ส.อ.ท. ประเมินสหรัฐฯขึ้นภาษี ทำไทยเสียหายสูง 8-9 แสนลบ. จี้รัฐเร่งเจรจาต่อรอง

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า วันนี้ได้มีการเรียกประชุมด่วนทุกกลุ่มอุตสาหกรรมที่ส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐฯ เพื่อระดมสมองหามาตรการต่าง ๆ หลังจากนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ประกาศนโยบายภาษีศุลกากรตอบโต้ (Reciprocal Tariffs) ซึ่งไทยถูกเรียกเก็บภาษีสูงถึง 36% มากกว่าที่ภาครัฐและเอกชนคาดการณ์ไว้เกือบ 3 เท่าตัว คาดมูลค่าเสียหายจากการขึ้นภาษีดังกล่าวราว 8-9 แสนล้านบาท

โดยที่ประชุมพบปัญหาและอุปสรรคทางการค้าที่เกี่ยวข้องกับประเทศไทย ดังนี้

*อุปสรรคทางการค้าที่มิใช่ภาษี (Non-Tariff Barriers -NTB)

1.อัตราภาษีสูงและข้อจำกัดด้านการนำเข้า

– สินค้าเกษตร: อัตราภาษีนำเข้าสูงในสินค้าเนื้อวัว เนื้อหมู เนื้อสัตว์ปีก ผลิตภัณฑ์นมและอาหารแปรรูป

– ยานยนต์และชิ้นส่วน: เผชิญภาษีนำเข้าสูง

– เครื่องดื่มแอลกอฮอล์: ภาษีนำเข้าไวน์สูงถึง 400%

2.มาตรการด้านสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช (SPS Measures)

– จำกัดการนำเข้าเนื้อวัวที่มีอายุมากกว่า 30 เดือน (BSE)

– ห้ามนำเข้าเนื้อหมูที่มีสารเร่งเนื้อแดง (Ractopamine)

– ห้ามนำเข้าเนื้อสัตว์ปีกจากบางรัฐของสหรัฐฯ (HPAI)

3.ขั้นตอนศุลกากรและการอำนวยความสะดวกทางการค้า

– กระบวนการศุลกากรซับซ้อน ประเมินมูลค่าไม่แน่นอน มีความเสี่ยงในการทุจริต

*อุปสรรคด้านการลงทุน

1.ข้อจำกัดภายใต้ พ.ร.บ.ประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว (FBA)

– ต่างชาติถือหุ้นได้ไม่เกิน 49% ในภาคบริการการเกษตร และโทรคมนาคม

2.ข้อจำกัดด้านการเปิดเสรีการลงทุน

– แม้ BOI ให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี แต่ยังมีเงื่อนไขที่ซับซ้อนในการขออนุญาต

3.การค้าดิจิทัลและข้อกำหนดด้านข้อมูล (Digital Trade & Data Localization)

– พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (PDPA) ข้อมูลบางประเภทต้องถูกจัดเก็บในไทย

– ข้อจำกัดการถ่ายโอนข้อมูลข้ามพรมแดน สร้างความไม่แน่นอนต่อบริษัท Fintech และ Cloud

*การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา (IP Protection)

1.ประเทศไทยอยู่ในบัญชีเฝ้าระวังพิเศษ (Special 301 Watch List)

2.ปัญหาละเมิดลิขสิทธิ์ออนไลน์ เว็บไซต์ผิด กฎหมายส่งผลเสียต่อผู้ผลิตเนื้อหาสหรัฐฯ

3.สินค้าลอกเลียนแบบ เสื้อผ้า และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์

4.การบังคับใช้กฎหมายยังไม่มีประสิทธิภาพ

*อุปสรรคด้านการค้าเกษตร

1.ข้อจำกัดเกี่ยวกับสารกำจัดศัตรูพืชและพืชดัดแปลงพันธุกรรม (GMO) ระบบใบอนุญาตนำเข้าและโควต้ากระบวนการยุ่งยาก โดยเฉพาะเนื้อหมูและผลิตภัณฑ์จากนม

