สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า สถาบันเทคโนโลยีอิสราเอลหรือเทคเนียน (Technion) เปิดเผยว่านักวิจัยอิสราเอลค้นพบความแตกต่างที่สำคัญระหว่างสมองมนุษย์และปัญญาประดิษฐ์ (AI) ในการประมวลผลข้อความขนาดยาว
การศึกษานี้เผยแพร่ในวารสารเนเจอร์ คอมมูนิเคชันส์ (Nature Communications) พบว่า ในขณะที่แบบจำลองปัญญาประดิษฐ์วิเคราะห์ทุกคำในข้อความพร้อมกัน สมองมนุษย์กลับสร้าง “การสรุปข้อมูล” อย่างคล่องแคล่วขณะอ่าน ซึ่งช่วยให้สามารถคาดการณ์และตีความข้อมูลที่กำลังจะมาถึง และทำหน้าที่เป็น “คลังความรู้” ที่ช่วยจัดการข้อมูลจำนวนมากอย่างมีประสิทธิภาพ
การทดลองดังกล่าวเปรียบเทียบการสแกนสมองของผู้เข้าร่วมขณะฟังเรื่องราวกับการคาดการณ์ของปัญญาประดิษฐ์ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าแบบจำลองปัญญาประดิษฐ์ในปัจจุบันยังคงมีปัญหาในการประมวลผลข้อความขนาดยาว
ด้วยเหตุนี้ เพื่อแก้ไขจุดอ่อนของปัญญาประดิษฐ์ในด้านนี้ นักวิจัยได้พัฒนาปัญญาประดิษฐ์รูปแบบใหม่ที่เลียนแบบกระบวนการสรุปความของสมอง ซึ่งช่วยเพิ่มความสามารถของเอไอในการคาดการณ์กิจกรรมของสมองระหว่างการประมวลผลภาษาได้อย่างมีนัยสำคัญ
นอกจากนี้ ผลการศึกษานี้ช่วยเพิ่มพูนความเข้าใจเกี่ยวกับกระบวนการรับรู้ของมนุษย์ และอาจปูแนวทางสำหรับการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ขั้นสูงที่ได้รับแรงบันดาลใจจากการทำงานของสมองสำหรับงานด้านการแปลภาษาและการสร้างข้อความอัตโนมัติในอนาคต
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (25 ก.พ. 68)
Tags: AI, XINHUA, ปัญญาประดิษฐ์