นางสาวจิราพร ขาวสวัสดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก (OR) เปิดเผยว่า บริษัทอยู่ระหว่างการเจรจาเพื่อเข้าลงทุนทั้งในลักษณะการซื้อกิจการ (M&A) และการร่วมลงทุน (JV) มากกว่า 10 โครงการ ทั้งที่อยู่ในขั้นตอนของการตรวจสอบกิจการ (Due Diligence) และการเจรจาเงื่อนไข ซึ่งในกลุ่มดังกล่าวอยู่ในธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม, Non-FOOD & BEVERAGE และธุรกิจดิจิทัล
นอกจากนั้น ขณะนี้ยังมีผู้ประกอบการจำนวนมากที่เข้ามายื่นข้อเสนอที่จะร่วมธุรกิจกับบริษัท เนื่องจากสนใจเข้ามาเปิดร้านหรือสาขาให้บริการในสถานีบริการน้ำมัน (ปั๊มน้ำมัน) ของ OR จากเดิมที่อยู่ในห้างสรรพสินค้าแล้วได้รับผลกระทบจากมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19
ขณะที่แผนลงทุนในช่วง 5 ปี (64-68 ) ยังคงงบลงทุนที่ 74,600 ล้านบาท แบ่งเป็นใช้สำหรับธุรกิจน้ำมันราว 34.6%, ธุรกิจ Non-oil 28.6%, ธุรกิจต่างประเทศ (International) 21.8% ส่วนการทำ M&A และ JV จะใช้งบลงทุนในสัดส่วนราว 15% การขยายลงทุนอยู่ภายใต้เป้าหมายสัดส่วนกำไรก่อนหักภาษี ค่าเสื่อม และดอกเบี้ยจ่าย (EBITDA) ของธุรกิจ Non-oil จะเพิ่มเป็น 35% จากปัจจุบันอยู่ราว 25% และธุรกิจต่างประเทศจะเพิ่มขึ้นเป็น 12-13% จาก 5% และส่วนที่เหลือจะมาจากธุรกิจน้ำมันราว 52-55% ลดลงจากปัจจุบันที่ 70%
บริษัทยืนยันว่ายังมีฐานะทางการเงินที่ความแข็งแกร่งเพียงพอสำหรับขยายธุรกิจ โดยมีกระแสเงินสดในมืออยู่กว่า 40,000 ล้านบาท และมี Net Debt to Equity ในระดับที่ต่ำ ทำให้ยังสามารถลงทุนได้ตามแผนงานที่กำหนดไว้ อีกทั้งบริษัทยังศึกษาการจัดอันดับความน่าเชื่อถือในรูปแบบต่างๆ เพื่อเตรียมออกและเสนอขายหุ้นกู้ในปี 65
สำหรับแผนการลงทุนในปีนี้ บริษัทได้มีการทบทวนเป้าหมายเล็กน้อย โดยในธุรกิจน้ำมัน ได้วางแผนการขยายสถานีบริการน้ำมันในประเทศจำนวน 110 สาขา แต่คาดว่าเปิดได้ 95 สาขา, ธุรกิจศูนย์ซ่อมรถยนต์ FIT Auto ยังคงแผนที่ 10 สาขา ส่วน EV Station ที่ร่วมกับบริษัทในกลุ่ม ปตท.ปีนี้คาดว่าจะมีการติดตั้ง EV Charging stations ได้ 100 สาขา ยังเป็นไปตามแผน และปี 65 วางเป้าขยายให้ครบ 300 สาขา ขณะที่ยังมีแผนออกผลิตภัณฑ์ใหม่เพื่อเข้ามาส่งเสริมการขาย และกระตุ้นยอดขายในช่วงที่เหลือของปีนี้ด้วย
ด้านธุรกิจ Non-Oil แบ่งเป็น ร้านคาเฟ่ อเมซอนยังคงแผนเปิดสาขาใหม่ 420 สาขา แม้จะเกิดสถานการณ์โควิด-19 เช่นเดียวกับร้าน Texas chicken ที่จะเปิดทั้งสิ้น 20 สาขา
ส่วนธุรกิจต่างประเทศ (International) ที่ปัจจุบันมีการดำเนินการอยู่ใน 10 ประเทศ ประกอบด้วย กัมพูชา ฟิลิปปินส์ และลาว มีแผนขยายปั๊มน้ำมัน 52 สาขาในปีนี้ ได้ปรับลดลงเล็กน้อยเป็น 45 สาขา รวมถึงสาขาร้านคาเฟ่ อเมซอน คาดว่าจะเปิดได้ 56 สาขา ปรับลดลงมาที่ 51 สาขา เนื่องจากผลกระทบของโควิด อีกทั้งบริษัท ยังได้ร่วมทุนกับทางบริษัทเอกชนในเมียนมาเพื่อดำเนินธุรกิจ ท่าเทียบเรือ การจัดเก็บ ท่อ ถัง สำหรับ LPG และน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งยังอยู่ระหว่างการก่อสร้างต่อเนื่องตามแผน คืบหน้าไปแล้วกว่า 70%
นางสาวจิราพร กล่าวอีกว่า ผลการดำเนินงานของบริษัทในปีนี้คาดว่าปริมาณการขายน้ำมันในไตรมาส 4/64 จะฟื้นตัวขึ้นหลังจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 คลี่คลายลงได้บ้างในราวเดือนก.ย.ตามรัฐบาลคาดการณ์ไว้ แต่ทั้งปี 64 คาดว่าปริมาณขายน้ำมันน่าจะลดลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับปีก่อน โดยหลักมาจากน้ำมันอากาศยานที่ลดลง แต่หากเทียบกับพอร์ตโดยรวม น้ำมันอากาศยานมีสัดส่วนคิดเป็น 10% เท่านั้น จึงไม่ได้ทำให้ปริมาณขายโดยรวมลดลงมากนัก จะเห็นได้จากในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา โดยเฉพาะเดือนมิ.ย.-ก.ค.ที่เริ่มมีการระบาดของโควิด-19 อย่างหนัก ปริมาณการขายน้ำมันลดลงเพียง 5%
