หลังรับตำแหน่งประธานาธิบดีเพียง 2 สัปดาห์ โดนัลด์ ทรัมป์ สร้างแรงสั่นสะเทือนต่อเศรษฐกิจโลกด้วยการประกาศเรียกเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากประเทศคู่ค้าหลักอย่างแคนาดา เม็กซิโก และจีน ส่งผลให้นักลงทุนพากันวิตกกังวลว่าอาจจะนำไปสู่การทำสงครามการค้าโลกรอบใหม่ที่อาจฉุดรั้งการเติบโตทางเศรษฐกิจ และดันเงินเฟ้อพุ่งขึ้นอีกรอบ แต่ผ่านไปไม่ถึง 2 วันดี ผู้นำสหรัฐฯ ก็สั่งระงับเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากแคนาดาและเม็กซิโกเป็นเวลาอย่างน้อย 30 วัน แต่ยังคงรีดภาษีจากจีน รวมถึงขู่ว่าจะเก็บภาษีจากสหภาพยุโรป (EU) เป็นรายต่อไป
In Focus สัปดาห์นี้จึงจะพาไปเกาะติดสถานการณ์ล่าสุดของมาตรการขึ้นภาษีสินค้านำเข้าครั้งใหม่ของสหรัฐฯ ที่มีเป้าหมายไกลกว่าแค่การแก้ปัญหาการค้า พร้อมทั้งเจาะลึกหาสาเหตุและความเป็นมา รวมถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตที่คาดเดาไม่ได้นี้
“ทรัมป์” เปิดฉากสงครามการค้ายกแรก
ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐฯ ลงนามคำสั่งฝ่ายบริหารเมื่อวันเสาร์ (1 ก.พ.) ประกาศเรียกเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากเม็กซิโกและแคนาดาในอัตรา 25% และจากจีนในอัตรา 10% ซึ่งต่ำกว่าที่เขาเคยขู่ก่อนหน้านี้ว่าจะรีดภาษีจากจีนสูงถึง 60% รวมถึงยกเลิกข้อยกเว้นภาษีสินค้าที่มีมูลค่าไม่เกิน 800 ดอลลาร์จากแคนาดา
นอกจากนี้ สหรัฐฯ ยังเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าประเภทพลังงานและน้ำมันจากแคนาดาในอัตราเพียง 10% เพื่อไม่ให้กระทบต่อโรงกลั่นน้ำมันและรัฐในเขตมิดเวสต์ที่พึ่งพาพลังงานจากแคนาดา โดยมาตรการนี้เริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันอังคาร (4 ก.พ.) ตามเวลาสหรัฐฯ
ปธน.ทรัมป์ยอมรับว่ามาตรการขึ้นภาษีอาจสร้างความลำบากให้แก่ชาวอเมริกันในระยะสั้น แต่ยืนยันว่าการขึ้นภาษีนี้จำเป็นเพื่อแก้ปัญหาการขาดดุลการค้า ภัยคุกคามจากยาเฟนทานิล (fentanyl) การอพยพเข้าเมืองที่ผิดกฎหมาย และการลักลอบนำเข้ายาเสพติด รวมถึงส่งเสริมภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมการผลิตในประเทศ
เฟนทานิล-อพยพผิดกฎหมาย ต้นเหตุมาตรการรีดภาษี
มาตรการเก็บภาษีครั้งนี้สอดคล้องกับที่ปธน.ทรัมป์เคยให้คำมั่นสัญญาไว้ในระหว่างการหาเสียงเลือกตั้งปี 2567 เพื่อปกป้องผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ซึ่งแคโรไลน์ เลวิตต์ โฆษกทำเนียบขาวได้ระบุว่าเป็นมาตรการตอบโต้ที่ทั้งสามประเทศดังกล่าวล้มเหลวในการแก้ไขปัญหาการเข้าเมืองที่ผิดกฎหมายและลักลอบค้ายาเสพติด ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญตามแนวชายแดนสหรัฐฯ
