นางสาวกมลกาญจน์ คงคาทอง กรรมการผู้จัดการ บริษัท อารยะ แลนด์ ดีเวลลอปเม้นต์ จำกัด กล่าวว่า บริษัท อารยะ แลนด์ ดีเวลลอปเม้นต์ จำกัด บริษัทภายใต้การร่วมทุนของ 3 ผู้นำด้านการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพื่อการอุตสาหกรรมของไทย ได้แก่ บมจ.เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ (ประเทศไทย) [FPT], บมจ.สวนอุตสาหกรรมโรจนะ [ROJNA] และ บริษัท นิคมอุตสาหกรรมเอเซีย จำกัด หรือเอเชีย อินดัสเตรียล เอสเตท เปิดตัว อารยะ ดิ อีสเทิร์น เกตเวย์ (ARAYA THE EASTERN GATEWAY) ที่นับเป็น “The First Industrial Tech Ecosystem in Thailand” หรือ ระบบนิเวศเมืองอุตสาหกรรมและนวัตกรรมครบวงจรรูปแบบใหม่บนพื้นที่กว่า 4,600 ไร่ ซึ่งประกอบไปด้วย แคมปัสด้านอุตสาหกรรมและเทคโนโลยี พื้นที่โลจิสติกส์ นิคมอุตสาหกรรมอารยะ ตลอดจนโซนไลฟ์สไตล์และบริการต่างๆ ศูนย์กลางการให้บริการชุมชน และโครงการที่อยู่อาศัย บนทำเลกิโลเมตรที่ 32 บางนา-ตราด ครอบคลุมเชื่อมต่อไปสู่ทางพิเศษกรุงเทพ-ชลบุรีสายใหม่ (Motorway) ใกล้สนามบินนานาชาติสุวรรณภูมิ พร้อมดึงดูดบริษัทชั้นนำจากหลายภาคส่วน เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้ก้าวหน้าอย่างยั่งยืนต่อไป
อารยะ ดิ อีสเทิร์น เกตเวย์ ถูกพัฒนาขึ้นภายใต้แนวคิด ระบบนิเวศเมืองอุตสาหกรรมและนวัตกรรมที่เชื่อมโยงเป็นหนึ่งเดียวกัน หรือ Industrial Tech Ecosystem โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อบุกเบิกระบบนิเวศแห่งนวัตกรรมด้านอุตสาหกรรม เทคโนโลยีขั้นสูง และโลจิสติกส์แบบครบวงจรที่ยังไม่เคยมีมาก่อนในประเทศไทย พร้อมสนับสนุนความสำเร็จทางธุรกิจของลูกค้า ส่งเสริมคุณภาพชีวิตของบุคลากรในโครงการด้วยสิ่งอำนวยความสะดวก และโครงสร้างพื้นฐานที่ครบครัน ทั้งยังเป็นการส่งเสริมภาพลักษณ์ประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางการลงทุนที่น่าเชื่อถือ และได้รับการยอมรับจากบริษัทระดับนานาชาติ เพื่อดึงดูดการลงทุนจากทั่วโลกเข้ามาส่งเสริมเศรษฐกิจภายในประเทศ
โครงการตั้งอยู่บนประตูสู่ภาคตะวันออก ณ กิโลเมตรที่ 32 ของถนนบางนา-ตราด จังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งนับเป็นทำเลทองของอุตสาหกรรมไทยใกล้กรุงเทพฯ เชื่อมต่อจากถนนบางนา-ตราด สู่ทางพิเศษกรุงเทพ-ชลบุรีสายใหม่ (Motorway) นอกจากนี้ยังสามารถเชื่อมต่อกับเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจที่สำคัญ และท่าเรือแหลมฉบังในเวลาเพียง 60 นาที เหมาะกับการเป็นศูนย์กลางธุรกิจ โลจิสติกส์ อุตสาหกรรม และการค้าระหว่างประเทศ ทั้งยังรายล้อมด้วยศูนย์การผลิตสินค้าจากหลากหลายอุตสาหกรรม เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ ธุรกิจ E-Commerce รวมถึงธุรกิจสินค้าอุปโภคบริโภค (FMCG) ฯลฯ ซึ่งถือเป็นโอกาสใหม่ๆ ในการเปิดรับลูกค้าจากบริเวณใกล้เคียงที่ตั้งของโครงการมาร่วมสร้างมูลค่า พร้อมรองรับการเติบโตและขยายตัวของธุรกิจในอนาคตอย่างเต็มศักยภาพ
อารยะ ดิ อีสเทิร์น เกตเวย์ ออกแบบระบบนิเวศภายในโครงการ ภายใต้ 6 องค์ประกอบหลัก ได้แก่
