, ซิโนแวก, วัคซีนต้านโควิด-19, เฉวตสรร นามวาท, แอสตร้าเซนเนก้า, โควิด-19