นายบุรินทร์ อดุลวัฒนะ กรรมการผู้จัดการ และ Chief Economist บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด ระบุว่า หลังจากที่ประธานาธิบดีสหรัฐ “โดนัลด์ ทรัมป์” ได้กลับมาดำรงตำแหน่งอีกครั้งหนึ่ง ความชัดเจนต่อนโยบายการค้า ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ก็เริ่มมีมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นโยบาย America First ที่สหรัฐฯ จะนำผลประโยชน์ของสหรัฐฯ เป็นที่ตั้ง
ทั้งนี้ มองว่านโยบายทรัมป์ 2.0 จะยังคงใช้ภาษีนำเข้าเป็นเครื่องมือ เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อสหรัฐฯ ซึ่งได้เห็นนโยบายต่างประเทศของสหรัฐฯ มีการใช้ภาษีนำเข้า เป็นเครื่องมือในการเจรจา เพื่อให้บรรลุเป้าหมายด้านการเมืองและความมั่นคง ในประเด็นเรื่องคนลักลอบเข้าเมือง และปัญหายาเสพติด รวมถึงความต้องการขยายดินแดนและอิทธิพลไปนอกสหรัฐฯ อาทิ คลองปานามา กรีนแลนด์ และแคนาดา
ในแนวคิดของรัฐบาลทรัมป์ วาระแรก ได้มีการขึ้นภาษีนำเข้า โดยเฉพาะจากจีน และมีการเปลี่ยนสนธิสัญญา ความตกลงการค้าเสรีอเมริกาเหนือ หรือ NAFTA มาเป็นข้อตกลงสหรัฐฯ-เม็กซิโก-แคนาดา หรือ USMCA โดยสงครามการค้า มีผลลบกับเศรษฐกิจสหรัฐฯ น้อยกว่าประเทศอื่นที่ค้าขายกับสหรัฐฯ
สะท้อนจากแนวคิด ที่นาย Robert Lightizer ซึ่งเป็นมันสมองของการวางกลยุทธ์สงครามการค้ารอบแรก ได้กล่าวว่า สหรัฐฯ ควรจะมองจีนเป็นคู่แข่งอันดับหนึ่ง ทั้งด้านการทหาร เศรษฐกิจ และความมั่นคง เนื่องจากการที่สหรัฐฯ ขาดดุลการค้ากับจีนมากๆ ไม่เป็นผลดีกับสหรัฐฯ ในระยะยาว เพราะฉะนั้นนโยบายต่างๆ จึงต้องการบรรลุเป้าการลดการพึ่งพาเศรษฐกิจจีน และลดการขาดดุลการค้า
นอกจากนั้น สหรัฐฯ ยังต้องการให้มีการสร้างงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคการผลิต อาทิ อุตสาหกรรมรถยนต์ และยังมีแนวคิดที่ว่าแม้แต่ประเทศพันธมิตรของสหรัฐฯ ก็ได้มีการเอาเปรียบทางการค้ากับสหรัฐฯ มาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นเม็กซิโก แคนาดา สหภาพยุโรป และประเทศอื่น
นายบุรินท์ มองว่า นโยบายทรัมป์ 2.0 ประเทศไทยน่าจะได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จากการที่ประเทศไทยเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ เป็นอันดับที่ 10 ของโลก แสดงให้เห็นว่าประเทศไทยมีความเสี่ยงที่จะโดนจับตาจากสหรัฐฯ ดังนั้น กลยุทธ์ของไทยในการรับมือ คงต้องเปิดตลาดให้กับธุรกิจสหรัฐฯ มากขึ้น หรือเพิ่มการนำเข้าสินค้าของสหรัฐฯ เพื่อลดการได้ดุลการค้ากับสหรัฐฯ
“โจทย์สำคัญของไทย คือต้องพยายามลดการเกินดุลการค้าไทยต่อสหรัฐฯ 30,000 ล้านดอลลาร์ โดยไทยอาจต้องใช้ยุทธศาสตร์เหมือนประเทศจีน คือหากไม่สามารถลดการส่งออกสินค้าไปสหรัฐฯ ได้ ก็อาจต้องเพิ่มการนำเข้าจากสหรัฐฯ แทน
