SCB CIO แนะลงทุนหุ้นสหรัฐฯ-ยุโรปจากผลประกอบการฟื้น ท่ามกลางโควิดเดลตาฉุดศก.

นายกำพล อดิเรกสมบัติ รองกรรมการผู้จัดการ CIO Office Chief Investment Office บล.ไทยพาณิชย์ (SCB CIO) กล่าวว่า โควิด-19 สายพันธุ์เดลตาจะเป็นปัจจัยซ้ำเติมทำให้การเปิดเมืองและการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจมีลักษณะที่ไม่ทั่วถึงในแต่ละประเทศและภาคธุรกิจ

โดยในรายละเอียดโควิด-19 สายพันธุ์เดลตาที่สามารถติดได้ง่ายและทำให้วัคซีนมีประสิทธิภาพลดลงเมื่อเทียบกับสายพันธุ์อื่นๆ ทำให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อเริ่มกลับมาสูงขึ้นในหลายประเทศ การเปิดเมืองและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโดยเฉพาะในภาคบริการมีแนวโน้มชะลอลง ประเทศที่มีความคืบหน้าในการฉีดวัคซีนค่อนข้างมากเช่น สหรัฐฯ และยุโรป น่าจะสามารถหลีกเลี่ยงการกลับไปปิดเมืองแบบเข้มข้นได้ ในขณะที่กลุ่มประเทศที่มีความคืบหน้าไม่มาก เช่น กลุ่มประเทศเกิดใหม่ มีความเสี่ยงเรื่องการปิดเมืองเข้มข้นสูงกว่าอย่างมีนัย

โดยตัวเลขเศรษฐกิจล่าสุดของสหรัฐฯ เช่น GDP และเงินเฟ้อในไตรมาส 2/64 แม้ฟื้นตัวต่อเนื่องแต่เริ่มมีสัญญาณต่ำกว่าที่ตลาดคาดการณ์ แต่ตัวเลขเศรษฐกิจจากฝั่งยุโรปยังฟื้นตัวดีและออกมาดีกว่าตลาดคาดการณ์ สำหรับความพยายามล่าสุดของทางการจีนในการจัดการ internet platform/digitized economy ทำให้ความเสี่ยงด้านกฎเกณฑ์ภาครัฐ (regulatory risks) และความผันผวนในตลาดหุ้นจีนสูงขึ้นอย่างมีนัย และมีแนวโน้มจะดำเนินต่อไปจนกว่าจะมีความชัดเจนจากทางการมากกว่านี้

สำหรับแนวโน้มตลาดการเงินโลกประเมินว่า การกลายพันธุ์ของโควิด-19 นำมาซึ่งความผันผวนสูงในตลาด แต่ผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นสหรัฐฯ และยุโรปยังคงแข็งแกร่ง ส่วนอัตราผลตอบแทนแท้จริงของ US treasury ยังอยู่ในระดับต่ำแม้เริ่มมีความกังวลเกี่ยวกับการส่งสัญญาณ QE tapering จากธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) โดยความผันผวนสูงในตลาดมีแนวโน้มดำเนินต่อไปจากความกังวลผลกระทบโควิด-19 สายพันธุ์เดลตา และประสิทธิภาพวัคซีนบางประเภทที่ลดลง

อย่างไรก็ตาม ผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนในสหรัฐฯ และยุโรปยังคงเติบโตต่อเนื่องและดีกว่าคาด และในระยะข้างหน้าแม้จะได้รับผลกระทบของการกลับมาระบาดของสายพันธุ์เดลต้าบ้างแต่ผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในสหรัฐฯ และยุโรปน่าจะได้รับผลกระทบน้อยกว่าบริษัทในประเทศเกิดใหม่ที่มีการปิดเมืองเข้มข้นกว่า

