นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุข อยู่ระหว่างการพิจารณาให้วัคซีนเข็มกระตุ้นในผู้ที่ได้รับวัคซีนซิโนแวค 2 เข็ม โดยคาดว่าจะมีความคืบหน้าในสัปดาห์หน้า ซึ่งขณะนี้จะยังเน้นการให้วัคซีนเข็มกระตุ้นแก่บุคลากรทางการแพทย์ก่อน
สำหรับกรณีการฉีดวัคซีนเข็มที่ 4 ยังไม่มีข้อมูลให้แนะนำทั้งในประเทศ และต่างประเทศ และยังแนะนำให้ฉีดเข็มที่ 3 เท่านั้น โดยในกรณีเข็มที่ 4 เป็นการฉีดแบบเฉพาะกิจเท่านั้น
นอกจากนี้ ในเดือนนี้ตั้งเป้าฉีดวัคซีนในกลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปให้ครอบคลุม 70% ในพื้นที่เข้มงวดสีแดงเข้ม ส่วนพื้นที่ต่างจังหวัดอื่นๆ เดือนนี้ตั้งเป้าฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมกลุ่มผู้สูงอายุ 50% และในเดือนหน้าจะตั้งเป้าฉีดวัคซีนในพื้นที่ต่างจังหวัดให้ได้ 70% เพื่อลดอัตราการเสียชีวิตที่ยังอยู่ในอัตราสูงอยู่
พญ. กุลกัญญา โชคไพบูลย์กิจ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า การฉีดวัคซีนแบบสลับ หรือฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นมีความจำเป็นเมื่อเชื้อกลายพันธุ์เป็นสายพันธุ์เดลตา เนื่องจากภูมิคุ้มกันหลังฉีดวัคซีนจะตกลงตามเวลา ทำให้ประสิทธิภาพอาจจะอยู่ไม่นาน จึงมีความจำเป็นต้องฉีดวัคซีนกระตุ้นเข็มที่ 3
ทางศูนย์วิจัยคลินิกศิริราช ได้ทำการวิจัย 2 โครงการ คือ
1. การฉีดเข็ม 1 และเข็ม 2 ด้วยวัคซีนต่างชนิดกัน (Heterologous vaccination study) ในผู้ที่แข็งแรงทั่วไป โดยผลภูมิคุ้มกันเบื้องต้นโดยสรุปได้ว่าการฉีดวัคซีนแบบสลับ วัคซีนซิโนแวคตามด้วยวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า พบว่าได้ภูมิสูงกว่าฉีดวัคซีนซิโนแวค 2 เข็มถึง 3 เท่า, ได้ภูมิสูงดีกว่าฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าตามด้วยวัคซีนซิโนแวค 3 เท่า, ได้ภูมิสูงว่าฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า 2 เข็มเล็กน้อย และได้ภูมิต่ำกว่าฉีดวัคซีนไฟเซอร์ 2 เข็มถึง 1 เท่า
2. การฉีดกระตุ้นด้วยเข็มที่ 3 ในผู้ได้รับวัคซีนซิโนแวคครบสองเข็ม (Booster study) ในบุคลากรทางการแพทย์ โดยพบว่าฉีดวัคซีนซิโนแวค 2 เข็ม และกระตุ้นเข็มที่ 3 ด้วยวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า จะได้ภูมิสูงกว่าการฉีดกระตุ้นด้วยวัคซีนซิโนฟาร์มถึง 4 เท่า นอกจากนี้ได้ภูมิสูงกว่าฉีดวัคซีนไฟเซอร์ 2 เข็ม 1.7 เท่า และได้ภูมิใกล้เคียงกับผู้ที่หายป่วยด้วยเชื้อเดลตาหรืออัลฟา
ด้านนพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ในขณะนี้ทั่วโลกยังไม่มียารักษาโรคโควิด-19 โดยเฉพาะ และการศึกษาวิจัยในต่างประเทศปัจจุบันมีทั้งการทดลองที่มีประสิทธิภาพ และไม่มีประสิทธิภาพ โดยการใช้ยาฟาวิพิราเวียร์ยังมีประสิทธิผลในการรักษาในผู้ป่วยโควิด-19 สามารถลดอาการรุนแรงได้ 28.8%
สำหรับข้อมูลการใช้ยาฟาวิพิราเวียร์ในประเทศไทย ผู้ติดเชื้อโควิดที่ได้รับยาตามแนวทางเวชปฏิบัติฯ ภายใน 4 วันตั้งแต่เริ่มมีอาการ สามารถลดการเกิดอาการรุนแรงลงได้ 28.8%
ทั้งนี้ข้อมูลเบื้องต้นแสดงให้เห็นว่ายาฟาวิพิราเวียร์มีประสิทธิผลในการลดอาการทางคลินิกใน 7 วัน และ 14 วัน เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ไม่ได้ยาฟาวิพิราเวียร์ (สนับสนุนการแนวทางการรักษาที่ควรเริ่มให้ยาฟาวิพิราเวียร์ตั้งแต่เริ่มมีอาการ) ในประเด็นที่ยาฟาวิพิราเวียร์ให้ประสิทธิผลไม่แตกต่างจากกลุ่มที่ไม่ได้รับยาฟาวิพิราเวียร์ อาจต้องทำการพิจารณาวิเคราะห์ในรายละเอียดของแต่ละการศึกษา รวมถึงยาที่ใช้เปรียบเทียบกับยาฟาวิพิราเวียร์ต่อไป
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (20 ส.ค. 64)
Tags: กรมควบคุมโรค, กระทรวงสาธารณสุข, ฉีดวัคซีนโควิด, วัคซีนต้านโควิด-19, โสภณ เอี่ยมศิริถาวร