การใช้มาตรการภาษีนี้จึงมีเป้าหมายเพื่อกดดันให้รัฐบาลของทั้งสามประเทศเพิ่มความเข้มงวดในการป้องกันการลักลอบค้ายาเสพติดและการอพยพผิดกฎหมาย ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญตามแนวชายแดนสหรัฐฯ โดยเฉพาะปัญหาของเฟนทานิล ที่กำลังแพร่ระบาดในสหรัฐฯ จนคร่าชีวิตชาวอเมริกันจำนวนมาก
ปธน.ทรัมป์กล่าวหาว่าจีนเป็นแหล่งผลิตสารเคมีที่ใช้ในการผลิตเฟนทานิล ซึ่งถูกส่งไปยังองค์กรอาชญากรรมในเม็กซิโกและดำเนินการในห้องแล็บสังเคราะห์ในแคนาดา ก่อนที่จะลักลอบข้ามพรมแดนเข้าสู่สหรัฐฯ แม้ว่านายกรัฐมนตรีจัสติน ทรูโดของแคนาดายืนยันว่า เฟนทานิลที่เข้าสู่สหรัฐฯ นั้นมาจากแคนาดาน้อยกว่า 1% ก็ตาม
นอกจากนี้ ปธน.ทรัมป์ยังเชื่อว่าการเก็บภาษีจะช่วยดึงเม็ดเงินและกระตุ้นการผลิตภายในประเทศ ปกป้องการจ้างงาน และเพิ่มรายได้จากภาษีให้กับสหรัฐฯ แม้จะมีผลกระทบในระยะสั้น แต่ปธน.ทรัมป์มองว่าเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อยุติการเอาเปรียบทางการค้าที่สหรัฐฯ เผชิญมาอย่างยาวนาน
เม็กซิโก แคนาดา จีน ประกาศพร้อมตอบโต้
หลังจากที่ปธน.ทรัมป์ประกาศมาตรการเก็บภาษีนำเข้าจากแคนาดา เม็กซิโก และจีน ทั้ง 3 ประเทศได้ออกมาประณามการตัดสินใจและยืนยันว่าจะออกมาตรการตอบโต้
ประธานาธิบดีคลอเดีย เชนบาม ผู้นำเม็กซิโก ได้สั่งการให้กระทรวงเศรษฐกิจดำเนินมาตรการตอบโต้ ทั้งในรูปแบบภาษีและมาตรการที่มิใช่ภาษี ขณะเดียวกันก็เปิดทางสำหรับการเจรจา พร้อมปฏิเสธข้อกล่าวหาจากทำเนียบขาวที่ระบุว่า รัฐบาลเม็กซิโกสมรู้ร่วมคิดกับองค์กรอาชญากรรมและพยายามแทรกแซงชายแดนของสหรัฐฯ
ด้านนายกรัฐมนตรีทรูโดของแคนาดาประกาศเรียกเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ 25% ครอบคลุมสินค้าหลากหลายประเภท ตั้งแต่เครื่องดื่มไปจนถึงเครื่องใช้ไฟฟ้า โดยแคนาดาจะเก็บภาษีสินค้าสหรัฐฯ รวม 1.55 แสนล้านดอลลาร์แคนาดา (ราว 1.07 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ) โดยจะเริ่มจากสินค้ามูลค่า 3 หมื่นล้านดอลลาร์แคนาดาในวันอังคารนี้ (4 ก.พ.) จากนั้นจะเก็บภาษีสินค้าที่เหลืออีก 1.25 แสนล้านดอลลาร์แคนาดาในอีก 21 วัน
ส่วนจีนก็ออกมาประณามมาตรการภาษีของสหรัฐฯ พร้อมยืนยันว่าจะยื่นคำร้องต่อองค์การการค้าโลก (WTO) เพื่อคัดค้านนโยบายดังกล่าว และย้ำว่าจีนให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่ในการปราบปรามการค้ายาเสพติดมาโดยตลอด
มาตรการรีดภาษีสะเทือนตลาดหุ้น ค่าเงินร่วง
มาตรการขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ สร้างแรงสั่นสะเทือนต่อตลาดการเงินทั่วโลกทันทีที่ตลาดเปิดทำการในวันจันทร์ (3 ก.พ.) โดยเฉพาะค่าเงินของ 3 ประเทศคู่ค้า เงินหยวนของจีนดิ่งลงทำสถิติต่ำสุดในการซื้อขายนอกประเทศ พร้อมกับเงินเปโซของเม็กซิโกและดอลลาร์แคนาดาที่ทรุดหนักสู่ระดับต่ำสุดในรอบหลายปี ซึ่งสะท้อนความกังวลของนักลงทุนต่อความเสี่ยงที่อาจบานปลายเป็นสงครามการค้า
ผลกระทบได้ลุกลามสู่ตลาดหุ้นทั่วโลกในทันทีที่เปิดตลาดทำการ โดยตลาดหุ้นญี่ปุ่นดิ่งลง 1.61% ตลาดหุ้นออสเตรเลียปรับตัวลง 1.86% และตลาดหุ้นฮ่องกงซึ่งมีบริษัทจีนจดทะเบียนเป็นจำนวนมาก ปรับตัวลง 0.87% ขณะที่ตลาดหุ้นเกาหลีใต้ทรุดตัวลงถึง 2.32%
ด้านตลาดหุ้นยุโรปก็ไม่รอดพ้นจากแรงเทขาย โดยดัชนี Stoxx 600 ซึ่งรวมหุ้นชั้นนำของยุโรปร่วงลง 1.5% ขณะที่ตลาดหุ้นลอนดอนปรับตัวลง 1.3% พร้อมกับค่าเงินยูโรที่อ่อนค่าลง 1.3% ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงผลกระทบที่แผ่ขยายไปทั่วระบบการเงินโลก
“ทรัมป์” เลื่อนเวลาเก็บภาษีแคนาดา-เม็กซิโก แต่เดินหน้าเก็บจากจีน 10%
ผ่านพ้นไปไม่ถึง 48 ชั่วโมง ปธน.ทรัมป์สั่งระงับแผนเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากแคนาดาเป็นเวลาอย่างน้อย 30 วัน หลังจากที่แคนาดาและเม็กซิโกยินยอมเพิ่มมาตรการเข้มงวดในการตรวจตราชายแดน เพื่อปราบปรามการลักลอบขนยาเสพติดและการอพยพเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย
รัฐบาลแคนาดาภายใต้การนำของทรูโด ประกาศทุ่มงบประมาณ 1.3 พันล้านดอลลาร์แคนาดา เพื่อติดตั้งเทคโนโลยีขั้นสูง เพิ่มจำนวนเฮลิคอปเตอร์ และเสริมกำลังเจ้าหน้าที่ตามแนวชายแดนสหรัฐฯ มุ่งสกัดการลักลอบขนยาเสพติดเฟนทานิล ขณะที่เม็กซิโกเตรียมส่งทหาร 10,000 นายไปประจำการตามแนวชายแดน เพื่อปราบปรามการอพยพเข้าเมืองและการลักลอบนำยาเสพติดจากเม็กซิโกเข้าสู่สหรัฐฯ โดยเฉพาะยาเฟนทานิล
อย่างไรก็ตาม สหรัฐฯ ยังคงเดินหน้าเก็บภาษีนำเข้าจากจีนในอัตรา 10% พร้อมเตือนว่าจะเรียกเก็บภาษีสูงขึ้น หากจีนไม่หยุดยั้งปัญหาเฟนทานิลที่ทะลักเข้าสหรัฐฯ แม้จีนตอบโต้ว่าวิกฤตเฟนทานิลเป็นปัญหาของสหรัฐฯ ก็ตาม
จีนซัดกลับทรัมป์ สั่งขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าสหรัฐฯ 10-15%
เพียงไม่กี่นาทีหลังจากที่มาตรการภาษีของสหรัฐฯ มีผลบังคับใช้ในวันอังคาร กระทรวงการคลังจีนตอบโต้ทันทีด้วยการเรียกเก็บภาษีนำเข้าถ่านหินและก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) จากสหรัฐฯ 15% และเรียกเก็บภาษีนำเข้าน้ำมันดิบ อุปกรณ์ด้านการเกษตร และรถยนต์บางประเภท ในอัตรา 10% ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 10 ก.พ.
นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์จีนยังประกาศมาตรการควบคุมการส่งออกแร่หายาก 5 ชนิด ได้แก่ ทังสเตน เทลลูเรียม บิสมัท อินเดียม และโมลิบดีนัม ซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญในอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ พลังงานสะอาด และอุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูง โดยบ่งชี้ให้เห็นว่าจีนใช้ข้อได้เปรียบด้านการครองตลาดแร่หายากเป็นเครื่องมือต่อรองทางการค้า
ทางการจีนยังเอาคืนสหรัฐฯ ด้วยการดำเนินการสอบสวนอัลฟาเบท (Alphabet) ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของกูเกิล (Google) ในข้อหาละเมิดกฎหมายป้องกันการผูกขาดของจีน พร้อมขึ้นบัญชีบริษัทอิลลูมินา อิงค์ (Illumina, Inc) บริษัทเทคโนโลยีชีวภาพของสหรัฐฯ และบริษัทพีวีเอช คอร์ป (PVH Corp) ผู้ผลิตเครื่องแต่งกายของสหรัฐฯ เจ้าของแบรนด์คาลวิน ไคล์น (Calvin Klein) ในฐานะองค์กรที่ไม่น่าเชื่อถือ โดยอ้างว่ามีการละเมิดหลักการทางการค้า บ่อนทำลายการแข่งขันที่เป็นธรรม และเลือกปฏิบัติต่อบริษัทจีน
จอช ลิปสกี ผู้อำนวยการอาวุโสจากศูนย์ภูมิเศรษฐศาสตร์ของสภาแอตแลนติกมองว่า การที่จีนตอบโต้ทันทีต่อการขึ้นภาษีนำเข้านั้น ถือเป็นการตอบสนองแบบประนีประนอมเพื่อป้องกันไม่ให้สถานการณ์บานปลาย โดยย้ำชัดว่าสิ่งที่จีนคาดหวังก็คือต้องการให้ปธน.ทรัมป์หยุดเพียงแค่นี้
“ทรัมป์-สี” ส่งสัญญาณเจรจาสงบศึก
ความหวังในการยุติสงครามการค้าระหว่างสองมหาอำนาจเริ่มมีความชัดเจนมากขึ้น หลังจากแคโรไลน์ เลวิตต์ โฆษกทำเนียบขาวเปิดเผยว่า ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ได้ติดต่อปธน.ทรัมป์เพื่อหารือประเด็นมาตรการภาษีนำเข้า โดยทั้งสองฝ่ายจะเริ่มการเจรจาทางโทรศัพท์อย่างเร็วที่สุดในสัปดาห์นี้ เพื่อหาทางออกและป้องกันไม่ให้สถานการณ์ลุกลามเป็นสงครามการค้าเต็มรูปแบบ
แม้ยังไม่มีการกำหนดวันเจรจาที่แน่ชัด และปธน.ทรัมป์เองก็ยืนยันว่าไม่เร่งรีบในเรื่องนี้ แต่นักลงทุนมองว่าการพูดคุยครั้งนี้อาจนำไปสู่การชะลอการเก็บภาษี เช่นเดียวกับที่ปธน.ทรัมป์ได้เจรจาร่วมกับผู้นำแคนาดาและเม็กซิโก จนนำไปสู่การเลื่อนการบังคับใช้มาตรการภาษีออกไป 1 เดือน
ความเคลื่อนไหวดังกล่าวส่งผลให้ตลาดหุ้นเอเชียพากันเปิดในแดนบวกเช้าวันนี้ (5 ก.พ.) ซึ่งสะท้อนถึงความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่อโอกาสที่ทั้งสองประเทศจะสามารถบรรลุข้อตกลงทางการค้าร่วมกันได้
ผลกระทบต่อสหรัฐฯ
