รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจาก 5 ชาติอาหรับ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ระดับสูงของปาเลสไตน์ ได้ร่วมลงนามในจดหมายที่ยื่นถึงมาร์โก รูบิโอ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ เพื่อคัดค้านแผนการย้ายชาวปาเลสไตน์ออกจากฉนวนกาซา ตามข้อเสนอของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ เมื่อปลายเดือนม.ค.ที่ผ่านมา
สำนักข่าว Axios รายงานว่า จดหมายดังกล่าวซึ่งยื่นเมื่อวันจันทร์ (3 ก.พ.) ลงนามโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของจอร์แดน อียิปต์ ซาอุดีอาระเบีย กาตาร์ และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ รวมถึงฮุสเซน อัลชีค ที่ปรึกษาประธานาธิบดีปาเลสไตน์ หลังจากที่คณะนักการทูตระดับสูงได้พบปะหารือกันที่กรุงไคโรในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ปธน.ทรัมป์เริ่มเสนอแนวคิดให้จอร์แดนและอียิปต์รับชาวปาเลสไตน์จากฉนวนกาซาเข้าประเทศเมื่อวันที่ 25 ม.ค. และเมื่อถูกถามว่ามาตรการนี้เป็นทางออกระยะสั้นหรือระยะยาว ทรัมป์ตอบว่า “เป็นแบบไหนก็ได้”
ข้อเสนอของปธน.ทรัมป์ยิ่งตอกย้ำความหวาดกลัวที่ชาวปาเลสไตน์มีมาตลอดว่าจะถูกขับไล่ออกจากบ้านเกิดอย่างถาวร หลายฝ่ายวิจารณ์ว่านี่คือข้อเสนอที่นำไปสู่การกวาดล้างชาติพันธุ์ ทางด้านจอร์แดน อียิปต์ และชาติอาหรับอื่น ๆ ต่างออกมาแสดงจุดยืนคัดค้านข้อเสนอดังกล่าว
“การฟื้นฟูกาซาต้องให้ชาวกาซามีส่วนร่วมโดยตรง ชาวปาเลสไตน์จะอยู่ในแผ่นดินของตัวเองและร่วมกันสร้างบ้านเกิดขึ้นมาใหม่” จดหมายระบุ
“และในระหว่างการฟื้นฟู พวกเขาต้องไม่ถูกลิดรอนอำนาจในการตัดสินใจ พวกเขาต้องเป็นผู้กุมบังเหียนกระบวนการนี้ โดยมีประชาคมโลกคอยสนับสนุน”
ทั้งนี้ ปฏิบัติการทางทหารของอิสราเอลในกาซาคร่าชีวิตชาวปาเลสไตน์ไปแล้วกว่า 47,000 คน ตามตัวเลขของกระทรวงสาธารณสุขกาซา ซึ่งนำไปสู่ข้อกล่าวหาว่าเป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์และอาชญากรรมสงคราม แม้อิสราเอลจะปฏิเสธข้อกล่าวหานี้ก็ตาม ปัจจุบันการสู้รบได้ยุติลงชั่วคราวภายใต้ข้อตกลงหยุดยิง
การนองเลือดครั้งล่าสุดภายใต้ความขัดแย้งอิสราเอล-ปาเลสไตน์ที่ยืดเยื้อมาหลายทศวรรษนั้น เริ่มต้นเมื่อวันที่ 7 ต.ค. 2566 เมื่อกลุ่มติดอาวุธฮามาสของปาเลสไตน์บุกโจมตีอิสราเอล ทำให้มีผู้เสียชีวิต 1,200 ราย และถูกจับเป็นตัวประกันราว 250 ราย ตามตัวเลขที่อิสราเอลเปิดเผย
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (04 ก.พ. 68)
Tags: ฉนวนกาซา, ชาวปาเลสไตน์, สหรัฐ, อาหรับ