กองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูนิเซฟ (UNICEF) ระบุว่า มลพิษทางอากาศเชื่อมโยงกับการเสียชีวิตรายวันของเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี มากกว่า 100 คนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก ขณะที่หลายประเทศในภูมิภาคแห่งนี้กำลังต่อสู้กับมลพิษทางอากาศที่พุ่งสูงขึ้น
สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานผลการศึกษาครั้งใหม่ของยูนิเซฟซึ่งเผยแพร่ในวันนี้ (6 ก.พ.) ว่า อัตราการเสียชีวิตที่เชื่อมโยงกับมลพิษนั้น คิดเป็นเกือบ 1 ใน 4 ของการเสียชีวิตทั้งหมด โดยผลกระทบที่เกิดขึ้นกับเด็กเหล่านี้จะยังคงอยู่จนถึงวัยผู้ใหญ่
ยูนิเซฟระบุว่า เด็กจำนวน 500 ล้านคนในเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกต้องเผชิญกับมลพิษทางอากาศในระดับที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ โดยมลพิษภายในครัวเรือน ซึ่งเกิดจากเชื้อเพลิงที่ใช้ในการทำอาหารและให้ความร้อน อาจเป็นสาเหตุการเสียชีวิตมากที่สุดในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี
ขณะเดียวกัน ยูนิเซฟระบุว่า มีเด็กจำนวน 325 ล้านคนอาศัยอยู่ในประเทศที่มีระดับของฝุ่นละอองขนาดเล็ก หรือ PM2.5 เฉลี่ยรายปีสูงกว่าคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก (WHO) อย่างน้อย 5 เท่า ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากการเผาไหม้ของเชื้อเพลิงฟอสซิล เชื้อเพลิงชีวมวล และขยะทางการเกษตร
รายงานของยูนิเซฟระบุว่า มลพิษทางอากาศสามารถส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโตและพัฒนาการทางสติปัญญาของเด็กเล็ก และอาจส่งผลกระทบระยะยาวในช่วงวัยต่าง ๆ ของชีวิตเด็ก เช่น ทำให้เกิดโรคหอบหืด ทำให้ปอดเสียหาย และทำให้พัฒนาการของเด็กล่าช้า หรือแม้แต่ทำให้เกิดโรคเรื้อรังเช่น โรคเบาหวานและโรคหัวใจ
“ทุกลมหายใจมีความสำคัญ แต่มีเด็กจำนวนมากเกินไปที่ทุกลมหายใจอาจนำอันตรายมาสู่พวกเขา อากาศที่พวกเขาหายใจเข้าไปในช่วงเวลาที่ร่างกายและจิตใจของพวกเขากำลังมีพัฒนาการนั้น มักมีมลพิษในระดับที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ซึ่งอาจส่งผลต่อการเจริญเติบโต เป็นอันตรายต่อปอด และบั่นทอนพัฒนาการทางสติปัญญาของพวกเขา”
จูน คูนูงิ ผู้อำนวยการองค์การยูนิเซฟ สำนักงานภาคพื้นภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก กล่าวในแถลงการณ์
เมืองต่าง ๆ ในเอเชียตั้งแต่กรุงนิวเดลีของอินเดีย ไปจนถึงกรุงธากาของบังกลาเทศ และจังหวัดกรุงเทพฯ เมืองหลวงของไทย กำลังต่อสู้กับมลพิษทางอากาศที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพในขณะนี้ อันเนื่องมาจากการเผาพืชทางการเกษตรตามฤดูกาล มลพิษจากยานพาหนะ และปรากฏการณ์ทางสภาพอากาศที่กักเก็บอนุภาคฝุ่นในชั้นบรรยากาศ ขณะที่เจ้าหน้าที่ในกรุงเทพฯ ได้เรียกร้องให้ประชาชนทำงานจากที่บ้านและปิดโรงเรียนมากกว่าสิบแห่งเพื่อลดการสัมผัสกับอากาศที่สกปรก นอกจากนี้ กรุงเทพฯ ยังได้ให้บริการรถไฟฟ้าสาธารณะฟรีเป็นเวลา 1 สัปดาห์เพื่อลดการปล่อยมลพิษจากรถยนต์บนท้องถนน
ธนาคารโลกเปิดเผยข้อมูลเมื่อไม่นานมานี้ว่า ความเสียหายทางเศรษฐกิจที่เกิดจากมลพิษทางอากาศในเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกอยู่ที่ 2.5 ล้านล้านดอลลาร์ในปี 2562 คิดเป็น 9.3% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของภูมิภาค
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (06 ก.พ. 68)
Tags: PM2.5, ฝุ่น PM2.5, มลพิษทางอากาศ, ยูนิเซฟ