โดยสินค้านำเข้าหลักของไทย 10 อันดับจากสหรัฐฯ ได้แก่ น้ำมันดิบ, เครื่องยนต์ยานพาหนะ (รถยนต์ เครื่องบิน), เคมีภัณฑ์, ก๊าซธรรมชาติ, เครื่องบินเล็ก, แผงวงจรคอมพิวเตอร์, ICs, อุปกรณ์การแพทย์, ชิ้นส่วนยานยนต์ (พวงมาลัย กระปุกเกียร์) และถั่วเหลือง ข้าวสาลี
“สหรัฐฯ อยากให้การจ้างงานกลับไปที่สหรัฐฯ อยากให้การผลิตกลับไปที่ประเทศตัวเอง ซึ่งมีบางสินค้าที่นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ประกาศออกมาชัดเจน เช่น ยานยนต์ แล๊ปท็อป อาวุธ เหล็ก โดรน สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ แผงโซลาร์ ยา หรือ AI เป็นต้น ซึ่งทั้งหมดเป็นกลุ่มสินค้าที่ไทยต้องระวัง นอกจากนี้ สินค้าที่ไทยเป็นฐานการผลิตให้จีน ก็จะมีความเสี่ยงสูงที่สหรัฐฯ จะเพ่งเล็งด้วยเช่นกัน” นายบุรินทร์ กล่าว
อย่างไรก็ดี แม้ไทยจะโดนกีดกันทางการค้า แต่สินค้ายางล้อจะยังไปต่อได้ จากความได้เปรียบด้านต้นทุน เนื่องจากไทยเป็นฐานการผลิตต้นน้ำ ซึ่งสหรัฐฯ ไม่สามารถผลิตยางเองได้
ในส่วนของสินค้าโซลาร์ ไทยโดนกำแพงภาษีสหรัฐฯ โดยส่งออกโซลาร์ไทยไปสหรัฐฯ หดตัวหลังถูกเก็บภาษี Circumvention หรือโดนตัดสินว่าไทยเป็นฐานการผลิตของจีน ส่งผลให้ผู้ผลิตย้ายฐานไปประเทศเพื่อนบ้าน เช่น จีนลงทุนผลิตโซลาร์ในอินโดนีเซีย และสปป.ลาว หลังจากที่ไทยโดน Circumvention
“ไทยควรแก้ปัญหาเศรษฐกิจภายในประเทศที่มี และไม่ควรพึ่งพาการนำเข้า-ส่งออกกับประเทศใดประเทศหนึ่งมากเกินไป รวมทั้งไม่ควรเลือกข้าง ไม่ว่าจะจีน หรือสหรัฐฯ ก็ตาม และเน้นการเจรจาเพื่อรักษาผลประโยชน์ของตนเองให้ได้มากที่สุด” นายบุรินทร์ กล่าว
พร้อมระบุว่า ถ้าสุดท้ายแล้วการเจรจาไม่เป็นผล ไทยถูกสหรัฐฯ ขึ้นภาษีศุลกากร (Tariff) ภาคการส่งออกของไทย ก็จะได้รับผลกระทบ โดยคาดว่า GDP จะหายไป 0.5% และค่าเงินบาทน่าจะมีแนวโน้มอ่อนค่าได้ อย่างไรก็ดี ต้องรอติดตามความชัดเจนของมาตรการในวันที่ 1 เม.ย. นี้ ซึ่งเชื่อว่าหากไทยได้รับผลกระทบ ก็น่าจะเกิดขึ้นพร้อมกันกับประเทศอื่น ๆ เช่นกัน
นายบุรินทร์ ยังมองว่า หากผลกระทบจากสงครามการค้าขยายวงกว้าง ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อาจจะไม่สามารถลดดอกเบี้ยนโยบายเพิ่ม จากที่คาดว่าจะลดลง 2 ครั้งในปีนี้
“นโยบายทรัมป์ 2.0 จะเน้นการสร้างความมั่นคงทางด้านเศรษฐกิจ และการทหารให้กับสหรัฐฯ เป็นหลัก เราจึงจะเห็นการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญของเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ที่สหรัฐฯ จะใช้ความยิ่งใหญ่ทางเศรษฐกิจของตนเอง เป็นเครื่องมือต่อรองให้สหรัฐฯ ได้ประโยชน์จากความสัมพันธ์อย่างมากที่สุด” นายบุรินทร์ กล่าว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (06 ก.พ. 68)
Tags: การค้าโลก, ทรัมป์ 2.0, บุรินทร์ อดุลวัฒนะ, ศูนย์วิจัยกสิกรไทย, เศรษฐกิจโลก