อินเตอร์เนชั่นแนล เอสโอเอส (International SOS) บริษัทผู้ให้บริการด้านสุขภาพและความมั่นคงปลอดภัยระดับโลก เรียกร้องให้องค์กรต่าง ๆ ใช้มาตรการเชิงรุกเพื่อบริหารจัดการกับผลกระทบจากโรคมะเร็งที่ส่งผลต่อพนักงานมากขึ้น ด้วยการนำโปรแกรมสนับสนุนผู้ป่วยโรคมะเร็งอย่างครอบคลุมเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์ส่งเสริมสุขภาวะของพนักงานในองค์กร
ผลการศึกษาได้แสดงให้เห็นว่า ประชากรวัยทำงานถึงครึ่งหนึ่งมีแนวโน้มที่จะเจ็บป่วยด้วยโรคมะเร็ง ดังนั้น สถานที่ทำงานจึงมีบทบาทสำคัญมากขึ้นในการสนับสนุนและช่วยเหลือพนักงานที่ต้องเผชิญกับโรคร้ายนี้ อัตราการเกิดโรคในยุโรปกลางและหลายพื้นที่ของเอเชียเพิ่มสูงขึ้นจนใกล้เคียงกับระดับที่พบในยุโรปตะวันตก ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ถึงกระนั้น หลายองค์กรก็ยังไม่ได้เตรียมความพร้อมที่จะรับมือกับสถานการณ์นี้ เช่น ใน สหราชอาณาจักร พบว่าองค์กรมากถึง 96% ไม่มีนโยบายโดยเฉพาะสำหรับโรคมะเร็ง และพนักงาน 77% ที่ป่วยด้วยโรคมะเร็งหรือได้รับผลกระทบจากโรคมะเร็งต่างไม่ได้รับสวัสดิการที่เพียงพอต่อความต้องการ
ข้อมูลจาก International SOS Global Assistance (ปี 2565-2567) ระบุว่า โรคมะเร็งเต้านม (28%) และโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก (6.27%) เป็นโรคที่มีการร้องขอความช่วยเหลือที่พบบ่อยที่สุดในผู้หญิงและผู้ชายตามลำดับ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญในการให้การสนับสนุนผู้ป่วยแบบเจาะจง
ดร. เคท โอเรลลี ผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์ของอินเตอร์เนชั่นแนล เอสโอเอส กล่าวว่า การสนับสนุนพนักงานที่ไม่เท่าเทียมกันนี้เน้นให้เห็นถึงความจำเป็นอย่างเร่งด่วนในการนำโปรแกรมสนับสนุนผู้ป่วยโรคมะเร็งอย่างครอบคลุมเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์ส่งเสริมสุขภาวะของพนักงานในองค์กร การให้ความรู้แก่พนักงานเกี่ยวกับความเสี่ยงของโรคมะเร็ง การส่งเสริมวิถีชีวิตที่ดีต่อสุขภาพ และการสนับสนุนให้มีการตรวจคัดกรองโรคตั้งแต่เนิ่น ๆ ถือเป็นมาตรการสำคัญในการลดความเสี่ยงของโรคมะเร็ง พร้อมทั้งสร้างความมั่นใจว่าพนักงานจะได้รับการสนับสนุนที่จำเป็นตลอดระยะเวลาในการดูแลสุขภาพของตนเอง
องค์กรต่าง ๆ สามารถปรับปรุงโปรแกรมสนับสนุนผู้ป่วยโรคมะเร็งได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วยการทำความเข้าใจความต้องการเฉพาะตัวของพนักงานแต่ละราย รวมถึงเปิดโอกาสให้พนักงานเข้ารับการตรวจคัดกรองโรคและเข้าถึงข้อมูลที่เป็นประโยชน์อย่างสม่ำเสมอ นอกจากนี้ องค์กรจำเป็นต้องสร้างสภาพแวดล้อมที่พนักงานรู้สึกสบายใจในการพูดคุยเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพของตนเองและขอรับความช่วยเหลือที่จำเป็น โดยนโยบายเชิงรุกและครอบคลุมในการดูแลผู้ป่วยโรคมะเร็งในที่ทำงานไม่เพียงแต่เป็นประโยชน์ต่อพนักงานเท่านั้น แต่ยังช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นและประสิทธิภาพโดยรวมขององค์กรอีกด้วย
อินเตอร์เนชั่นแนล เอสโอเอส นำเสนอ 5C สร้างสภาพแวดล้อมการทำงานที่เอื้อต่อผู้ป่วยโรคมะเร็ง เพื่อช่วยเหลือองค์กรในการพัฒนาโปรแกรมส่งเสริมสุขภาวะของพนักงาน ดังนี้
1. Champion awareness and prevention (การสร้างความตระหนักรู้และการป้องกัน)
• ใช้มาตรการเชิงรุกในการให้ความรู้แก่พนักงาน พร้อมทั้งเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับการป้องกันโรค การตรวจคัดกรองโรคตั้งแต่เนิ่น ๆ และการให้บริการช่วยเหลือ ผ่านช่องทางต่าง ๆ เช่น การประชุมเชิงปฏิบัติการ งานสัมมนา การนำเสนอ อีเมลภายในองค์กร โปสเตอร์ประชาสัมพันธ์ และจดหมายข่าว
2. Care and support (การดูแลและช่วยเหลือ)
• ให้ความช่วยเหลือพนักงานอย่างรอบด้านครอบคลุมทุกช่วงเวลาในการรักษาโรค ซึ่งรวมถึงการตรวจคัดกรองโรค การสนับสนุนทางการแพทย์ การให้คำปรึกษา และการจัดตารางงานที่ยืดหยุ่นเพื่อให้เอื้ออำนวยต่อการรักษาโรค
3. Conduct a workplace assessment (การประเมินสถานที่ทำงาน)
• ส่งเสริมสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยและเต็มไปด้วยกำลังใจ เพื่อให้พนักงานรู้สึกสบายใจในการพูดคุยเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพ การวินิจฉัยโรค และแผนการรักษา โดยไม่ต้องกลัวว่าจะถูกตัดสินหรือเลือกปฏิบัติ
4. Communication and collaboration (การสื่อสารและร่วมมือ)
• วิเคราะห์ปัจจัยที่ทำให้เกิดอันตรายในสถานที่ทำงานซึ่งอาจเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็ง เช่น การสัมผัสกับสารก่อมะเร็ง และใช้มาตรการควบคุมเพื่อลดความเสี่ยง รวมถึงส่งเสริมสภาพแวดล้อมการทำงานที่ดีต่อสุขภาพ ทั้งนี้ การทำงานในออฟฟิศสมัยใหม่อาจนำไปสู่ปัจจัยเสี่ยงสามประการที่เพิ่มโอกาสในการเกิดโรคมะเร็ง ได้แก่ ภาวะน้ำหนักเกิน การรับประทานอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพ และภาวะที่ร่างกายมีการเคลื่อนไหวน้อยหรือไม่เพียงพอในแต่ละวัน
5. Confidentiality and respect (การรักษาความลับและเคารพความเป็นส่วนตัว)
• ปฏิบัติตามนโยบายและขั้นตอนที่ชัดเจนในการจัดการข้อมูลสุขภาพของพนักงาน และสร้างความมั่นใจว่าพนักงานทุกคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้จัดการและหัวหน้างาน ได้รับการฝึกอบรมเกี่ยวกับการรักษาความลับและการให้ความช่วยเหลือที่ต้องใช้ความละเอียดอ่อนและระมัดระวัง
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (07 ก.พ. 68)
Tags: International SOS, สุขภาพ, โรคมะเร็ง