นายเกียรติ สิทธิอมร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 โดยได้ขอสงวนความเห็นปรับลดงบประมาณรายจ่ายลง 5% และมีความกังวลว่ารัฐบาลจะไม่สามารถจัดเก็บรายได้ได้ตามเป้าที่วางไว้ เพราะอยู่บนการประมาณการเศรษฐกิจที่ 2.5-3.5% แต่ข้อมูลจากทุกองค์กรประเมินตรงกันว่าไม่มีทางที่เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ถึง 3.5% โดยในกรณีดีที่สุดจะขยายตัวได้ 1-1.3% ส่วนกรณีเลวร้ายที่สุด เศรษฐกิจไทยจะหดตัว -1.5%
ทั้งนี้ ยังมีความกังวลว่าหนี้สาธารณะจะอยู่ในกรอบที่วางไว้หรือไม่ หรือเงินกู้จะมีความสามารถในการชำระคืนหรือไม่ และเชื่อว่า สถานการณ์ในปัจจุบัน ส่งผลให้รายได้การจัดเก็บภาษีลดลงแน่นอน ซึ่งปีงบประมาณปี 64 ไม่สามารถจัดเก็บรายได้ตามเป้า โดยหายไป 3.5 แสนล้านบาท ส่งผลต่อหนี้สาธารณะ และมีผลต่อการกู้ยืมของรัฐบาล
นายเกียรติ กล่าวว่า จากรายงานของกรรมาธิการวิสามัญงบประมาณฯ มีการประเมินว่า รายได้ต่ำกว่าประมาณการ จึงต้องกู้หรือหาเงินเพิ่มรวม 9.8 แสนล้านบาท และหากนำไปรวมกับพ.ร.ก.เงินกู้ 5 แสนล้านบาท จะเท่ากับ 1.48 ล้านล้านบาท และภายใต้สมมติฐานเศรษฐกิจไทยขยายตัวในระดับ 0-2% ก็ยังส่งผลให้หนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นเกิน 60% ซึ่งเพดานหนี้สาธารณะตามกฏหมายอยู่ที่ 60% ดังนั้นจึงตั้งข้อสังเกตว่า จะมีการแก้กฏหมายหรือไม่ หรือรัฐบาลมีแหล่งรายได้อื่น ๆ ที่บ่งบอกได้ว่าจะไม่มีผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือต่อประเทศไทยทั้งระบบ
นายเกียรติ ยังได้นำข้อมูลรายงานของกรรมาธิการวิสามัญงบประมาณฯ ที่ได้ระบุว่า มีภาระหนี้นอกเหนือจากหนี้สาธารณะ (ไม่ถูกนับรวมในหนี้สาธารณะ) ยอดรวม 973,962.34 หรือ 29.64% ของงบประมาณฯ ซึ่งในพ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง กำหนดไว้ไม่เกิน 30% ซึ่งคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีอำนาจอนุมัติโดยไม่ต้องผ่านสภาฯ เช่น โครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำของธนาคารออมสิน, การรับจำนำผลิตผลทางการเกษตร ของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) หรือการประกันรายได้ของธกส. จึงตั้งคำถามไปยัง กมธ.วิสามัญงบประมาณฯ ว่ารัฐบาลจะจัดการภาระหนี้ที่นอกเหนือหนี้สาธารณะนี้อย่างไร
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (18 ส.ค. 64)
Tags: งบประมาณรายจ่าย, พรรคประชาธิปัตย์, หนี้สาธารณะ, เกียรติ สิทธิอมร