หากมาตรการขึ้นภาษีนำเข้าของปธน.ทรัมป์มีผลบังคับใช้ คาดว่าจะส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ เนื่องจากทั้งสามประเทศคู่ค้านี้มีมูลค่าการนำเข้ารวมกันถึง 1.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2566 หรือเกือบครึ่งหนึ่งของการนำเข้าทั้งหมดของสหรัฐฯ
แท็ก ฟาวน์เดชัน (Tax Foundation) สถาบันคลังสมองในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี.ประเมินว่า มาตรการนี้จะเพิ่มภาระภาษีรวม 1.2 ล้านล้านดอลลาร์ โดยผลกระทบจะรุนแรงที่สุดในอุตสาหกรรมยานยนต์ที่ราคารถยนต์อาจเพิ่มขึ้น 3,000 ดอลลาร์ต่อคัน เนื่องจากสหรัฐฯ นำเข้าชิ้นส่วนเกือบครึ่งหนึ่งจากสองประเทศเพื่อนบ้าน
ด้านราคาพลังงานก็มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะในรัฐเขตมิดเวสต์ที่ราคาน้ำมันอาจเพิ่มขึ้นถึงแกลลอนละ 50 เซนต์ เนื่องจากทั้งสองประเทศเป็นผู้ส่งออกน้ำมันดิบรายใหญ่ให้กับโรงกลั่นในสหรัฐฯ หรือคิดเป็น 70% ของการนำเข้าน้ำมันดิบทั้งหมด ขณะที่ราคาอาหารโดยเฉพาะผักและผลไม้สดก็จะได้รับผลกระทบอย่างหนัก เนื่องจากเม็กซิโกเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ที่สุดของสหรัฐฯ โดยส่งออกผักกว่า 60% และส่งออกผลไม้และถั่วเกือบ 50% ของการนำเข้าทั้งหมด
เอสวาร์ พราสาด ผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายการค้าจากมหาวิทยาลัยคอร์เนลล์เตือนว่า มาตรการภาษีนี้อาจส่งผลเสียต่อผู้ส่งออกสหรัฐฯ เนื่องจากจะต้องเจอกับการกีดกันทางภาษีที่สูงขึ้นในตลาดต่างประเทศ และทำให้เงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้ความสามารถในการแข่งขันของสินค้าอเมริกันลดลงในตลาดโลก
ผลกระทบต่อแคนาดา-เม็กซิโก
มาตรการขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ คาดว่าจะส่งผลกระทบอย่างหนักต่อเศรษฐกิจแคนาดาและเม็กซิโก เนื่องจากทั้งสองประเทศพึ่งพาการค้าระหว่างประเทศสูงถึง 70% ของ GDP โดยเฉพาะเม็กซิโกที่ส่งออกสินค้ากว่า 80% ไปยังสหรัฐฯ ซึ่งรวมถึงรถยนต์ เครื่องจักร ผลไม้ ผัก และอุปกรณ์การแพทย์ โดยคิดเป็น 15% ของการนำเข้าทั้งหมดของสหรัฐฯ
บลูมเบิร์ก อีโคโนมิกส์ประเมินว่าการขึ้นภาษีนำเข้า 25% จะฉุดให้ GDP ของเม็กซิโกลดลงถึง 16% โดยผลกระทบหนักสุดจะตกอยู่ที่อุตสาหกรรมยานยนต์ซึ่งพึ่งพาตลาดสหรัฐฯ ถึง 80% ของการส่งออกทั้งหมด หรือราว 2.5 ล้านคันต่อปี ขณะที่ภาคพลังงานก็จะได้รับผลกระทบเช่นกัน เนื่องจากเม็กซิโกส่งออกน้ำมันดิบ 60% ไปยังโรงกลั่นในสหรัฐฯ และต้องพึ่งพาการนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปจากสหรัฐฯ ถึง 70% ของความต้องการในประเทศ
