GPSC คาด Q3/64 โตจากรับรู้โซลาร์อินเดีย ดีมานด์ไฟฟ้า-ไอน้ำลูกค้านิคมฯหนุน

นางศิโรบล บุญถาวร ผู้จัดการฝ่ายอาวุโสการเงินองค์กร บมจ.โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ (GPSC) เปิดเผยว่า บริษัทคาดผลการดำเนินงานในไตรมาส 3/64 จะเติบโตต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนหน้าและช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากจะมีการรับรู้รายได้โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Power Platform) ในประเทศอินเดีย ซึ่ง GPSC ถือหุ้นในสัดส่วน 41.6% ในบริษัท Avaada Energy Private Limited (Avaada) ประเทศอินเดีย ที่ดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าทั้งที่เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ (COD) แล้วและอยู่ระหว่างการก่อสร้าง รวมทั้งสิ้น 4,560 เมกะวัตต์ โดยคิดเป็นกำลังการผลิตตามสัดส่วนการลงทุนของ GPSC ที่ 1,897 เมกะวัตต์

อีกทั้งยังได้รับปัจจัยหนุนจากโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำไซยะบุรี (XPCL) ที่เข้าสู่ช่วงไฮซีซั่นที่มีปริมาณน้ำค่อนข้างมาก และความต้องการใช้ไฟฟ้า ไอน้ำที่ปรับตัวสูงขึ้นของลูกค้านิคมอุตสาหกรรม คาดว่าจะมีความสม่ำเสมอต่อเนื่องมายังในไตรมาส 3/64 อย่างไรก็ตาม ในไตรมาสนี้ก็ยังมีปัจจัยกดดันจากราคาก๊าซและถ่านหินที่ปรับตัวสูงขึ้น โดยคาดราคาก๊าซจะปรับตัวขึ้น 10% และราคาถ่านหิน เพิ่มขึ้น 30% ทำให้กดดันต่อมาร์จิ้นโรงไฟฟ้าลดลงเล็กน้อย แต่บริษัทก็จะบริหารจัดการให้ดีที่สุด

ด้านโครงการที่อยู่ระหว่างการพัฒนา ประกอบด้วยโครงการการพัฒนาหน่วยผลิตไฟฟ้า (Energy Recovery Unit : ERU) มีกำลังผลิตไฟฟ้า 250 เมกะวัตต์ ไอน้ำ 175 ตันต่อชั่วโมง ให้กับโครงการพลังงานสะอาด (Clean Fuel Project : CFP) ของ บมจ.ไทยออยล์ (TOP) มูลค่าลงทุน 757 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยจะดำเนินการผ่านบริษัทย่อย ปัจจุบันมีความคืบหน้าในด้านวิศวกรรมและการออกแบบ ราว 90% แล้ว และเตรียมที่จะจัดซื้อเครื่องจักรต่างๆ ซึ่งโครงการนี้มีกำหนด COD ในปี 66 บริษัทคาดว่าจะยังทำได้ตามเป้าหมายที่วางไว้

โครงการโรงไฟฟ้า SPP Replacement เฟส 2 ของ บมจ. Glow กำลังการผลิตไฟฟ้า 192 เมกะวัตต์ และไอน้ำ 300 ตันต่อชั่วโมง มีมูลค่าการลงทุนรวมที่ 25,000 ล้านบาท และมีกำหนด COD ในปี 65 ปัจจุบันมีความคืบหน้าการก่อสร้างและด้านอื่นๆ โดยรวมอยู่ที่ 39.4%

ส่วนโครงการโรงไฟฟ้าจากพลังงานลมนอกชายฝั่ง (Offshore wind) ในไต้หวัน กำลังการผลิตไฟฟ้ารวม 595 เมกะวัตต์ GPSC ถือหุ้น 25% ผ่านบริษัทย่อย โดยคิดเป็นกำลังการผลิตตามสัดส่วนการลงทุนอยู่ที่ 149 เมกะวัตต์ ปัจจุบันอยู่ระหว่างการดำเนินการตามเงื่อนไขบังคับสัญญาซื้อขายหุ้น คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในไตรมาส 2/65

นางศิโรบล กล่าวว่า บริษัทยังคงเป้าหมายที่จะผลักดันกำลังการผลิตไฟฟ้ารวมจาก 4,750 เมกะวัตต์ในปี 63, เป็น 5,845 เมกะวัตต์ในปี 64 , เป็น 6,608 เมกะวัตต์ในปี 65 จนไปถึง 7,102 เมกะวัตต์ในปี 66

ขณะที่ธุรกิจแบตเตอรี่ในช่วงแรกยังคงอยู่ระหว่างการพัฒนาแบตเตอรี่เทคโนโลยี SemiSolid ให้สามารถใช้ได้ เพื่อรองรับในธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้า (EV) โดยมีเป้าหมายที่จะขยายกำลังผลิตแบตเตอรี่เป็น 5-10 กิกะวัตต์ต่อชั่วโมง (GWh) ในอีก 10 ปีข้างหน้า หรือภายในปี 73

สำหรับแผนการลงทุนจากนี้ บริษัทยังคงมองหาโอกาสการเข้าลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าอย่างต่อเนื่องตามความเหมาะสม โดยประเทศเป้าหมายยังคงเป็นอินเดีย เวียดนาม และไต้หวัน

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (23 ส.ค. 64)

Tags: , , , , , , ,