ความกังวลเรื่องการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรสหรัฐฯยังอยู่ในระดับต่ำ และเมื่อเทียบกับการคาดการณ์เงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับสูงกว่า ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนแท้จริงของพันธบัตรสหรัฐฯยังอยู่ในระดับติดลบ ซึ่งยังมองว่าอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรสหรัฐฯ ในระยะข้างหน้ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป เนื่องจากธนาคารกลางสหรัฐฯจะเริ่มมีการส่งสัญญาณการลดวงเงินการซื้อสิทรัพย์ (QE tapering) ระหว่างการสัมมนา Jackson Hole (26-28 ส.ค. 64) หรือ การประชุมของธนาคารกลางสหรัฐฯในครั้งถัดไป (21-22 ก.ย. 64) และทำการลดการเข้าซื้อจริงในช่วงต้นปี 65 ซึ่งจะเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่จะทำให้ตลาดการเงินโลกมีความผันผวนสูงขึ้น แต่ตลาดหุ้นสหรัฐฯยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นได้ทั้งในช่วงก่อนและหลังประกาศปรับลด QE ในขณะที่ตลาดกลุ่มประเทศเกิดใหม่ได้รับผลกระทบจากการไหลออกของเงินทุน และการอ่อนค่าของค่าเงิน โดยเฉพาะประเทศที่ขาดดุลบัญชีเดินสะพัดและมีหนี้ต่างประเทศสูง

สำหรับกลยุทธ์ในการจัดพอร์ตการลงทุนสินทรัพย์ทั่วโลก (Asset Allocation Portfolio Strategy) SCB CIO ยังคงมีมุมมองบวกต่อหุ้นสหรัฐฯ และยุโรป โดยปรับมุมมองตลาดหุ้นจีนและไทยลงเป็น Neutral พร้อมทั้ง ปรับมุมมองต่อทองคำเป็น Neutral เช่นกัน โดยมองว่า ในภาวะตลาดผันผวนจะมีโอกาสดีในการเข้ามาสะสมหุ้นสหรัฐฯและยุโรปที่ยังมีผลประกอบการเติบโตต่อเนื่องและน่าจะได้รับผลกระทบจากการปิดเมืองค่อนข้างจำกัด ซึ่งยังคงมุมมองตลาดหุ้นญี่ปุ่นที่ Neutral จากการฟื้นตัวที่ช้ากว่าตลาดในประเทศกลุ่มพัฒนาแล้วอื่นๆ

ขณะที่ปรับมุมมองหุ้นจีนลงเป็น Neutral จากความเสี่ยงด้านกฎเกณฑ์ภาครัฐ (Regulatory risk) ที่มีแนวโน้มอยู่ในระดับสูง โดยเน้นตลาด A-share ซึ่งน่าจะมีความเสี่ยงด้านนี้น้อยกว่า เนื่องจาก มีหุ้นในกลุ่ม internet platform/digitized economy น้อยกว่าในตลาดหุ้น H-share

ส่วนในตลาดหุ้น ASEAN เรายังคงชอบเวียดนามที่สุดจากมูลค่าที่ยังคงถูกที่สุด ผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนที่ยังแข็งแกร่ง และความคืบหน้าในการนำเข้าวัคซีนที่ค่อนข้างดี และได้ปรับมุมมองต่อตลาดหุ้นไทยลงเป็น Neutral จากความยืดเยื้อของการระบาดโควิด-19 และการใช้มาตรการปิดเมือง รวมถึงสภาวะ technical recession ในอุปสงค์ภายในประเทศของภาคเอกชน (private domestic demand) ที่จะทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจและผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนในระยะข้างหน้ามีความเสี่ยงด้านต่ำมากขึ้น

ด้วยอัตราผลตอบแทนแท้จริงของพันธบัตรสหรัฐฯที่ยังอยู่ในระดับต่ำ ในขณะที่ความผันผวนในตลาดหุ้นสูงขึ้น รวมถึงราคาทองคำที่ปรับลดลงล่าสุด ทำให้ปรับมุมมองต่อทองคำเป็น Neutral และปรับน้ำมันลงเป็น Slightly Negative จากปัจจัยอุปสงค์ที่น่าจะได้รับแรงกดดันจากการเปิดเมืองที่ช้ากว่าคาด รวมถึงความตึงตัวน้อยลงของปัจจัยอุปทานน้ำมัน และยังมีมุมมองต่อกองทรัสต์ในกลุ่มประเทศที่พัฒนาล้วและในกลุ่มประเทศในอาเซียน เป็น Neutral จากผลกระทบของโควิด-19 สายพันธุ์เดลตา และความเสี่ยงการเปิดเมืองที่ล่าช้ากว่าคาด

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (18 ส.ค. 64)

Tags: , , , ,