ส่วนแคนาดาก็เผชิญความเสี่ยงในระดับใกล้เคียงกัน เนื่องจากสหรัฐฯ รับซื้อสินค้าส่งออกของแคนาดามากกว่า 70% คิดเป็น 14% ของการนำเข้าทั้งหมดของสหรัฐฯ โดยเฉพาะในภาคพลังงานที่ส่งออกน้ำมันไปยังสหรัฐฯ ถึง 80%
ผลกระทบต่อจีน
นักวิเคราะห์หลายฝ่ายมองว่ามาตรการขึ้นภาษีจะส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อเศรษฐกิจจีนที่กำลังซบเซาอยู่ก่อนแล้ว ทั้งจากวิกฤตภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ยืดเยื้อและอัตราว่างงานของหนุ่มสาว โดยนักเศรษฐศาสตร์จากโกลด์แมน แซคส์ คาดการณ์ว่า จะส่งผลให้การเติบโตของ GDP ที่แท้จริงของจีนลดลง 0.50% ในปีนี้
เดวิด โรช นักยุทธศาสตร์จากควอนตัม สแตรทิจี ให้ความเห็นสอดคล้องกัน โดยประเมินว่าการขึ้นภาษี 10% อาจทำให้ GDP ของจีนลดลง 0.3-0.5% และหากปธน.ทรัมป์ ตัดสินใจเพิ่มภาษีเป็น 20% ผลกระทบอาจสูงถึง 1% ซึ่งจะยิ่งผลักดันให้จีนเข้าใกล้ภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจมากขึ้น
ทั้งนี้ มาตรการภาษีนำเข้า 10% ที่เรียกเก็บใหม่นี้ จะเป็นการเก็บเพิ่มจากอัตราภาษีเดิมที่สูงถึง 25% ซึ่งเป็นมาตรการที่ปธน.ทรัมป์ใช้กับสินค้าจีนเมื่อครั้งที่เขาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยแรก เช่น ชิ้นส่วนยานยนต์ เซิร์ฟเวอร์ เฟอร์นิเจอร์ และเซมิคอนดักเตอร์
EU เป้าหมายต่อไป?
ปธน.ทรัมป์ประกาศเจตนารมณ์ชัดเจนว่าจะเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากสหภาพยุโรป (EU) เป็นกลุ่มต่อไป โดยอ้างเหตุผลเรื่องการขาดดุลการค้าและปริมาณการนำเข้ารถยนต์และสินค้าเกษตรจากสหรัฐฯ ที่น้อยเกินไป แม้ยังไม่ได้เปิดเผยถึงอัตราภาษีและกำหนดเวลาที่ชัดเจน แต่ย้ำว่าจะดำเนินการเร็ว ๆ นี้
บรรดาผู้นำ EU ก็ไม่ได้นิ่งเฉยต่อการข่มขู่ดังกล่าว โดยที่ประชุมสุดยอดอย่างไม่เป็นทางการ ณ กรุงบรัสเซลส์เมื่อวันจันทร์ (3 ก.พ.) ได้ประกาศจุดยืนชัดเจนพร้อมตอบโต้ หากถูกเล่นงานด้วยมาตรการภาษีที่ไม่เป็นธรรม แต่ก็ยังเปิดช่องให้มีการเจรจาด้วยเช่นกัน เนื่องจากสหรัฐฯ เป็นพันธมิตรการค้าและการลงทุนที่ใหญ่ที่สุด
ในทางกลับกัน ปธน.ทรัมป์มีท่าทีต่ออังกฤษที่แตกต่างออกไป แม้ยอมรับว่ามีประเด็นทางการค้าที่ต้องแก้ไข แต่เชื่อมั่นว่าจะสามารถหาทางออกได้ โดยอ้างถึงความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างเขากับเคียร์ สตาร์เมอร์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษคนใหม่ และแย้มว่าอังกฤษซึ่งออกจาก EU ตั้งแต่ปี 2563 อาจได้รับการยกเว้นภาษีนำเข้า