*กลุ่มอุตสาหกรรมของไทยที่ได้รับผลกระทบ ได้แก่

– อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน ซึ่งถูกเก็บภาษีในอัตรา 25% ตั้งแต่เดือน มี.ค.68 อาจส่งผลต่อการตัดสินใจของบริษัทแม่ในการย้ายฐานการผลิต ขณะที่รถมอเตอร์ไซค์ ซึ่งเป็นสินค้าหลักที่ไทยส่งออกไปสหรัฐฯ มากกว่ารถยนต์ อาจต้องเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นจากประเทศคู่แข่ง

– อุตสาหกรรมอาหาร ได้รับผลกระทบโดยตรง โดยเฉพาะอาหารแปรรูปและสินค้าประมง เช่น ปลาทูน่าและกุ้งแปรรูป ซึ่งเดิมมีอัตราภาษี 0% แต่ถูกปรับขึ้นเป็น 36% ส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการไทย

– อุตสาหกรรมพลาสติก ซึ่งมีมูลค่าธุรกิจระหว่าง 5-6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ก็กำลังเผชิญกับแรงกดดันอย่างหนัก หากอัตราภาษีเพิ่มขึ้นเป็น 36% อาจทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้นและสูญเสียส่วนแบ่งตลาด

– อุตสาหกรรมเคมี มีมูลค่าส่งออกไปสหรัฐฯ ประมาณ 2 พันล้านดอลลาร์ คิดเป็น 11% ของทั้งหมด ซึ่งอาจลดลงหากมาตรการภาษีของสหรัฐฯ ยังคงดำเนินต่อไป

– อุตสาหกรรมเครื่องจักรและอุปกรณ์อุตสาหกรรม ได้รับผลกระทบอย่างชัดเจน โดยมูลค่าการค้าลดลงจาก 4.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เหลือ 1.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

– อุตสาหกรรมสิ่งทอ อาจต้องชะลอการผลิตและการส่งออก เนื่องจากผู้ซื้อต่างประเทศอาจปฏิเสธรับมอบสินค้าไทยเพราะต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจากภาษีนำเข้าสูง

– กลุ่มอุตสาหกรรมเหล็กและกลุ่มอุตสาหกรรมอลูมิเนียมได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่อง เพราะถูกเก็บภาษี 25% ตั้งแต่แรกแล้ว ซึ่งส่งผลให้ต้นทุนการส่งออกไปยังตลาดสหรัฐฯ สูงขึ้น ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมนี้อาจต้องเผชิญกับการคำสั่งซื้อที่ลดลงของคำสั่งซื้อและความสามารถในการแข่งขันในระดับสากล เนื่องจากคู่แข่งจากประเทศที่มีอัตราภาษีต่ำกว่ายังคงสามารถรักษาต้นทุนที่ต่ำกว่าได้

แต่ในทางกลับกัน อุตสาหกรรมรองเท้าอาจได้รับประโยชน์จากสถานการณ์นี้ เนื่องจากประเทศคู่แข่งอย่างเวียดนามและกัมพูชา ถูกเก็บภาษีสูงกว่า ทำให้สินค้าไทยสามารถแข่งขันในตลาดสหรัฐฯ ได้ดีขึ้น

*ถกคลังร่วมหาแนวทางรับมือ

เมื่อวานนี้ (3 เม.ย.) ส.อ.ท.ได้ประชุมร่วมกับกระทรวงการคลังเพื่อหามาตรการรับมือและหารือกับสหรัฐฯ อาทิ

1.เจรจาสร้างความสมดุลการค้าสหรัฐฯ ทั้งการนำเข้าและส่งออก โดยจะเสนอแนวคิดที่สร้างสรรค์ เช่น การนำเข้าสินค้าเกษตรจากสหรัฐฯ เพื่อมาแปรรูปและส่งออกมากยิ่งขึ้น

2.แก้กฎหมายและภาษีนำเข้าไทย เพื่อสนับสนุนการนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ โดยประเทศไทยมีความพร้อมที่จะนำเข้าจากสหรัฐฯ ประมาณ 4-5 รายการ เช่น ข้าวโพด และปลาทูน่า เป็นต้น

3.ออกมาตรการออกใบรับรองแหล่งกำเนิดสินค้า เพื่อเป็นหลักฐานว่ามีการผลิตจากในประเทศไทยจริง เช่น ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์และแผงโซล่าเซลล์ เป็นต้น

