นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุถึงสถานการณ์โควิด-19 ของไทยว่า ยอดติดเชื้อสะสมเพิ่มขึ้นจาก 250,000 ไปเป็น 500,000 คน ใช้เวลา 27 วัน แต่เพิ่มจาก 500,000 คน ไปเป็น 1,000,000 คน ใช้เวลาสั้นลง เพียง 25 วัน
ดังนั้นตัวเลขติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันที่รายงานเป็นทางการนั้นไม่น่าจะสะท้อนสถานการณ์จริง ทั้งจากธรรมชาติการระบาดที่เห็น สถานการณ์แวดล้อมที่มีคนตายทั้งในบ้าน นอกบ้าน นอกสถานพยาบาล ตามข่าวที่เห็นกันอยู่ทุกวัน รวมถึงสถานะของจำนวนการตรวจคัดกรองโรคมาตรฐานที่ไม่ได้เพิ่มขึ้นแต่มีแนวโน้มตรวจลดลงหรือคงที่ ทั้งๆ ที่ควรตรวจให้มากขึ้นในภาวะการระบาดที่รุนแรงขึ้น ในขณะที่จำนวนการตรวจด้วยชุดตรวจ ATK ก็ไม่ได้รวมในตัวเลขที่รายงานการติดเชื้อใหม่ และยากที่จะเก็บรวบรวมการใช้จริงได้
เช่นเดียวกับตัวเลขการเสียชีวิต ทั้งด้วยเงื่อนไขการตรวจโรค เงื่อนเวลาในการรายงาน และอื่นๆ บางคนพยายามชี้ว่าเราผ่านยอดสูงสุดของการระบาดมาแล้ว ดังที่เห็นยอดสูงสุดคือ 23,418 คน ณ 13 สิงหาคม 2564 ที่ผ่านมา
ด้วยปัจจัยต่างๆ ที่กล่าวมาข้างต้น ส่วนตัวแล้วไม่เชื่อว่าสะท้อนสถานการณ์จริง และมีโอกาสคลาดเคลื่อนมาก
นพ.ธีระ ระบุว่า หากมอง best case นับจากยอดสูงสุดที่ว่ามา ตามธรรมชาติของการระบาดเช่นนี้ ครึ่งหนึ่งของประเทศที่เจอแบบนี้จะใช้เวลาในการกดการระบาดจากจุดสูงสุดไปอีก 69 วัน กว่าจะถึง baseline ที่คงที่ ซึ่งจะเป็นระดับไหน หมื่น พัน หรือร้อย ก็ขึ้นอยู่กับความเข้มข้นของมาตรการโดยรวม และอาจใช้เวลายาวนานกว่านั้นไปเป็นเดือนหรือหลายเดือน หากปลดล็อกเร็วเกินไป หรือมีมาตรการนำความเสี่ยงต่อการระบาดซ้ำ เช่น เปิดท่องเที่ยว เปิดการเดินทางเสรี เปิดประเทศ เป็นต้น
ถ้าเป็นเช่นนั้น ด้วยระดับปัจจุบัน กว่าจะถึงระดับคงที่ ก็ใช้เวลายาวไปถึงปลายตุลาคมเป็นอย่างน้อย และอาจนานกว่านั้น ต่อเนื่องไปเรื่อยๆ ถ้าตัดวงจรการระบาดไม่ได้
สิ่งที่คาดการณ์ไว้ยังคงต้องเตือนให้ระวังให้ดีคือ ผลของกล่องทรายจะเริ่มปรากฏชัดเจนตั้งแต่ปลายสิงหาคมนี้เป็นต้นไป และสุดท้ายจะทวีความรุนแรงขึ้นได้หากไม่ป้องกันหรือควบคุมให้ดี ผลลัพธ์จะออกมาเหมือนพื้นที่จังหวัดที่มีโรงงานเคยระบาดหนัก และไม่สามารถตัดวงจรการระบาดได้ แต่ผลกระทบระยะยาวต่อการใช้ชีวิต การทำมาหากิน จากกล่องทรายนั้น จะน่าเป็นห่วงกว่ามาก
สำหรับประชาชนทุกคน ขอให้ตระหนักว่า ศึกนี้ยาวนาน ปัจจัยแวดล้อมที่เห็นที่มีอยู่นั้นมีความเสี่ยงสูงมาก และระบบสนับสนุนมีข้อจำกัดมาก ดังนั้นจึงต้องป้องกันตัวเองและครอบครัวอย่างเคร่งครัด ยืนบนขาตนเองให้มั่นคง ตั้งเป้าอย่าให้ติดเชื้อ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องยา พืชผักสมุนไพร หรือวัคซีนที่เลือกรับ ควรศึกษาและวางแผนให้ดี ใช้ความรู้ที่ถูกต้องเป็นแสงส่องทาง ตัดสินใจด้วยหลักเหตุและผล อย่าหลงตามโฆษณาประชาสัมพันธ์ตัวเลข แต่ควรทำความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง หากสงสัยให้ถามผู้รู้จนกระจ่าง
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (21 ส.ค. 64)
Tags: COVID-19, lifestyle, ธีระ วรธนารัตน์, หมอธีระ, โควิด-19