ดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภคม.ค. สูงสุดในรอบ 8 เดือน อานิสงส์มาตรการกระตุ้นศก.

 

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดี และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย

ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือนม.ค.68 อยู่ที่ 59.0 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 57.9 ในเดือนธ.ค.67 โดยปรับตัวเพิ่มต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 และถือว่าอยู่ในระดับที่สูงสุดในรอบ 8 เดือน นับตั้งแต่เดือนมิ.ย. 67

การปรับเพิ่มขึ้นของดัชนีความเชื่อมั่นฯ เป็นผลจากผู้บริโภคเริ่มเห็นว่า มาตราการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ช่วยผ่อนคลายให้สถานการณ์เศรษฐกิจเริ่มปรับตัวดีขึ้น และการท่องเที่ยวในประเทศเริ่มปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง

ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวม อยู่ที่ 52.6 ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสในการหางาน อยู่ที่ 56.2 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคต อยู่ที่ 68.1 โดยดัชนีความเชื่อมั่นฯ ทุกตัว ปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 นับตั้งแต่ต.ค.67

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดี และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า แม้ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค จะอยู่ในระดับสูงสุดในรอบ 8 เดือน นับตั้งแต่มิ.ย.67 ก็ตาม แต่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ยังคงเคลื่อนไหวคงอยู่ต่ำกว่าระดับ 100 ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ผู้บริโภคเห็นว่าสถานการณ์เศรษฐกิจโดยรวมยังคงฟื้นตัวช้า และค่าครองชีพสูง ตลอดจนสงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน และอิสราเอล-ฮามาสในฉนวนกาซาที่ยังคงยืดเยื้ออยู่นี้ ส่งผลกระทบทางจิตวิทยาในเชิงลบต่อกำลังซื้อภายในประเทศ ภาคการท่องเที่ยว ภาคการส่งออก ธุรกิจโดยทั่วไป และการจ้างงานในอนาคต โดยมีโอกาสที่จะบั่นทอนความเชื่อมั่นของผู้บริโภคทั้งในปัจจุบันและในอนาคตได้อย่างต่อเนื่องในระยะอันใกล้นี้

อย่างไรก็ดี ผู้บริโภคยังมีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจในอนาคตว่าจะกลับมาฟื้นตัวดีขึ้นได้ หากรัฐบาลสามารถขับเคลื่อน และกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศได้ดีอย่างต่อเนื่อง และไม่มีปัจจัยเสี่ยงใด ๆ เข้ามาเพิ่มเติม ทั้งความเสี่ยงภายในประเทศ และความเสี่ยงภายนอกประเทศ

“ทิศทางความเชื่อมั่นของผู้บริโภคน่าจะค่อย ๆ ปรับตัวดีขึ้นได้ ถ้าไม่มี 2 อุบัติเหตุสำคัญ นั่นคือ 1.เรื่องสงครามจริง และสงครามการค้า 2.ปัญหาการเมืองในประเทศ ที่ตอนนี้พรรคภูมิใจไทย จะไม่ร่วมแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งหากท้ายสุด มีการนำเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญเข้าสู่สภา และทำให้การเมืองขาดเสถียรภาพ ก็จะเป็นปัจจัยลบที่ต้องตามต่อไป แต่ตอนนี้ เรายังไม่เห็นปัจจัยลบที่มีความรุนแรง”

 นายธนวรรธน์ ระบุ

นายธนวรรธน์ กล่าวว่า หากพิจารณาตั้งแต่ช่วงปลายปี 67 ที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่าเศรษฐกิจไทยเริ่มฟื้นตัวดีขึ้น ซึ่งได้ส่งสัญญาณผ่านดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนธ.ค.67 ทั้งเรื่องการซื้อบ้าน ซื้อรถ และการท่องเที่ยว ในขณะที่ยังไม่เห็นสถานการณ์เชิงลบจากผลการสำรวจ อย่างไรก็ดี คงต้องรอติดตามให้เห็นการฟื้นตัวต่อเนื่องอย่างน้อย 6 เดือน

“ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 และสูงสุดในรอบ 8 เดือน หลังจากที่ซึมตัวยาว ตอนนี้เศรษฐกิจไทยพร้อมที่จะเงยหัวขึ้นแล้ว”

 นายธนวรรธน์ ระบุ

ทั้งนี้ ม.หอการค้าไทย ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 4/67 ที่จะมีการรายงานข้อมูลอย่างเป็นทางการจากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) ในวันที่ 17 ก.พ.นั้น คาดว่าจะขยายตัวได้ 3.5-.37% ซึ่งจะเป็นแรงส่งให้เศรษฐกิจไทยทั้งปี 67 สามารถเติบโตได้ในระดับ 2.6% ขณะที่ในปีนี้ ม.หอการค้าไทย ยังคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยจะ ขยายตัวได้ราว 3%

“เราคาดว่า GDP ไตรมาส 4/67 ที่สภาพัฒน์จะประกาศในสัปดาห์หน้า อาจโตได้ 3.5-3.7% ซึ่งจะช่วยดึงให้ทั้งปี 67 GDP โตได้ราว 2.6% ใกล้เคียงกับที่เราคาดไว้ ส่วนทั้งปี 68 เรายังมองไว้ที่ 3% อยู่ในระดับเดียวกับกระทรวงการคลัง ที่ประเมินว่าจะโตได้ 3-3.5% ในปีนี้”

 นายธนวรรธน์ ระบุ

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (13 ก.พ. 68)

Tags: , , ,