นางมารศรี ใจรังษี เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) มั่นใจกองทุนประกันสังคมยังมีเสถียรภาพที่มั่นคง กองทุนประกันสังคม ณ ปัจจุบันมีเงินสะสม จำนวน 2.657 ล้านล้านบาท โดยในปี พ.ศ. 2567 รายรับจากเงินสมทบ 3 ฝ่าย 2.31 แสนล้านบาท และจ่ายสิทธิประโยชน์ 7 กรณี 1.35 แสนล้านบาท สำนักงานประกันสังคมมีการพัฒนาช่องทางการให้บริการทำให้ผู้ประกันตนเข้าถึงสิทธิประโยชน์กองทุนประกันสังคมได้สะดวกและรวดเร็วขึ้น โดยการเข้าถึงสิทธิทั้ง 7 กรณีที่ จากเดิม 39.34 ล้านครั้ง ในปี พ.ศ. 2560 สูงขึ้น 46.92 ล้านครั้ง ในปี พ.ศ. 2567 ตลอดระยะเวลา 34 ปี ที่ได้ก่อตั้งกองทุนประกันสังคม ได้มีการปรับเพิ่มสิทธิประโยชน์อย่างต่อเนื่องกว่า 97 ครั้ง ตามสภาพเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปโดยไม่เพิ่มอัตราเงินสมทบหรือปรับเพิ่มเพดานค่าจ้างให้เป็นภาระแก่นายจ้างและผู้ประกันตน
นางมารศรี กล่าวต่อไปว่า กองทุนประกันสังคมเป็นกลไกสำคัญในการสร้างหลักประกันทางสังคมและความมั่นคง ให้แก่แรงงานในประเทศไทย โดยให้ความคุ้มครองผู้ประกันตนในมาตรา 33 ซึ่งเป็นแรงงานในสถานประกอบการ มาตรา 39 สำหรับผู้ที่เคยเป็นลูกจ้าง และมาตรา 40 สำหรับแรงงานอิสระ ครอบคลุมผู้ประกันตนกว่า 24 ล้านคนทั่วประเทศ พร้อมมอบสิทธิประโยชน์สร้างหลักความมั่นคงในการทำงาน ประกอบไปด้วย 7 กรณี ได้แก่ การเจ็บป่วย ทุพพลภาพ การตาย การคลอดบุตร การสงเคราะห์บุตร ชราภาพ และการว่างงาน
ทั้งนี้ กองทุนดำเนินงานผ่านการส่งเงินสมทบจากลูกจ้าง นายจ้าง และรัฐบาล เพื่อสร้างความมั่นคงทางสังคมให้แก่แรงงานทุกช่วงวัย อย่างไรก็ตาม กองทุนประกันสังคมกำลังเผชิญกับความท้าทายจากการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างของประชากร โดยประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย ทำให้จำนวนแรงงานใหม่ในระบบลดลง ขณะที่ผู้เกษียณอายุซึ่งต้องได้รับการดูแลเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้รายจ่ายในด้านสิทธิประโยชน์ โดยเฉพาะบำนาญชราภาพและค่ารักษาพยาบาลเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากการศึกษาขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ร่วมกับสำนักงานประกันสังคม คาดการณ์ว่าหากไม่มีมาตรการรองรับ กองทุนประกันสังคมอาจหมดลงภายในปี พ.ศ. 2597 หรืออีก 30 ปีข้างหน้า
สำนักงานประกันสังคมจึงร่วมกับผู้เชี่ยวชาญจากองค์การแรงงานระหว่างประเทศ เสนอแนะแนวทางการปฏิรูประบบบำนาญอย่างค่อยเป็นค่อยไป เพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับกองทุนประกันสังคม รวมทั้งร่วมมือกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลักในการกำหนดนโยบายสร้างความยั่งยืนให้กองทุน และวางแผนบริหารการลงทุนอย่างมีประสิทธิภาพ
โดยในปี 2567 กองทุนประกันสังคม ได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนเป็นเงิน 7.1 หมื่นล้านบาท จากการปรับสัดส่วนการลงทุน โดยเน้นลงทุนหลักทรัพย์ตามแผนยุทธศาสตร์การลงทุนที่คณะกรรมการประกันสังคมให้ความเห็นชอบการลงทุนอย่างรอบคอบทำให้กองทุนประกันสังคมมีความมั่นคง สร้างผลตอบแทนระยะยาวเพื่อการเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้ผู้ประกันตน “สำนักงานประกันสังคม พร้อมดำเนินการทุกวิธีในการเสริมสร้างเสถียรภาพกองทุนให้สามารถดูแลสิทธิประโยชน์ให้แก่พี่น้องผู้ประกันตนมีคุณภาพชีวิตที่ดี พร้อมหลักประกันทางสังคมที่มั่นคง
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (23 ก.พ. 68)
Tags: กองทุนประกันสังคม, มารศรี ใจรังษี, สปส.