ส่องท่าทีนักวิเคราะห์
นักวิเคราะห์จากหลายสำนักมีความเห็นตรงกันว่า การปรับขึ้นภาษีนำเข้าครั้งใหม่ของสหรัฐฯ มีเป้าหมายที่ซับซ้อนกว่าการสร้างความเป็นธรรมทางการค้าเพียงอย่างเดียวเหมือนในอดีต โดยถูกใช้เป็นเครื่องมือต่อรองเพื่อผลักดันให้ประเทศคู่ค้ายอมรับเงื่อนไขที่เอื้อประโยชน์ต่อสหรัฐฯ
แมทธิว มาร์ติน นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสจากออกซฟอร์ด อีโคโนมิกส์มองว่า การใช้มาตรการภาษีนำเข้ารอบนี้เป็นกลยุทธ์การเจรจาต่อรองมากกว่าการบังคับใช้จริง โดยเฉพาะในประเด็นการย้ายถิ่นฐานและการลักลอบค้ายาเสพติด โดยเชื่อว่าผลกระทบทางเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้นกับเม็กซิโกและแคนาดาจากการเก็บภาษีนำเข้า 25% จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้สุดท้ายแล้วมาตรการนี้อาจไม่ถูกนำมาใช้จริง
เอียน ลี รองศาสตราจารย์จากวิทยาลัยธุรกิจสปรอตต์ มหาวิทยาลัยคาร์ลตันวิเคราะห์ว่า นี่เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามในการปฏิรูประบบเศรษฐกิจระหว่างประเทศทั้งระบบ ด้วยการใช้มาตรการภาษีศุลกากรและการเข้าถึงตลาดเป็นเครื่องมือกดดันให้ประเทศต่าง ๆ เปิดภาคเศรษฐกิจที่มีการปกป้องให้บริษัทสหรัฐฯ สามารถเข้าไปลงทุนและดำเนินธุรกิจได้
หวู่ เซ่อจื้อ ผู้เชี่ยวชาญด้านการเมืองจีนจากวิทยาลัยเทคโนโลยีทางทะเลแห่งกรุงไทเปแสดงความเห็นที่สอดคล้องกันโดยมองว่า รัฐบาลสหรัฐฯ กำลังใช้การขึ้นภาษี 10% เป็นเครื่องมือกดดันจีนให้เข้าสู่การเจรจาในประเด็นสำคัญ โดยเฉพาะวิกฤตเฟนทานิล พร้อมทั้งส่งสัญญาณว่าอาจเพิ่มภาษีสูงถึง 60% หากจีนปฏิเสธการเจรจา
แม้สถานการณ์ตึงเครียดจะผ่อนคลายลงบ้าง หลังสหรัฐฯ เลื่อนเวลาเก็บภาษีจากแคนาดาและเม็กซิโก แต่ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ และจีนนั้นยังคงต้องจับตามองอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะการเจรจาระหว่างผู้นำทั้งสองประเทศที่จะเกิดขึ้นในเร็ว ๆ นี้ ซึ่งจะเป็นตัวชี้วัดสำคัญว่า สงครามการค้าครั้งใหม่จะยุติลงหรือจะลุกลามบานปลายไปสู่การตอบโต้ที่รุนแรงมากขึ้น
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (05 ก.พ. 68)
Tags: EU, In Focus, SCOOP, จีน, ประธานาธิบดีสหรัฐ, ภาษีนำเข้าสินค้า, สงครามการค้า, สหภาพยุโรป, เงินเฟ้อ, เม็กซิโก, แคนาดา, โดนัลด์ ทรัมป์