การเมืองหลังผ่านศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งแรกของน.ส. แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้รับความไว้วางใจไปอย่างท่วมท้น แสดงเสถียรภาพรัฐบาลยังแนบแน่น นักวิชาการให้นายกฯ สอบผ่านระดับหนึ่ง ลีลา-ท่าทางพอใช้ได้ ส่วนของเนื้อหาสาระการอภิปรายอาจมีผิดพลาดบ้าง การชี้แจงเรื่องการทำงานก็ยังไม่ชัดเจนมากนัก
นายสติธร ธนานิธิโชติ ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า กล่าวว่า รัฐบาลภายใต้การนำของน.ส.แพทองธาร เพิ่งทำงานไม่กี่เดือน นโยบายที่เป็นรูปธรรมยังไม่มีออกมาชัดเจน ทำให้ยุทธการ “เปิดแผล” ของฝ่ายค้านไม่ค่อยมีมากนัก ข้อมูลที่มีเพียงจำกัด บวกกับรัฐบาลยังไม่มีแผลอะไรมาก จึงอภิปรายได้แค่บางเรื่อง เช่น การแจกเงินหมื่นไป 2 เฟส รวมถึงการบริหารงานของรัฐบาลในการแก้ปัญหาตามสถานการณ์ เช่น การส่งชาวอุยกูร์กลับประเทศจีน เพียงเท่านั้น จึงมุ่งเน้นไปที่ภาวะผู้นำโดยตรง ในเรื่องของความรู้ความสามารถ ประสบการณ์ การบริหารจัดการสถานการณ์
นอกจากนี้ รัฐบาลดูเหมือนจะรู้จังหวะว่านโยบายใดที่สุ่มเสี่ยงก็เลือกเก็บไว้ก่อน แต่พอผ่านศึกอภิปรายก็เดินหน้าต่อทันที อย่างเช่น “โครงการ Entertainment Complex” ที่เข้าสู่ประชุมคณะรัฐมนตรีทันทีหลังการอภิปราย
นโยบายเศรษฐกิจ วัดฝีมือรัฐบาลอยู่หรือไป?
สำหรับการทำงานของรัฐบาลหลังจากนี้ นายสติธร มองว่า ระยะเวลาของรัฐบาลที่เหลือประมาณ 2 ปีนับจากนี้ ถ้าหากจะอยู่ครบเทอม รัฐบาลต้องเข็นนโยบายแบบ “ได้-เสีย” ออกมา คือ เป็นนโยบายที่ได้รับความนิยม หรือ เสียความนิยมไปเลย
ตัวอย่างที่เห็นชัดเจนสุด คือ “Entertainment Complex” หากเดินหน้าแล้วโครงการออกมาดี เกิดเม็ดเงินลงทุน ช่วยขยับตัวเลขเศรษฐกิจ แม้โครงการจะไม่ออกมาทันที แต่เป็นโครงการลงทุนขนาดใหญ่ก็อาจทำให้ประชาชนเกิดความเชื่อมั่นและกระตุ้นเศรษฐกิจในภาคอื่น ๆ ได้
แต่อีกด้านกระแสต่อต้าน Entertainment Complex ที่เริ่มออกมา ต้องดูว่า รัฐบาลสามารถจัดการได้หรือไม่ และอาจจะส่งผลเสียได้ หากพบว่า มีเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน หรือ ความโปร่งใสในการเปิดประมูลโครงการ ถ้าหากพบว่า มีการดีลกับกลุ่มทุนรายใหญ่ไว้ และต้องจับตาว่าผลพวงทางเศรษฐกิจจากโครงการนี้ สามารถทำได้ตามที่วางไว้หรือไม่
“ยังไงโครงการ Entertainment Complex ก็ต้องออก เพราะมันเป็นตัวเริ่ม คือ อย่างน้อยพิสูจน์ว่า เริ่มได้ และระยะสั้นอย่างน้อยต้องซื้อความเชื่อมั่น พอรัฐบาลผลักโครงการใหญ่ ๆ ออกไปได้ ซึ่งในแง่เศรษฐกิจพวกนักลงทุนเชื่อมั่นรัฐบาลมากขึ้นหรือไม่ และกระทบไปสู่เศรษฐกิจภาคอื่นหรือไม่ คือ ถ้านักลงทุนเชื่อมั่น ธุรกิจหรืออุตสาหกรรมอื่น ๆ ก็พร้อมมาลงทุนที่ประเทศไทย ขณะที่อีกเรื่องหนึ่ง คือ ความเชื่อมั่นของนักลงทุนระยะสั้นในตลาดหลักทรัพย์ หุ้นจะกลับมาขึ้นได้หรือไม่ และความเชื่อมั่นต่อผู้คนว่า รัฐบาลมีฝีมือหรือไม่ อันนี้คือ ระยะสั้น 2 ปีนี้ก็ได้แค่นี้”นายสติธร กล่าว
