นายพชร อนันตศิลป์ ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) เผย บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือ Rating and Investment Information, Inc. (R&I) ประกาศคงอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทย (Sovereign Credit Rating) ที่ A- และคงมุมมองความน่าเชื่อถือของประเทศไทย (Outlook) ที่ระดับมีเสถียรภาพ (Stable Outlook)
โดย R&I คาดว่า เศรษฐกิจไทยอยู่ในช่วงฟื้นตัว และอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่แท้จริง (Real GDP Growth) จะเติบโตอยู่ที่ 2.6% ในปี 2567 และขยายตัวต่อเนื่องในปี 2568 อันเป็นผลจากการใช้จ่ายของภาครัฐที่สนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจ การขยายตัวของการบริโภคภาคเอกชน และการเพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยวต่างชาติอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งภาคการส่งออกสินค้าที่มีแนวโน้มขยายตัวตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก
แม้การขาดดุลทางการคลัง จะยังคงอยู่ในระดับค่อนข้างสูงที่ 4.3% ในปี 2567 และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 4.5% ในปี 2568 แต่จะเริ่มทยอยลดลงตั้งแต่ปี 2569 จนอยู่ที่ 3% ในปี 2572 ซึ่งเป็นผลส่วนหนึ่งจากการดำเนินนโยบายการคลังแบบขยายตัวเพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจ ส่งผลให้ระดับหนี้สาธารณะต่อ GDP (Public Debt to GDP) อยู่ที่ 63% ในปี 2567 โดย R&I เชื่อว่ารัฐบาลจะสามารถบริหารจัดการหนี้สาธารณะเพื่อรักษาระดับหนี้สาธารณะไม่ให้เกินกรอบกฎหมายที่กำหนด อีกทั้งหนี้สาธารณะส่วนใหญ่ เป็นการออกพันธบัตรรัฐบาลในประเทศ ซึ่งตลาดการเงินยังคงมีสภาพคล่องสูงเพียงพอที่จะสามารถรองรับการขาดดุลงบประมาณที่เพิ่มสูงขึ้น จึงไม่มีความเสี่ยงในการจัดหาแหล่งเงินทุนของภาครัฐ
R&I มองว่ารัฐบาลไทยจำเป็นต้องมีการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ด้วยการสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมใหม่ พร้อมกับการยกระดับมูลค่าเพิ่มของอุตสาหกรรม เพื่อที่จะดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ (Foreign Investments) ผ่านการลงทุนในโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC) รวมถึงมาตรการสนับสนุนการลงทุนที่หลากหลาย เพื่อสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจที่มีเสถียรภาพ โดยคาดว่าการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมการผลิตในด้านอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และยานยนต์ ซึ่งเป็นปัจจัยพื้นฐานของเศรษฐกิจไทยที่สำคัญ จะช่วยสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจได้ต่อไป
ขณะที่ภาคการเงินต่างประเทศ (External Finance) มีความแข็งแกร่ง และทุนสำรองระหว่างประเทศยังคงอยู่ในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง จากการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดที่ 2.5% ต่อ GDP ในปี 2567 และคาดว่าในปี 2568 ดุลบัญชีเดินสะพัดจะยังคงเกินดุลอยู่ในระดับเดียวกันที่ 2.5% จากการมีเสถียรภาพของราคาพลังงาน และการเติบโตของรายได้จากภาคการท่องเที่ยว และการส่งออกสินค้า (Goods Exports) เป็นสำคัญ
ปัจจัยสำคัญที่ R&I จะติดตามสำหรับพิจารณาการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ (Credit Rating) ของประเทศไทย คือ การเพิ่มขึ้นของประชากรผู้สูงวัย ที่อาจจะส่งผลต่อภาระค่าใช้จ่ายของเงินงบประมาณ และมาตรการสนับสนุนการลงทุนในภาคอุตสาหกรรมใหม่ และการยกระดับมูลค่าเพิ่มของอุตสาหกรรม เพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจ รวมถึงการรักษาเสถียรภาพทางการคลังของประเทศ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (22 ม.ค. 68)
Tags: Sovereign Credit Rating, ประเทศไทย, พชร อนันตศิลป์, สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ, อันดับความน่าเชื่อถือ, เศรษฐกิจไทย