ขณะที่ผลการดำเนินงาน 6 เดือนแรกของปี 64 บริษัทมีกำไรสุทธิ 7,228 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4,810 ล้านบาท หรือคิดเป็นกว่า 100% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งมาจากทั้งรายได้ขายและ EBITDA ที่เพิ่มขึ้น โดยรายได้ขายและบริการอยู่ที่ 237,168 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว โดยปัจจัยหลักมาจากกล่มธุรกิจน้ำมัน หลังจากเศรษฐกิจโลกอยู่ในช่วงของการฟื้นตัวทำให้ราคาขายเฉลี่ยผลิตภัณฑ์น้ำมันปรับตัวสูงขึ้น
อย่างไรก็ตาม ปริมาณขายรวมลดลงเล็กน้อยเพียง 5% โดยหลักมาจากน้ำมันอากาศยาน ปริมาณขายยังไม่กลับมาเท่ากับช่วงก่อนโควิด-19
ส่วนกลุ่มธุรกิจ Non-Oil รายได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นเช่นกัน ตามการขยายสาขาของร้านคาเฟ่ อเมซอนที่เพิ่มขึ้น
ด้าน EBITDA อยู่ที่ 11,867 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5,126 ล้านบาท (76%) ยังคงความแข็งแกร่ง ทั้งกลุ่มธุรกิจน้ำมัน และ Non-Oil ที่มีผลการดำเนินงานที่ดีขึ้นจากกำไรขั้นต้นเฉลี่ยต่อลิตรที่เพิ่มขึ้นของธุรกิจน้ำมันและการบริหารต้นทุนที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยในส่วนของ Non-Oil เป็นผลมาจากภาวะเศรษฐกิจไทยที่ฟื้นตัวจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ภาครัฐไม่ได้ใช้มาตรการเข้มงวดเท่ากับรอบแรกในปี 63 ที่มีการ Lockdown ทั่วประเทศ ตรงข้ามกับการแพร่ระบาดของโรคโควิด -19 ระลอกใหม่ในต่างประเทศที่รุนแรงมากกว่าการระบาดรอบแรกในช่วงเดียวกันของปีก่อนส่งผลกดดันต่อกลุ่มธุรกิจต่างประเทศที่ผลการดำเนินงานลดลง
ทั้งนี้ ในช่วงครึ่งปีแรก OR ร่วมมือกับพันธมิตรเพื่อเพิ่มศักยภาพในการดำเนินธุรกิจ เช่น การต่อสัญญาหลักความร่วมมือกับ CPALL ในการดำเนินการร้านสะดวกซื้อ 7-Eleven ในสถานีบริการน้ำมัน พีทีที สเตชั่น ในประเทศไทยออกไปอีก 10 ปี อีกทั้งยังมีความคืบหน้าในการเปิดจุดรับส่งพัสดุ (drop off point) ของ Flash Express จำนวน 10 จุดที่ร้านคาเฟ่ อเมซอน และนำร่องจำหน่ายเมนู Grab & Go จาก “โอ้กะจู๋” ที่ร้านคาเฟ่ อเมซอน ในสถานีบริการน้ำมัน พีทีที สเตชั่น วิภาวดี (ตรงข้ามมหาวิทยาลัยหอการค้า)
นางสาวจิราพร กล่าวอีกว่า ทิศทางการดำเนินธุรกิจในครึ่งปีหลังของปีนี้ ยังมีความท้าทายอย่างมากที่ต้องฝ่าวิกฤตการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 รุนแรงมากขึ้น โดย โออาร์ จะยังคงมุ่งเน้นการลงทุนในส่วนที่เกี่ยวกับการรองรับพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปจากวิกฤตโควิด-19 โดยเน้นการเพิ่มช่องทางออนไลน์ไปยังออฟไลน์ (O2O) มากขึ้น รวมถึงยังคงมองหาโอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่อง
โดยเฟ้นหาพันธมิตรทางธุรกิจที่มีศักยภาพในการเติบโตและสอดคล้องกับกลยุทธ์ของ โออาร์ ที่มุ่งเน้นการสร้างความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจพลังงานแบบผสมผสาน ตอบโจทย์คนเดินทางในทุกรูปแบบ รวมถึงการสร้างทางเลือกสำหรับการดำเนินชีวิตที่ครบวงจรเพื่อตอบโจทย์ทุกไลฟ์สไตล์ เพื่อสร้างการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจร่วมกัน สร้างชุมชนที่น่าอยู่ และสิ่งแวดล้อมที่สมบูรณ์ ซึ่งจะนำไปสู่การเติบโตร่วมกันอย่างยั่งยืน
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (19 ส.ค. 64)
Tags: จิราพร ขาวสวัสดิ์, น้ำมัน, ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก, หุ้นไทย, โออาร์