นายมงคล สุระสัจจะ ประธานวุฒิสภา ในฐานะประธานคณะกรรมการวิสามัญกิจการวุฒิสภา (วิปวุฒิสภา) พร้อมด้วย พล.อ.เกรียงไกร ศรีรักษ์ รองประธานวุฒิสภา คนที่ 1 และนายบุญส่ง น้อยโสภณ รองประธานวุฒิสภา คนที่ 2 แถลงผลประชุมวิปวุฒิสภา กรณีที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เตรียมรับเรื่องตรวจสอบการเลือก สว.ที่ไม่สุจริตเข้าข่ายการฮั้วตามประมวลกฎหมายอาญาไว้ตรวจสอบ ว่า เจตนารมณ์ของการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ และกฎหมายประกอบที่เกี่ยวข้อง กำหนดให้การเลือก สว.เป็นหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) โดยเฉพาะ ไม่ให้มีการแทรกแซงฝ่ายบริหาร รวมถึงดีเอสไอ และ รมว.ยุติธรม ดังนั้นกรณีที่มีข่าวว่าดีเอสไอจะดำเนินการตรวจสอบการเลือก สว. เป็นการกระทำหน้าที่ไม่ชอบ รวมถึงขัดกับรัฐธรรมนูญและกฎหมายประกอบ
“การตั้งข้อหาว่าเป็นอั้งยี่ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 และมาตรา 209 เป็นการตั้งข้อหา และไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ เพราะเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องการก่อการร้าย กระทบต่อความมั่นคงของรัฐ หรือเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยอำนาจ กฎหมาย สว.ผ่านกระบวนการเลือกอย่างถูกต้องตามกฎหมาย และรับรองจาก กกต. ทำหน้าที่ถูกต้องรัฐธรรมนูญ ซึ่งข้อกล่าวหานั้นไม่เป็นความจริง การใช้อำนาจขององค์กรฝ่ายบริหาร และฝ่ายบริหารส่อเจตนาทำลายองค์กรวุฒิสภาผ่านเอกสารลับ เท่ากับล้มล้างวุฒิสภา” นายมงคล กล่าว
นายมงคล กล่าวว่า สว.พร้อมให้ความร่วมมือกับองค์กรอิสระในการตรวจสอบ เข้าให้ถ้อยคำกับผู้ที่มีอำนาจหน้าที่ แต่หากผู้ที่ไม่มีอำนาจหน้าที่แทรกแซงเข้ามาตรวจสอบ ที่ประชุมมีมติร่วมกันและมองว่าไม่ถูกต้อง ดังนั้นต้องใช้กระบวนการตรวจสอบ และดำเนินการตามกฎหมายต่อไป แต่ปฏิเสธที่จะระบุว่าหากดีเอสเอรับพิจารณาเรื่องนี้ จะเป็นการล้มการเลือก สว.หรือไม่
“ผมไม่ทราบ แต่ที่ให้ข่าว รวมถึงเผยแพร่เอกสารลับ ขอให้ประชาชนใช้วิจารณญาณด้วย กรณีที่มีประเด็นว่ามีการโทรศัพท์ล็อบบี้คณะกรรมการดีเอสไอคณะพิเศษนั้น ผมไม่ทราบ สว.ทุกคนมีสิทธิปกป้อง เราไม่กลัวการตรวจสอบจากฝ่ายผู้มีอำนาจหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ” นายมงคล กล่าว
นายมงคล ยืนยันว่า ทำงานด้วยความบริสุทธิ์ใจ ไม่มีสังกัดพรรคการเมือง หากจะทำอะไร ต้องตั้งมั่นด้วยความบริสุทธิ์ ยุติธรรม เราตอบไม่ได้ และไม่มีความคิดจะทำ ส่วนฝ่ายค้านจะหยิบยกประเด็นใดไปอภิปรายนั้น เป็นสิทธิของแต่ละบุคคล ห้ามไม่ได้
นายบุญส่ง กล่าวว่า การตรวจสอบข้อเท็จจริงเรื่องนี้เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)
ส่วนการเข้าชื่อถอดถอน พ.ต.อ.ทวี สอดส่องออกจากตำแหน่ง รมว.ยุติธรรม นั้น พล.อ.เกรียงไกร ยืนยันว่าทำตามอำนาจหน้าที่ของ สว. เพราะ สว.ทุกคนมาตามกฎหมายก็ต้องทำตามกฎหมาย ดังนั้นต้องเตรียมการอภิปรายทั่วไปภายในสมัยประชุมที่จะสิ้นสุดในวันที่ 10 เม.ย.นี้ รวมถึงกระทู้สดด้วย
ทั้งนี้มีรายงานว่า วันพรุ่งนี้ (25 ก.พ.) นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม จะเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการคดีพิเศษ (กคพ.) ครั้งที่ 2/2568 ซึ่งจะมีการรายงานความคืบหน้าการดำเนินคดีสำคัญ และการพิจารณารับคดีอาญาอื่นเป็นคดีพิเศษ ซึ่งต้องจับตาดูว่าจะมีการเสนอเรื่องฮั้วเลือกตั้ง สว.ในปี 2566 ให้พิจารณารับเป็นคดีพิเศษหรือไม่
สำหรับคณะกรรมการชุดนี้มี พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม เป็นรองประธานกรรมการ, ปลัดกระทรวงยุติธรรม ปลัดกระทรวงการคลัง ปลัดกระทรวงมหาดไทย ปลัดกระทรวงพาณิชย์ อัยการสูงสุด ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา เจ้ากรมพระธรรมนูญ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย นายกสภาทนายความ และผู้ทรงคุณวุฒิที่คณะรัฐมนตรีแต่งตั้งอีก 9 ราย ร่วมเป็นคณะกรรมการ และมี พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ เป็นกรรมการและเลขานุการ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (24 ก.พ. 68)
Tags: ทวี สอดส่อง, ศึกซักฟอก