ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดร่วงลงกว่า 700 จุดในวันศุกร์ (21 ก.พ.) โดยตลาดถูกกดดันจากการเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจและอุปสงค์ที่อ่อนแอของผู้บริโภค และนักลงทุนยังกังวลเกี่ยวกับการกำหนดภาษีศุลกากรครั้งใหม่ของสหรัฐฯ ด้วย
ทั้งนี้ ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 43,428.02 จุด ลดลง 748.63 จุด หรือ -1.69%, ดัชนี S&P500 ปิดที่ 6,013.13 จุด ลดลง 104.39 จุด หรือ -1.71% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 19,524.01 จุด ลดลง 438.36 จุด หรือ -2.20%
ดัชนีหุ้นทั้ง 3 ตัวร่วงลงอย่างหนักหลังจากการเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจ และร่วงลงต่อเนื่องในการซื้อขายช่วงบ่าย โดยดัชนี S&P500 ร่วงลงเป็นเปอร์เซ็นต์มากที่สุดในวันเดียวนับตั้งแต่วันที่ 18 ธ.ค.
ตลอดทั้งสัปดาห์นี้ ดัชนีทั้ง 3 ตัวต่างติดลบ โดยดัชนีดาวโจนส์ร่วงลงหนักที่สุดในรอบสัปดาห์นี้นับตั้งแต่กลางเดือนต.ค.
เกร็ก บาสซัค ซีอีโอของ AXS Investments ในนิวยอร์กกล่าวว่า “ตอนนี้ตลาดได้รับผลกระทบจากความเชื่อมั่นผู้บริโภค ภาษีศุลกากร และผลประกอบการบริษัท มากกว่าปัจจัยด้านปัญญาประดิษฐ์ (AI) และเทคโนโลยี”
ข้อมูลเศรษฐกิจแสดงให้เห็นว่ากิจกรรมทางธุรกิจของสหรัฐฯ ชะลอตัวลง และความเชื่อมั่นผู้บริโภคแย่ลง โดยผู้ตอบแบบสำรวจมองเศรษฐกิจในแง่ลบมากขึ้น
เอสแอนด์พี โกลบอลเปิดเผยว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) รวมภาคการผลิตและภาคบริการเบื้องต้นของสหรัฐฯ ปรับตัวลงสู่ระดับ 50.4 ในเดือนก.พ. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 17 เดือน จากระดับ 52.7 ในเดือนม.ค.
ดัชนี PMI ยังคงอยู่เหนือระดับ 50 ซึ่งบ่งชี้การขยายตัวของภาคธุรกิจสหรัฐฯ โดยได้รับแรงหนุนจากการขยายตัวของภาคการผลิต แต่ดัชนี PMI ถูกกดดันจากการหดตัวของภาคบริการ
ดัชนี PMI ภาคการผลิตเบื้องต้น ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 51.6 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 8 เดือน จากระดับ 51.2 ในเดือนม.ค. โดยดัชนี PMI อยู่สูงกว่าระดับ 50 ซึ่งบ่งชี้การขยายตัวของภาคการผลิต
ส่วนดัชนี PMI ภาคบริการเบื้องต้น ปรับตัวลงสู่ระดับ 49.7 ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 25 เดือน จากระดับ 52.9 ในเดือนม.ค. โดยดัชนี PMI อยู่ต่ำกว่าระดับ 50 ซึ่งบ่งชี้ว่าภาคบริการอยู่ในภาวะหดตัว
มหาวิทยาลัยมิชิแกนเปิดเผยผลสำรวจระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐฯ ร่วงลงสู่ระดับ 64.7 ในเดือนก.พ. ต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 67.8 จากระดับ 71.1 ในเดือนม.ค.
ก่อนหน้านี้ วอลมาร์ท (Walmart) ประกาศคาดการณ์ผลประกอบการที่ต่ำกว่าคาดในวันพฤหัสบดี (20 ก.พ.) ซึ่งทำให้เกิดความกังวลว่าอุปสงค์ของผู้บริโภคกำลังอ่อนแอลง
“ความเชื่อมั่นทางธุรกิจของสหรัฐฯ หายไปหมดแล้ว” คริส วิลเลียมสัน หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ S&P Global กล่าว “ขณะนี้ทุกอย่างดูไม่แน่นอนมากขึ้น”
บาสซัคระบุเสริมว่า “ความไม่แน่นอนกลายเป็นประเด็นหลักของนักลงทุน ซึ่งเป็นสาเหตุของความผันผวนที่เราเห็นในสัปดาห์นี้ และน่าจะดำเนินต่อไปจนถึงสิ้นไตรมาสแรก”
กลุ่มหุ้นที่อ่อนไหวต่อเศรษฐกิจ เช่น ขนส่ง, ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์, หุ้นขนาดเล็ก, อสังหาริมทรัพย์ และสินค้าฟุ่มเฟือย ร่วงลงมากกว่า 2%
กลุ่มหุ้นเทคโนโลยีขนาดใหญ่ ร่วงลง 2.9% และหุ้นทั้งหมดในกลุ่ม Magnificent Seven ปิดตลาดในแดนลบ โดยหุ้นอินวิเดีย (Nvidia) ซึ่งมีกำหนดรายงานผลประกอบการในสัปดาห์หน้า ร่วงลง 4.1%
ดัชนีความผันผวนของตลาด (CBOE Volatility Index) หรือดัชนีความวิตก ปิดที่ระดับสูงสุดนับตั้งแต่วันที่ 3 ก.พ.
ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์กล่าวในสัปดาห์นี้ว่า จะประกาศมาตรการภาษีศุลกากรใหม่สำหรับไม้แปรรูปและผลิตภัณฑ์จากป่าไม้ นอกเหนือจากแผนเดิมที่จะเรียกเก็บภาษีนำเข้ารถยนต์ เซมิคอนดักเตอร์ และยา
ในบรรดาหุ้น 11 กลุ่มอุตสาหกรรมหลักของดัชนี S&P500 มีเพียงหุ้นสินค้าจำเป็นที่ปิดบวก ส่วนหุ้นกลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือยและเทคโนโลยีร่วงลงหนักที่สุด
สำหรับการเปิดเผยผลประกอบการไตรมาส 4 ใกล้จะสิ้นสุดลง โดยบริษัท 425 แห่งในดัชนี S&P500 ได้รายงานผลประกอบการออกมาแล้ว และ 76% ของบริษัทเหล่านั้นรายงานผลกำไรสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์
สำหรับความเคลื่อนไหวของหุ้นรายตัวอื่น ๆ นั้น หุ้นเทสลา (Tesla) และหุ้นริเวียน (Rivian) ร่วงลง 4.7% หลังจากทั้งสองบริษัทประกาศเรียกคืนรถยนต์
หุ้นยูไนเต็ดเฮลท์ (UnitedHealth) ร่วง 7.2% หลังมีรายงานว่ากระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ กำลังสอบสวนเรื่องการเรียกเก็บเงินของบริษัทในโครงการ Medicare
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (22 ก.พ. 68)
Tags: ดาวโจนส์, ตลาดหุ้นนิวยอร์ก