ความสัมพันธ์พรรคร่วมยังเหนียวแน่น
ส่วนความสัมพันธ์พรรคร่วมรัฐบาล นายสติธร มองว่า ในอีก 1 ปีข้างหน้ายังเดินหน้าต่อไปได้ ดูจากสถานการณ์ในช่วงการอภิปราย ดังนั้นภาพที่จะเห็นรัฐบาลสั่นคลอนคงเกิดขึ้นยาก
“อย่างน้อยปีหนึ่งรอดแน่ แต่ต้องดูว่า พอปล่อยนโยบายออกมา ซึ่งมีความเสี่ยงเป็นนโยบาย ประเภท “ได้-เสีย” คือถ้ามันเสียมากกว่าได้ โอกาสที่เสถียรภาพสั่นคลอนได้ เพราะพรรคร่วมรัฐบาลพร้อมสละเรือ แต่ถ้าไปได้เขาก็แฮปปี้ เพราะเขาก็อยากไปรอดฝั่งเหมือนกัน คือ ร่วมรัฐบาลแล้ว ก็อยากร่วมกันครบเทอม”นายสติธร กล่าว
เชื่อปรับครม.เห็นแน่
อย่างไรก็ตาม การทำงานเมื่อครบ 1 ปี ก็คงต้องมาประเมินอีกครั้ง เพราะจะมีศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจรอบหน้ารออยู่ ตรงนั้นจะเป็นสั่นคลอนเสถียรภาพรัฐบาลของแท้ เพราะถ้าเห็นแผล และพรรคร่วมเห็นท่าไม่ดี อาจเห็นการสละเรือจากพรรคร่วมรัฐบาลได้
ส่วนการปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) นายสติธร มองว่า เป็นการปรับตามวาระ มากกว่า การปรับเพราะปัญหาจากการบริหารงานหรือความรู้ ความสามารถของตัวรัฐมนตรี แต่เป็นการปรับตาม “เทศกาล” โดยเฉพาะรัฐมนตรีในสัดส่วนของ “เพื่อไทย”
รัฐบาล ยังอยู่ใต้เงา “ทักษิณ”
สำหรับบทบาทของ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ต่อรัฐบาลนายกฯ “อิ๊งค์” นั้น นายสติธร มองว่า นายทักษิณยังเป็น “คีย์แมน” สำคัญของรัฐบาลและหลังจากนี้นายทักษิณ ต้องทำหน้าที่ “แบ็คอัพ” ให้กับน.ส.แพทองธารมากขึ้น ในแง่ของการช่วยผลักดันและเสริมความเชื่อมั่นต่อนโยบายสำคัญ ๆ ของรัฐบาลที่ปล่อยออกไป เพราะการที่จะทำให้คนเชื่อมั่นได้ ไม่ได้อยู่ที่ตัวนายกรัฐมนตรี รัฐบาล หรือ ชื่อพรรคคงไม่พอ ต้องมียี่ห้อ “ทักษิณ” เป็นตัวประกอบด้วย และนายทักษิณ ต้องทำหน้าที่ “สร้างความหวังใหม่ ๆ” ในเชิงนโยบายต่อไปเรื่อย ๆ
“การที่จะอธิบายหว่านล้อมให้คนเชื่อว่าดีอย่างไร มันอยู่ที่บทบาทคุณทักษิณ แต่จะหาเวทีเล่นอย่างไร ไม่ให้ถูกมองว่า เป็นการแทรกแซงจนคนตั้งคำถาม และไม่ให้เป็นการไปกลบรัศมีของนายกฯ ด้วย มันเลยเล่นไม่ง่าย แต่คุณทักษิณก็ต้องในที่สาธารณะ เพราะถ้าแกไม่พูดออกมาให้คนได้ยิน แล้วเอาคำของแกไปให้นายกฯพูดเอง หรือให้รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องพูด มันก็ไม่ได้เท่าคุณทักษิณ”นายสติธร กล่าว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (03 เม.ย. 68)
Tags: PoliticalView, SCOOP, การเมือง, อภิปรายไม่ไว้วางใจ, แพทองธาร ชินวัตร