วุฒิสภาสหรัฐฯ มีมติรับรอง คริส ไรท์ ผู้บริหารบริษัทขุดเจาะน้ำมันด้วยวิธีแฟรคกิ้ง (Fracking) ให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานในรัฐบาลของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เมื่อวันจันทร์ (3 ก.พ.)
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ผลการลงคะแนนอยู่ที่ 59 ต่อ 38 เสียง โดยมีสมาชิกพรรคเดโมแครต 7 คน และสมาชิกอิสระ 1 คนที่เอนเอียงไปทางเดโมแครต เทคะแนนเสียงสนับสนุน
ไรท์ วัย 60 ปี ซึ่งดำรงตำแหน่งประธานบริหารของบริษัท ลิเบอร์ตี เอเนอร์จี (Liberty Energy) มาตั้งแต่ปี 2554 ได้แจ้งว่าจะลาออกจากบริษัททันทีที่ได้รับการรับรอง
ในรายงานของลิเบอร์ตีเมื่อปีที่แล้ว ไรท์ระบุว่า เขาเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มนุษย์เป็นผู้ก่อนั้นเป็นเรื่องจริง แต่ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นยังเป็นเรื่อง “ไกลตัวและคาดเดาได้ยาก” นอกจากนี้ ไรท์ยังกล่าวว่า นโยบายควบคุมจากส่วนกลางของรัฐบาลที่จะแก้ปัญหานี้ไม่มีทางประสบความสำเร็จ
ในฐานะรัฐมนตรี ไรท์จะกุมบังเหียนกระทรวงพลังงานที่มีงบประมาณราว 5 หมื่นล้านดอลลาร์ โดยครึ่งหนึ่งใช้ไปกับการดูแลรักษาคลังอาวุธนิวเคลียร์ของประเทศ นอกจากนี้ ไรท์ยังต้องกำกับดูแลห้องปฏิบัติการแห่งชาติทั้ง 17 แห่งของกระทรวงฯ ซึ่งทำงานวิจัยหลากหลาย ตั้งแต่พลังงานนิวเคลียร์ฟิวชันไปจนถึงระบบซูเปอร์คอมพิวเตอร์
ระหว่างการรับฟังความเห็นเพื่อรับรองตำแหน่ง ไรท์กล่าวว่า ภารกิจที่ต้องทำเป็นอย่างแรกของเขาคือการเพิ่มการผลิตพลังงานภายในประเทศ โดยเฉพาะก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) รวมถึงพลังงานนิวเคลียร์
อนึ่ง สหรัฐฯ ก้าวขึ้นเป็นผู้ส่งออกก๊าซ LNG รายใหญ่ที่สุดของโลกในปี 2566 และคาดว่าปริมาณการส่งออกจะเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าก่อนถึงปี 2573
มีการคาดการณ์ว่าไรท์ และลี เซลดิน หัวหน้าสำนักงานปกป้องสิ่งแวดล้อมสหรัฐฯ (EPA) จะทยอยยกเลิกนโยบายด้านสภาพภูมิอากาศที่อดีตประธานาธิบดีโจ ไบเดน ได้วางไว้ พร้อมผลักดันการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านเชื้อเพลิงฟอสซิลเพิ่มขึ้น ทั้งท่อส่งก๊าซและโรงไฟฟ้า
ในการพิจารณาคุณสมบัติ ไรท์กล่าวว่า ไฟป่าที่คร่าชีวิตผู้คนและทำลายล้างลอสแอนเจลิสนั้นเป็นเรื่อง “น่าสลดใจ” แต่เขายังคงยืนยันความเห็นที่เคยโพสต์ในโซเชียลมีเดียเมื่อปี 2566 ว่า “กระแสเรื่องไฟป่าก็แค่การปั่นกระแสเพื่อเอามาอ้างความชอบธรรม” เพื่อผลักดันนโยบายแก้ปัญหาโลกร้อน
มีการคาดการณ์ว่า ไรท์จะมีบทบาทสำคัญในคณะกรรมการพลังงานแห่งชาติชุดใหม่ ซึ่งจะนำโดย ดัก เบอร์กัม อดีตผู้ว่าการรัฐนอร์ทดาโคตา ที่มีแนวโน้มจะได้รับการโหวตจากวุฒิสภาให้เป็นรัฐมนตรีมหาดไทย โดยคณะกรรมการชุดนี้จะเน้นกำหนดนโยบายเพิ่มกำลังผลิตน้ำมันและก๊าซให้ได้มากที่สุด แม้ว่าสหรัฐฯ จะเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ที่สุดของโลกอยู่แล้วก็ตาม และยังไม่ชัดเจนว่าบริษัทพลังงานต้องการขุดเจาะในพื้นที่ของรัฐบาลกลางมากน้อยเพียงใด
นอกจากนี้ ไรท์จะได้รับมอบหมายให้ดูแลคลังสำรองน้ำมันเชิงยุทธศาสตร์ (SPR) ซึ่งเป็นแหล่งเก็บน้ำมันดิบที่ใหญ่ที่สุดในโลก
ทั้งนี้ ปธน.ไบเดนเคยระบายน้ำมันออกจาก SPR มากกว่า 180 ล้านบาร์เรล ซึ่งเป็นสถิติสูงสุด ในปี 2565 เพื่อพยุงราคาน้ำมันที่พุ่งสูงหลังรัสเซียบุกยูเครน ด้านทรัมป์ได้ประกาศว่าจะเติม SPR ให้เต็ม แต่จำเป็นต้องได้รับการจัดสรรงบประมาณจากรัฐสภาก่อน อนึ่ง หากเร่งเติมน้ำมันเข้าคลังอย่างรวดเร็ว อาจส่งผลให้ราคาน้ำมันในตลาดปรับตัวสูงขึ้น
เช่นเดียวกับเจนนิเฟอร์ แกรนโฮล์ม อดีตรมว.พลังงาน ไรท์เชื่อว่าพลังงานความร้อนใต้พิภพมีศักยภาพสูงในการจัดหาพลังงานสะอาดปราศจากมลพิษให้แก่สหรัฐฯ ด้วยการนำความร้อนใต้ดินมาใช้ประโยชน์
อย่างไรก็ตาม โครงการพลังงานความร้อนใต้พิภพจำเป็นต้องมีระบบสายส่งไฟฟ้าที่ครอบคลุมมากกว่านี้ ที่ผ่านมา รัฐสภาไม่สามารถผ่านกฎหมายอนุมัติงบประมาณสำหรับการก่อสร้างสายส่งไฟฟ้าใหม่ ซึ่งจำเป็นต่อโครงการพลังงานความร้อนใต้พิภพและพลังงานหมุนเวียนอื่น ๆ
เช่นเดียวกับแกรนโฮล์ม ไรท์สนับสนุนการขยายการใช้พลังงานนิวเคลียร์ โดยไรท์เคยเป็นกรรมการบริษัทสตาร์ตอัปโอโคล (Oklo) ที่พัฒนาเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์แบบโมดูลาร์ขนาดเล็ก แต่ยังไม่ได้สร้างโรงงานเชิงพาณิชย์
นอกจากนี้ ไรท์มีแนวโน้มจะได้รับมอบหมายให้ช่วยสหรัฐฯ พัฒนาห่วงโซ่อุปทานเชื้อเพลิงยูเรเนียม หลังจากที่อดีตปธน.ไบเดนลงนามสั่งห้ามนำเข้ายูเรเนียมเสริมสมรรถนะจากรัสเซีย
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (04 ก.พ. 68)
Tags: กระทรวงพลังงาน, คริส ไรท์, โดนัลด์ ทรัมป์