นายจรูญพันธ์ วัฒนวงศ์ หัวหน้าฝ่ายวิจัย บล.ลิเบอเรเตอร์ กล่าวว่า นักวิเคราะห์อยู่ระหว่างติดตามว่ารัฐบาลจะสามารถเจรจากับทางการสหรัฐเพื่อให้ปรับลดอัตราเรียกเก็บภาษีการค้าจากไทยลงจาก 37% ได้หรือไม่ โดยคาดหวังว่าอัตราภาษีจะปรับลงมาประมาณ 15% หนุนหุ้นไทยฟื้นปลายไตรมาส 2/68 โดยจะทบทวนเป้าหมายดัชนี SET ที่ประเมินไว้สิ้นปี 68 ที่ 1,320 จุด ซึ่งหากเจรจาไม่สำเร็จมองว่า SET มีโอกาสปรับลงไปถึง 1,100 จุด และกำไรต่อหุ้น (EPS) อาจจะลดลงเหลือ 88 บาท แต่เชื่อว่าจะไม่หลุดที่ระดับดังกล่าว
“ต้องจับตาภาครัฐจะหาทางแก้ไขประเด็นมาตรการเรียกเก็บภาษีของสหรัฐ หากไม่สามารถบรรเทาผลกระทบจากการขึ้นภาษีได้ มีโอกาสที่นักวิเคราะห์จะปรับประมาณการณ์อีก หลังจากต้นปีนักวิเคราะห์ปรับประมาณการณ์ EPS จาก 96.30 บาท มาเป็น 95.17 บาท ยังมีโอกาสปรับประมาณการณ์ได้อีกจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว และความเสี่ยงมาตรการภาษีสหรัฐที่สูงกว่าคาด”นายจรูญพันธ์ กล่าว
อย่างไรก็ตาม จากการประกาศมาตรการภาษีของสหรัฐที่ปรับขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากไทย 37% หากเทียบกับสงครามการค้าในอดีตระหว่างสหรัฐและจีน ส่งผลให้ปริมาณส่งออกจากจีนไปสหรัฐลดลง 15% หากใช้ตัวเลขเดียวกันปริมาณส่งออกจากไทยไปยังสหรัฐอาจลดลง 15% เช่นกัน ซึ่งจะมีผลกระทบต่อ GDP ราว 0.3-0.9%
ขณะที่ปัจจัยที่อาจเข้ามาช่วยหนุนตลาดหุ้นไทยได้ คือ มาตรการกระตุ้นภาคการบริโภคของภาครัฐ เนื่องจากปัจจุบันเครื่องจักรทางเศรษฐกิจอื่น ๆ มีปัญหา อาทิ การส่งออก การเบิกจ่ายงบภาครัฐที่ยังตึงตัว การลงทุน FDI ชะลอตัวจากมาตรการภาษี เหลือแค่ภาคบริโภค หรือ Consumption ที่ยังคาดหวังได้อยู่ รวมทั้งการขับเคลื่อนนโยบายการเงินและการคลัง คาดหวังจะเป็นอีกหนึ่งตัวช่วยกระตุ้นบริโภคได้
ขณะเดียวกัน ทิศทางดอกเบี้ยขาลงเป็นโอกาสให้หุ้นปันผลมีความน่าสนใจมากขึ้น โดยนักเศรษฐศาสตร์จากโกลด์แมน แซคส์ มองว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงถึง 3 ครั้งในปีนี้ แนวโน้มดอกเบี้ยลงเร็วกว่าคาดจะหนุนให้ตลาดหุ้นไทยกลายเป็นตลาดที่น่าสนใจสำหรับคนที่ลงทุนหุ้นปันผล นอกจากนี้ จากสถานการณ์ความไม่แน่นอนของนโยบายภาษีสหรัฐ ทำให้ไม่เอื้อต่อการลงทุน ดังนั้นหุ้นปันผลเป็นตัวเลือกที่ดี อย่างไรก็ตาม หุ้นปันผลอย่าดูแค่ Yield แต่ต้องดูความสม่ำเสมอในการจ่ายปันผลด้วย
“ช่วงที่ผ่านมา การซื้อคืนแต่ยืนไม่ได้ มีเยอะ … สิ่งที่ดีคือบริษัทควรเก็บเงินไว้ถ้าสถานการณ์ลงทุนไม่เอื้อก็คืนผู้ถือหุ้น”นายจรูญพันธ์ กล่าว
ขณะที่เหตุการณ์แผ่นดินไหว ประเมินว่าผลกระทบต่อเศรษฐไทยไม่มาก ประมาณ 0.1% ของ GDP แต่กระทบในเชิง Sentiment มากกว่า อย่างไรก็ตาม แนะระมัดระวังกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ฯ ซึ่งก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหว กลุ่มอสังหาฯ มีอัตราการขายโครงการเปิดตัวใหม่ (Absorption Rate) ในปี 67 ที่ 2% ปัจจุบัน ลดลงมาที่ 1.8% และหลังจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว มองว่า Absorption Rate จะต่ำลงมาอีก
จากประเด็นดังกล่าวยังกระทบกับตลาดหุ้นกู้ ซึ่ง 3 ไตรมาสที่เหลือของปี 68 จะมีหุ้นกู้ระยะยาวในกลุ่มอสังหาฯ ที่จะครบกำหนดไถ่ถอน 1.21 แสนล้านบาท เมื่ออัตราการขายโครงการใหม่ลดลง ก็อาจกระทบต่อการชำระหนี้หุ้นกู้ ประเด็นดังกล่าวเป็นความเสี่ยงสำคัญที่ต้องระมัดระวัง
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (04 เม.ย. 68)
Tags: จรูญพันธ์ วัฒนวงศ์, หุ้นไทย