4.ทบทวนภาษีและมาตรการกีดกันที่ไม่ใช่ภาษี (Non-tariff barriers) เช่น กรณีรถมอเตอร์ไซค์ที่ไทยมีการตั้งภาษีไว้สูง

ประธาน ส.อ.ท.ได้มอบหมายให้แต่ละกลุ่มอุตสาหกรรมไปศึกษาข้อมูลภายในกลุ่มเพิ่มเติมว่าได้รับความเสียหายมากน้อยเพียงใด และหาจุดยืนร่วมกัน เพื่อ ส.อ.ท.จะได้นำข้อมูลมาวิเคราะห์และเสนอแนวทางให้แก่รัฐบาลเพื่อพิจารณาต่อไป

อย่างไรก็ดี ภาครัฐและเอกชนได้ร่วมเจรจาเพื่อเตรียมรับมือนโยบายขึ้นภาษีนำเข้าจากสหรัฐฯ ล่วงหน้าเรียบร้อยแล้ว เพื่อพิจารณาแลกเปลี่ยนสินค้าต่อรองกับสหรัฐฯ เบื้องต้นมีกรอบสินค้าเกษตรหลายตัวที่จะเปิดให้มีการนำเข้าจากสหรัฐฯ มากขึ้น เช่น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และสินค้าหนัก อาทิ อาวุธยุทโธปกรณ์ เครื่องบินรบ โดรน เป็นต้น

ดังนั้นภาครัฐต้องเร่งเจรจาต่อรองกับสหรัฐฯ อย่างเร่งด่วน ไม่ใช่แค่ลดการเกินดุลการค้าสหรัฐฯ เท่านั้น แต่ต้องเร่งแก้ปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์และทรัพย์สินทางปัญญาและต้องออกมาตรการเร่งด่วนเกี่ยวกับการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศไม่ให้เข้ามาทุ่มตลาดในประเทศเหมือนเช่นปัจจุบัน

*ยอดส่งออกรถยนต์กระทบแน่!! ขอเวลา 2-3 เดือน ประเมินความเสียหาย

นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ ที่ปรึกษาประธานฯ และโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ ส.อ.ท. ระบุว่า เรื่องนี้ส่งผลกระทบให้ยอดส่งออกลดลงแน่นอน แต่ขณะนี้ยังไม่สามารถประเมินความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับอุตสาหกรรมยานยนต์ โดยต้องรอดูสถานการณ์อีกสัก 2-3 เดือนจึงจะประเมินความเสียหายได้ชัดเจน

“ยังเร็วเกินไป คาดว่าจะประเมินผลได้ราวไตรมาส 3/68 เพราะมาตรการดังกล่าวส่งผลให้การค้าทั่วโลกเกิดการเปลี่ยนแปลง ต้องดูว่าคู่ค้าจะตัดสินใจอย่างไร” นายสุรพงษ์ กล่าว

โดยปีนี้ ส.อ.ท.ตั้งเป้ายอดผลิตรถยนต์ไว้ที่ 1.5 ล้านคัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 2.11% แบ่งเป็น ผลิตเพื่อการส่งออก 1 ล้านคัน และผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศ 5 แสนคัน

สำหรับมาตรการภาษีของสหรัฐฯ ที่ส่งผลกระทบต่อประกอบการอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทยจะมี 2 ส่วนคือ การกำหนดภาษีนำเข้ารถยนต์ 25% และการเรียกเก็บภาษีตอบโต้ 37% โดยรอดูท่าทีของประเทศคู่ค้าว่าจะตัดสินใจในการนำเข้าชิ้นส่วนยานยนต์จากแหล่งใด

ผลกระทบจากมาตรการดังกล่าวอาจสร้างแรงกดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของนโยบายการการค้าระหว่างประเทศ โดยการจับเจรจาการค้าเพื่อจับกลุ่มค้าขายกันเอง ทั้งในระดับทวภาคี และพหุภาคี เพื่อทดแทนการส่งออกไปสหรัฐฯ เช่น กลุ่ม BRICS ที่ประกอบด้วย บราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน และแอฟริกาใต้ ซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจเป็นอันอับสองของโลก และมีประชากร 3.6 พันล้านคน หรือราว 45.5% ของประชากรโลก

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (04 เม.ย. 68)

Tags: , ,