สัญญาน้ำมันดิบล่วงหน้า WTI ดิ่งลงเกือบ 4% หลุดระดับ 63 ดอลลาร์ในวันนี้ โดยปรับตัวลงติดต่อกันเป็นวันที่ 6 ซึ่งเป็นช่วงขาลงที่ยาวนานที่สุดนับตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ.2563 ท่ามกลางความกังวลว่าการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์เดลตาจะส่งผลกระทบต่ออุปสงค์น้ำมัน
นอกจากนี้ ตลาดยังถูกกดดันจากการการแข็งค่าของดอลลาร์ และการพุ่งขึ้นของสต็อกน้ำมันเบนซินสหรัฐ
ณ เวลา 18.14 น.ตามเวลาไทย สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ส่งมอบเดือนก.ย. ซึ่งมีการซื้อขายที่ตลาด NYMEX ดิ่งลง 2.49 ดอลลาร์ หรือ 3.80% สู่ระดับ 62.97 ดอลลาร์/บาร์เรล หลังทรุดตัวลงแตะ 62.83 ดอลลาร์ ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่วันที่ 21 พ.ค.
ราคาน้ำมัน WTI ดิ่งลงกว่า 5% ในช่วง 6 วันที่ผ่านมา ขณะที่นักวิเคราะห์เตือนว่าการร่วงลงของราคาน้ำมันทะลุระดับ 65 ดอลลาร์ จะส่งผลให้ราคาไหลลงต่อไปในช่วง 57-65 ดอลลาร์ ซึ่งเป็นช่วงการปรับตัวของราคาน้ำมันในไตรมาส 2
สำนักงานสารสนเทศด้านการพลังงานของรัฐบาลสหรัฐ (EIA) เปิดเผยวานนี้ว่า สต็อกน้ำมันดิบสหรัฐลดลง 3.2 ล้านบาร์เรลในสัปดาห์ที่แล้ว แต่สต็อกน้ำมันเบนซินเพิ่มขึ้น 700,000 บาร์เรล สวนทางนักวิเคราะห์ที่คาดว่าลดลง 2.3 ล้านบาร์เรล
ขณะเดียวกัน กลุ่มเฮดจ์ฟันด์ได้เทขายสัญญาน้ำมันในสัปดาห์ที่แล้วเป็นสัปดาห์ที่ 6 ในรอบ 8 สัปดาห์ ท่ามกลางความกังวลที่ว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในจีน ยุโรป และอเมริกาเหนือจะส่งผลกระทบต่อการสัญจรทางอากาศ
สำนักงานพลังงานสากล (IEA) ออกรายงานเตือนว่า ผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์เดลตาจะฉุดความต้องการใช้น้ำมันลดลงมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้
ทั้งนี้ IEA ได้ปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของความต้องการใช้น้ำมันทั่วโลกในปี 2564 ลงสู่ระดับ 5.3 ล้านบาร์เรล/วัน จากระดับ 5.4 ล้านบาร์เรล/วัน อย่างไรก็ดี IEA ได้ปรับเพิ่มคาดการณ์การขยายตัวของความต้องการใช้น้ำมันในปี 2565 สู่ระดับ 3.2 ล้านบาร์เรล/วัน จากระดับ 3 ล้านบาร์เรล/วัน
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (19 ส.ค. 64)
Tags: น้ำมัน WTI, น้ำมันดิบ, ราคาน้ำมัน