1. Industrial Tech Campus (แคมปัสด้านอุตสาหกรรมและเทคโนโลยี): พื้นที่ที่ถูกออกแบบให้เป็นแคมปัสของบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีขั้นสูง รวมไปถึงศูนย์ข้อมูล (Data Center) โดยมีสิ่งอำนวยความสะดวกและโครงสร้างพื้นฐานที่ทันสมัย เพื่อสนับสนุนการเติบโตของธุรกิจในกลุ่มอุตสาหกรรมแห่งอนาคต
2. Logistics Park (พื้นที่โลจิสติกส์): พื้นที่สำหรับธุรกิจโลจิสติกส์ คลังสินค้า และศูนย์กระจายสินค้า ด้วยทำเลที่ตั้งที่เชื่อมต่อการคมนาคมขนส่งได้อย่างสะดวก จึงเหมาะสำหรับธุรกิจที่ต้องการความคล่องตัวในการขนส่งสินค้าทั้งภายในและต่างประเทศ
3. ARAYA Industrial Estate (นิคมอุตสาหกรรมอารยะ): พื้นที่สำหรับโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ และตั้งอยู่ในพื้นที่ของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (IEAT) ซึ่งจะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีและการลงทุนต่างๆ ตามนโยบายของภาครัฐ
4. Lifestyle & Amenities (โซนไลฟ์สไตล์และบริการต่างๆ): พื้นที่รีเทล ไลฟ์สไตล์ และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ของโครงการที่มุ่งเน้นการส่งมอบคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับทุกคน
5. Community Services Centre (ศูนย์กลางการให้บริการชุมชน): ศูนย์กลางในการให้บริการชุมชน และช่วยเหลือลูกค้าของโครงการ พร้อมสิ่งอำนวยความสะดวก เช่น สวนสาธารณะ ลู่วิ่ง และสนามฟุตซอล
6. Residential Project (โครงการที่อยู่อาศัย): เตรียมจัดสรรพื้นที่สำหรับพัฒนาเป็นโครงการที่อยู่อาศัยเพื่อรองรับบุคลากร ผู้เชี่ยวชาญ และผู้บริหาร ที่ทำงานในโครงการ เพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดี และลดความจำเป็นในการเดินทาง สอดคล้องกับแนวคิด Work-Live-Play
“อารยะ ดิ อีสเทิร์น เกตเวย์” ไม่ใช่เพียงนิคมอุตสาหกรรม แต่เป็นอสังหาริมทรัพย์เชิงธุรกิจและอุตสาหกรรมใหม่ ในรูปแบบของระบบนิเวศเมืองอุตสาหกรรมและนวัตกรรม เราเชื่อมั่นเป็นอย่างยิ่งว่าด้วยข้อได้เปรียบทั้งด้านเงินลงทุนที่แข็งแกร่ง ความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ ตลอดจนเครือข่ายลูกค้าที่ได้มาจากการผสานความร่วมมือระหว่าง 3 บริษัท จะผลักดันให้โครงการประสบความสำเร็จตามที่ตั้งใจ ปักหมุดหมายใหม่ในการสร้างผลกระทบเชิงบวกให้เศรษฐกิจของประเทศ สังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม โดยปัจจุบันเราได้รับความสนใจและเริ่มมีการติดต่อพูดคุยกลุ่มลูกค้าในหลากหลายอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มอุตสาหกรรม Semiconductor & Electronics, กลุ่มอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า (EV), กลุ่มธุรกิจยาและเวชภัณฑ์ (Pharmaceuticals), ธุรกิจการขนส่งและกระจายสินค้า (Logistics) และกลุ่มธุรกิจศูนย์ข้อมูล (Data Center) และยังคงเปิดรับลูกค้าในเซ็กเมนต์ใหม่ๆ อยู่อย่างต่อเนื่อง
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (11 ก.พ. 68)
Tags: FPT, ROJNA, กมลกาญจน์ คงคาทอง, สวนอุตสาหกรรมโรจนะ, เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้